เป็น trader ยากมั๊ย

เป็น trader ยากมั๊ย

ที่จริงผมเคยเขียนเรื่องนี้เรียนท่านผู้อ่านมาครั้งหนึ่ง แต่นานมาแล้วนะครับ เพียงแต่ผมสังเกตว่า หลังๆ มีคำโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนเข้าไปทำการซื้อ

ที่จริงผมเคยเขียนเรื่องนี้เรียนท่านผู้อ่านมาครั้งหนึ่ง แต่นานมาแล้วนะครับ เพียงแต่ผมสังเกตว่า หลังๆ มีคำโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนเข้าไปทำการซื้อ/ขายกันในอินเตอร์เน็ตกันอย่างมากมายแพร่หลาย ฟังแล้วเคลิ้มๆ จะไปทำธุรกรรมกับเขา ผมเองก็อยากจะแชร์ความรู้และประสบการณ์ที่มีให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไป เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อเขาเหล่านั้นนะครับ เอาเป็นว่าเป็นข้อมูลอันหนึ่งประกอบการตัดสินใจก็แล้วกันนะครับ

ผมเลือกเอาตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นเรื่องที่จะแชร์นะครับ เพราะเป็นตลาดที่ผมอยู่กับมันทั้งโดยตรงและโดยอ้อมร่วม 30 ปี หย่อนนิดหน่อย แต่การเป็น trader นั้นจะเป็น trader อะไรก็ตาม พื้นฐานมันไม่แตกต่างกันหรอกครับ อาจจะยากง่ายต่างกันบ้างพอควร ทั้งนี้อยู่ที่ตลาดที่ trader นั้น ทำมาหากินอยู่นะครับ

เป็น trader นั้นง่ายนิดเดียว แต่ยากกว่าเยอะเลยนะครับ สมัยผมเข้าวงการใหม่ๆ trader ตามห้องค้าเงินต่างๆ จบการศึกษาสูงๆ กันทั้งนั้น บรรยากาศในห้องค้าฯ ก็ดูน่าตื่นตาตื่นใจมาก พรั่งพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อิเลกโทรนิคต่างๆ มีโทรศัพท์เข้ามาอยู่ตลอดเวลา บางทีก็มีอารมณ์ประมาณวุ่นวายดูสับสนพูดภาษาที่คนนอกอย่างผมฟังไม่รู้เรื่อง แต่สรุปได้ว่า งานนั้นน่าตื่นเต้นท้าทายเป็นอย่างมาก ผมมีโอกาสทำงานจริงๆ(ไม่ใช่เข้าไป”ดูงาน”) ในห้องค้าเงินฤดูร้อนปี 1988 ก็เริ่มรู้สึกถูกโฉลกเพราะว่าเราจะอยู่ในสถานที่ที่มีพลวัตร(dynamicity) สูงมาก ทุกคนทำงานแบบมุ่งมั่นมาก และฉับไวจนผมเองรู้สึกว่าผมดู “งุ่มง่าม” เหลือเกิน เมื่อเวลาผ่านไปก็เลยเรียนรู้ว่าตัวเองได้เข้ามาสู่ตลาดมีสภาพคล่อง(liquidity)สูงที่สุด มีผู้ซื้อผู้ขายมากราย , ราคาของ”เงิน” ที่ทำการซื้อ/ขาย มีราคาเดียวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ทำให้นึกไปถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาว่า ตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์(Perfect Competition) นั้นเป็นอย่างไร และมันมีอยู่จริงที่นี่แหละ การเคลื่อนไหวขึ้นลงของเงินเป็นไปตาม demand และ supply ของตลาดที่สะท้อนมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของ trader ทั่วโลก หากส่วนใหญ่คิดไปทางเดียวกันหรือเพียงแค่ “คาดว่า” trader คนอื่นๆ คิดอย่างไร ก็สามารถทำให้ราคาเคลื่อนไหวไปตามทิศทางนั้นได้ และผมก็ได้เรียนรู้คุณสมบัติข้อแรกของการเป็น trader ที่ดีต้อง “เร็ว” เร็วในที่นี้หมายรวมถึง คิดเร็ว , วิเคราะห์เร็ว และตัดสินใจเร็ว หากช้าในอย่างใดอย่างหนึ่งก็คงจะไม่สามารถเป็น trader ที่ดีได้ และจะตกเป็นเหยื่อทันที

