ผ่าแผนพัฒน์ฯ ฉบับ 13 ของจีนในภาวะ New Normal

ผ่าแผนพัฒน์ฯ ฉบับ 13 ของจีนในภาวะ New Normal

ล่าสุด ทางการจีนได้ประกาศ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (ค.ศ.2016-2020)

หรือที่คนจีนเรียกโดยย่อว่า “สือซานอู่” เพื่อกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและสังคมจีนในอนาคต แผนพัฒน์ฯของจีนฉบับนี้ มีความยาว 148 หน้า มีเนื้อหามากถึง 65,000 ตัวอักษรจีน

วันนี้ เราจะมาไล่เรียงดูว่า ในภาวะ New Normal หรือ ซินฉางท่าย (Xin Chang Tai) ในภาษาจีนกลาง ซึ่งผู้นำจีนได้นำคำนี้มาอธิบายภาวะเศรษฐกิจจีนที่โตต่ำลงมาเป็นปีแล้ว พร้อมยอมรับว่า ต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อ “ยกเครื่อง” เศรษฐกิจจีนครั้งใหญ่ แล้วพิมพ์เขียวการพัฒนาประเทศของมังกรจีน นับจากนี้จะมีหน้าตาอย่างไร

แผนพัฒน์ฯ ของจีนฉบับนี้ ไม่ได้เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมๆ แต่หันมามุ่งเน้นส่งเสริมให้ชาวจีนมีรายได้เฉลี่ย (GDP per capita) สูงขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้คนจีนมีรายได้สุทธิหลังหักภาษีเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน้อยร้อยละ 6.5 ในช่วง 5 ปีจากนี้ และจะเดินหน้าสร้างความเป็นเมือง (Urbanization) เพื่อเพิ่มจำนวนผู้อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ให้มีสัดส่วนร้อยละ 60 ของประชากรทั้งประเทศ และเพิ่มจำนวนประชากรที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองใหญ่ ให้มีสัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 45 ของประชากรทั้งประเทศภายในปี 2020

หากทั้งหมดนี้สำเร็จได้จริง จะทำให้ “ชนชั้นกลาง” ในจีนเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้สูงขึ้น กลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นพลังขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีน

ด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างของ “โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจจีน” แบบเดิมที่ใช้มานานมากกว่า 3 ทศวรรษ ทำให้เศรษฐกิจจีนพึ่งพาภาคการค้าระหว่างประเทศมากเกินไป และมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ในแผนพัฒน์ฯ ฉบับ 13 จึงต้องเบนเข็มหันมาเน้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อดึงพลังของผู้บริโภคจีนมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน พร้อมปลุกปั้นเศรษฐกิจภาคบริการของจีน ให้มีบทบาทมากขึ้นอย่างแท้จริง จึงตั้งเป้าหมายขยายภาคบริการของจีนให้มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 56 ของ GDP ภายใน 5 ปีจากนี้

เพื่อการเติบโตในเชิงคุณภาพไม่ใช่เชิงปริมาณ ในภาวะ New Normal แผนพัฒน์ฯ ฉบับ 13 จึงวางเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.5 ต่อปี (นับว่าปรับลดลงจากแผนพัฒน์ฯ ฉบับ 12 ก่อนหน้า ที่เคยมีเป้าหมายร้อยละ 7) พร้อมประกาศนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจด้านอุปทาน (supply-side structural reform) โดยจะให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและส่งเสริมให้ ธุรกิจ SMEs และผู้ประกอบการเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผลักดันการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า แทนที่การผลิตเชิงปริมาณดังเช่นที่ผ่านมา

ที่สำคัญ จีนกำลังเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้างในด้านประชากร ล่าสุดเพิ่งจะยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวที่ใช้มานานกว่า 3 ทศวรรษ เนื่องจากจีนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และประชากรวัยทำงานของจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปัญหาค่าแรงที่พุ่งสูงขึ้น และอาจจะมีปัญหาด้านกำลังแรงงานในอนาคต แล้วจีนจะยังคงรูปแบบการผลิตในลักษณะเดิมๆ ได้อย่างไร

ดังนั้น รัฐบาลจีนจึงต้องประกาศแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม Made in China 2025 มุ่งผลิตภาคอุตสาหกรรมยุค Industry 4.0 โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิตและส่งเสริมโรงงานที่เป็น Smart Factory เพื่อลดเลิกการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (labor-intensive industry) โดยหวังเพียงค่าจ้างราคาถูก หรือสินค้าต้นทุนต่ำไร้คุณภาพในแบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว จึงต้องผลักดันภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ถือเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในยุทธศาสตร์ Made in China 2025

ด้วยทิศทางใหม่ที่มุ่งเน้นคุณภาพและประสิทธิภาพในการผลิต รัฐบาลจีนยังได้ประกาศชัดว่า จะไม่อุ้มรัฐวิสาหกิจที่ล้าหลังและมีขนาดเทอะทะ โดยจะเตรียมปลดพนักงานรัฐวิสาหกิจ 5-6 ล้านคน ในอีก 2-3 ปีจากนี้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่จีนมีผลิตล้นเกิน เช่น ถ่านหินและเหล็ก จึงถือเป็นมาตรการลดคนงานที่เด็ดขาดและหนักหน่วงที่สุดใน 20 ปี พร้อมกันนี้ รัฐบาลจีนจะสร้างงานใหม่ 50 ล้านตำแหน่ง และรักษาอัตราคนว่างงานในเมืองให้อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5

ที่น่าสนใจเช่นกัน คือ การสนับสนุนการพัฒนาภาคบริการ โดยเฉพาะการค้าออนไลน์ผ่าน E commerce เพื่อดึงพลังของกลุ่มพลเมืองเน็ตจีนที่มีมากกว่า 620 ล้านคน และในจำนวนนี้มีกลุ่มผู้ซื้อออนไลน์ที่มีมากทะลุหลัก 360 ล้านคน ทำให้มูลค่าการค้าปลีกบนอินเทอร์เน็ตในจีนได้ก้าวกระโดดเป็นอันดับ 1 ของโลก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าปลีกบนเว็บไซต์ได้เติบโตตามไปด้วย การเติบโตของการค้าออนไลน์ในจีน จึงเป็นอีกเครื่องมือทรงพลัง ที่จะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจีนภายใต้แผนพัฒน์ฯ ฉบับใหม่นี้

ทางด้านเศรษฐกิจมหภาค ทางการจีนยังคงต้องการคุมปัญหาเงินเฟ้อ โดยประกาศอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3 และกำหนดอัตราขยายตัวของเงินในระบบที่ร้อยละ 13

แน่นอนว่า ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาในยุค New Normal จีนย่อมจะนำนโยบายการคลังแบบขยายตัวมาใช้ โดยตั้งเป้ายอดขาดดุลงบประมาณที่ร้อยละ 3 ของ GDP เพื่อรองรับมาตรการภาษีต่างๆ ที่จะนำมาใช้กระตุ้นการผลิตของภาคเอกชน เช่น การยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากบริษัทจีน เป็นต้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันหนี้สาธารณะของจีนอยู่ที่ร้อยละ 56 ของ GDP

ในความพยายามที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จีนยังได้ประกาศที่จะควบคุมปริมาณการบริโภคถ่านหิน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น รวมทั้งมีเป้าหมายในการควบคุมคุณภาพอากาศ เป็นต้น

โดยสรุป อนาคต 5 ปีจากนี้ รัฐบาลจีนจะหันมาเน้นการสร้างรายได้ เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าของคนจีน และให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในด้านอุปทาน ส่งเสริมด้านนวัตกรรม และเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย พร้อมขยายสัดส่วนของภาคบริการให้มากขึ้น เน้นเศรษฐกิจออนไลน์ รวมทั้งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาความเป็นเมือง และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการผลักดันสิ่งที่ได้ทำมาแล้วอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมให้ธุรกิจจีนยกทัพออกไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งเดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์ “One Belt One Road” เพื่อเป็นเส้นทางมังกรผงาดต่อไป

เหนือสิ่งอื่นใด เป้าหมายเบื้องลึกที่ยิ่งใหญ่ของแผนพัฒน์ฯ ฉบับนี้ก็คือ จะทำให้ “ความฝันของจีน” เป็นจริงให้จงได้ โดยเฉพาะความฝันของท่าน สี จิ้นผิง ที่จะให้จีนเป็นสังคม “เสี่ยวคัง” สังคมที่คนจีน “มีกินมีใช้” ถ้วนหน้าภายในปี 2020 ที่จะสิ้นสุดแผนฯ 13 และยังเป็นปีที่จีนเตรียมฉลองใหญ่ในวาระครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน นั่นเอง

สำหรับผู้ที่สนใจบทวิเคราะห์ว่า อนาคตจีนจากนี้จะมีผลต่อไทยและอาเซียนอย่างไร ขอเรียนเชิญมาร่วมงานสัมมนา“อนาคต 5 ปี เศรษฐกิจจีนภายใต้แผนพัฒน์ ฉบับ 13 ในวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม นี้ เวลา 13.00-16.00 น ณ ห้อง ศ. 101 ชั้น 1 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) พบกับดิฉันและวิทยากรด้านเศรษฐกิจจีนแถวหน้าของไทยอีก 3 ท่าน สนใจคลิกดูรายละเอียดในwww.vijaichina.com