ยังจำเหตุการณ์หนึ่งได้สมัยตอนที่ผมทำงานอยู่ที่ธนาคารอเมริกันแห่งหนึ่ง ตอนนั้นเป็นช่วงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในเอเชียเงียบ เนื่องจากเป็นช่วงอาหารกลางวันของโตเกียว(สะท้อนให้เห็นว่าตลาดโตเกียวในขณะนั้นสำคัญแค่ไหนนะครับ) ซึ่งตรงกับเวลาไทยระหว่าง 10.00-11.30 นาฬิกา ตลาดจะไม่เคลื่อนไหวเลย เพียงแต่ในวันนั้นมีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้นในอดีตสหภาพโซเวียตคืออดีตประธานาธิบดี กอร์บาชอฟโดนจับตัว ด้วยเหตุที่ตลาดยุโรปยังไม่เปิด และโตเกียวไปกินข้าวกลางวัน เพื่อนผมที่นั่งอยู่ใกล้ๆกันสังเกตว่าค่าของเงินดอลล่าร์เมื่อเทียบกับมาร์คเยอรมัน มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ แล้วร้องตะโกนบอกเพื่อนๆ ผมเองในตอนแรกยังบอกเพื่อนคนนั้นไปเลยว่าคงมีคน up ราคาผิด แต่สักระยะหนึ่ง เมื่อมันเกิดขึ้นอีก ผมก็เลยฉุกคิดได้ว่าคงจะมีอะไรเกิดขึ้น และหลังจากนั้นก็เป็นเหตุการณ์อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า All Hell Breaks Loose ค่าเงินมาร์คอ่อนตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงในระยะเวลาอันสั้น แน่นอนต้องมีผู้ที่ได้และผู้ที่เสียเป็นอันมาก

และเหตุการณ์ในวันนั้นก็จะแปรผันไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากนั้นประมาณช่วงบ่ายบ้านเรา เมื่อตลาดยุโรปเปิด จนกระทั่งค่ำเราก็เจอเหตุการณ์”ขากลับ” เมื่อฝ่ายปฎิวัติกลายเป็น “กบฎ” ค่าของเงินมาร์คก็กลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์นี้ก็เลยทำให้ผมรู้เพิ่มเติมว่านอกจากต้อง”เร็ว” ตามที่เรียนข้างต้นแล้ว trader ที่ดีก็ต้องช่างสังเกตและไม่มองข้ามประเด็นที่อาจจะดูเหมือนเล็กน้อยนะครับ

เหตุการณ์และห้วงเวลาที่ผมไม่อาจลืมได้อีกอย่างที่เกิดขึ้นคือช่วงเวลาก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง จนหลังจากประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หน้าที่หลักของผมคือ เป็น Corperate Dealer คือเป็นเจ้าหน้าที่ที่คุยกับลูกค้า แนะนำลูกค้า update สถานการณ์ตลาดให้ลูกค้าทราบ ประมาณสองปีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง การทำมาค้าขายรุ่งเรืองมากลูกค้ามีความจำเป็นต้องทำการซื้อ/ขายเงินตราต่างประเทศกันอย่างคึกคัก ตลาดหุ้นก็อยู่ในช่วงบูมสุดขีด การทำงานในห้องค้าเงินที่ active สุดๆ วันละ 11-12 ชั่วโมง เป็นเรื่องปกติมาก วันที่ทำงานในห้องค้าที่ยาวที่สุดของผมคือวันที่ดัชนีตลาดไทยสูงที่สุดที่ 1789.16 จุด เมื่อมกราคม 2537 วันนั้นผมมาทำงานประมาณ 7.30 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาปกติของผม ยังจำได้ว่าช่วงนั้นพวกเราต้องจัดเวรกันอยู่ตอนกลางคืนตั้งแต่หลังเลิกงานไปจนกว่าลูกค้ารายสุดท้ายจะ Confirm ยอดเงินที่จะซื้อหรือขาย ปรากฎว่า ผมกับเพื่อนอีกคนรอจนกระทั่งลูกค้ารายสุดท้ายทำดีล เราออกจากห้องค้าเงินประมาณตีสองของวันใหม่ รวมแล้ววันนั้นผมอยู่ในห้องค้าเงินประมาณ 19 ชั่วโมง หรือแม้แต่ในภายหลังในช่วงลอยตัวค่าเงินบาท การทำงานในลักษณะที่เป็น long hours และ stressful ก็เป็นเรื่องที่ทำกันแบบเป็นปกติ ก็เลยทำให้เราเรียนรู้เพิ่มเติมว่าการเป็น trader ที่ดีนั้นนอกเหนือจะต้องเร็ว ช่างสังเกต ละเอียดลออแล้วต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกายและใจด้วย การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่สำคัญพูดง่ายทำยากด้วยเหตุผลอมตะคือไม่มีเวลา แต่ก็ต้องหาเวลาให้ได้ไม่งั้นไม่ผ่านความฟิต และอาจไปจบที่โรงพยาบาล ถ้าหากโชคดี หรือไปจบที่วัดถ้าหากโชคไม่ดี

ตอนอยู่ที่ธนาคารอเมริกันแห่งหนึ่ง เขามีกฎสำหรับให้ trader ยึดถือปฎิบัติอยู่หลายข้อ มีอยู่ข้อหนึ่งซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ทุกสถาบันจะกำหนดไว้ และผมยังจำได้ดี เขาบอกว่า Do not take advantages over your counterparties when they are obviously wrong แปลเป็นไทยก็คือว่า อย่าเอาเปรียบคู่ค้าหากคู่ค้าดูเหมือนว่าจะทำผิดพลาด หมายความว่าหากเขา quote ราคาผิดก็อย่าไปซื้อ/ขายกับเขา และควรจะถามเขากลับไปว่าราคานี้แน่ใจแล้วหรือประมาณนั้น สำหรับผมมันเป็นกฎที่เป็นสุภาพบุรุษมาก คนอยู่ในตลาดเดียวกันอย่าเห็นแก่เงินที่ได้จากการทำผิดพลาดของคนร่วมตลาดเดียวกัน คนเราวันหนึ่งๆ quote ราคาเป็นร้อยเป็นพันดีลในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีต่อดีล ก็อาจจะเบลอไปบ้าง เราก็ต้องไม่เอาเปรียบเพื่อนของเรา และที่ผมบอกว่าไม่ใช่ทุกสถาบันจะกำหนดไว้เพราะผมเองก็เคย”เบลอ”และก็โดนสถาบันแห่งหนึ่ง(มีชื่อเสียงระดับโลกด้วย)”hit” ผม สุดท้ายผมก็ต้องผมกลืนเลือดนั้นเอาไว้เอง

การที่เราต้องการคนที่มีลักษณะคิดเร็ว , วิเคราะห์เร็ว , ตัดสินใจเร็ว และเป็นคนช่างสังเกต ละเอียดรอบคอบ และต้องมีสุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรง หนำซ้ำต้องเป็นคนดีเป็นสุภาพบุรุษนั้น คงหาได้ไม่ง่าย ใน 10 คน ที่เป็น trader จะมี trader ที่ดีสักหนึ่งหรือสองคนก็โชคดีแล้ว นี่ยังไม่ได้พูดถึงเวลา”รบกัน”จริง ซึ่งต้องมีบาดเจ็บล้ม

ตาย ว่าจะมีความทรหดอดทนได้มากน้อยแค่ไหน จะเป็น trader ที่เก่งไม่ได้หากไม่เคยมี “bad position” ขาดทุนต้องนั่งเฝ้า ข้าวปลาไม่กิน(เพราะกินไม่ลง) และจะต้องผ่านความรู้สึกที่ต้อง cut loss นั้นมันเป็นอย่างไร ดังนั้นเวลาท่านอ่านข่าวและทิศทางของค่าเงินนั้นน่ะ รู้หรือไม่ว่าคนให้ข่าวหรือข้อมูลเคย trade มาบ้างหรือยัง แล้วก็จะรู้ว่าสมควรจะเชื่อหรือไม่เชื่อ สวัสดี