โร้ดแมปของ คสช.อียิปต์

โร้ดแมปของ คสช.อียิปต์

ตามที่ได้เคยเสนอไว้ในคอลัมน์นี้ (“ฝรั่งกับรัฐประหาร” 10 ก.ค. 2557) เกี่ยวกับงานวิจัยของนักกฎหมายมหาชน

ชาวอเมริกันชื่อ OzanVarol ผู้ชี้ให้เห็นว่า ในยุคหลังสงครามเย็น รัฐประหารในบางประเทศเป็นรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย (Democratic Coup d’ Etat) ได้ และหนึ่งในรัฐประหารที่ Varol เห็นว่าเข้าข่ายคือ รัฐประหารที่อียิปต์ ค.ศ.2011 และประเด็นสำคัญของรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยคือ การกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปที่ชัดเจนภายในระยะเวลาที่ไม่นานจนเกินไป โดย Varol กล่าวว่า มักจะอยู่ในช่วงหนึ่งหรือสองปี

จากเงื่อนไขนี้ เราอาจนึกย้อนเปรียบเทียบรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่หลังจากรัฐประหารไม่ถึงหนึ่งปีก็มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แต่สำหรับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ณ ขณะนี้มีการกำหนดไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งราวมิถุนายน-กรกฎาคม 2560 ถือว่าใช้เวลา 3 ปีหลังรัฐประหาร

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหารในอียิปต์ ต้นปี ค.ศ.2011 คือ ทหารปฏิเสธที่จะแชร์อำนาจกับฝ่ายพลเรือนในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง โดยเลือกที่จะจัดตั้งสภาที่ทำหน้าที่ปกครอง (A Ruling Council) ที่ประกอบไปด้วยทหารเท่านั้น เรียกว่าสภาที่ปรึกษาสูงสุดของกองทัพ (The Supreme Council of Armed Forces/SCAF/ ต่อไปจะเรียกว่า คสช. อียิปต์”) การไม่มีพลเรือนในสภาที่ปรึกษาดังกล่าวทำให้กองทัพสามารถกำหนดนโยบายที่ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์สูงสุดได้อย่างเต็มที่ แต่องค์กรลักษณะนี้จะมีปัญหาตรงที่ตรวจสอบไม่ค่อยได้หรือได้น้อย

คสช.อียิปต์ประกาศว่า ทหารจะทำการปกครองประเทศจนกว่าจะมีการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย ต่อมาคสช.อียิปต์ได้ตั้งคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้น โดย คสช.อียิปต์เป็นผู้คัดเลือกเองกับมือ และกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน สมาชิกของคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ไม่ได้เป็นตัวแทนของสังคมอียิปต์ ประธานคณะกรรมาธิการนี้ คือ ผู้พิพากษา (Judge Tarek al-Bishry) ผู้เคยสนิทสนมกับ Al-Wassat ที่เป็นเครือข่ายของกลุ่ม “The Muslim Brotherhood” สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มนี้คือ Sobhi Saleh ก็อยู่ในคณะกรรมาธิการชุดนี้ด้วย ไม่มีผู้หญิงในคณะกรรมาธิการชุดนี้ รวมทั้งไม่มีคนจากกลุ่มเยาวชนที่ทำการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมของนายบูมารัก

การปรึกษาหารือของคณะกรรมาธิการฯถือเป็นความลับสาธารณชนแทบจะไม่มีโอกาสรับรู้และไม่สามารถแสดงความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกนำเสนอราวกับว่าเป็นคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่สมควรจะนำมาอภิปราย” คณะกรรมาธิการสามารถทำงานเสร็จตามกำหนดเวลา 10 วันและเสนอการแก้ไขประเด็นต่างๆ ได้แก่ ลดเกณฑ์ขั้นต่ำในการแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีทำให้การแข่งขันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเปิดกว้างขึ้น, จำกัดวาระในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่เกินสองวาระๆ ละ 4 ปี, ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสูงสุด (The Supreme Constitutional Court) ในการตัดสินชี้ขาดผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน เพราะก่อนหน้านี้มีปัญหาขัดแย้งระหว่างสภากับศาลในประเด็นนี้ และรัฐธรรมนูญเดิมไม่ชัดเจนว่าอำนาจชี้ขาดอยู่ที่องค์กรใด, กำหนดให้มีการทำประชามติ ถ้าจะให้ระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายภาวะฉุกเฉินได้ถึง 6 เดือน

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าจะมีสมาชิกของกลุ่ม “Muslim Brotherhood” อยู่ในคณะกรรมาธิการนี้ แต่คณะกรรมาธิการก็ไม่ได้เสนอให้มีการทบทวนมาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญ ด้วยมาตรานี้ห้ามไม่ให้กลุ่ม“Muslim Brotherhood” และกลุ่มศาสนาอื่นๆ จัดตั้งพรรคการเมืองอย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยังเก็บรักษามาตรา 2 ไว้ ที่กำหนดให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และให้กฎหมายชารีอะห์เป็นฐานอ้างอิงหลักในการออกกฎหมาย       ขณะเดียวกันการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้แผ้วทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับด้วย โดยกำหนดขั้นตอนของการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยภายใต้มาตรา 189 ประธานาธิบดี (ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี) หรือครึ่งหนึ่งของสมาชิกของทั้งสองสภา (The People’s Assembly and Shura Council) อาจจะร้องขอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 100 คนที่มาจากการเลือกตั้ง และจะต้องร่างให้เสร็จภายใน 6 เดือน

ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม 2011 (หลังรัฐประหารเดือนกว่า) มีการทำประชามติมาตราที่มีการแก้ไข การแก้ไขถูกเสนอไปในลักษณะเป็นแพคแกจ นั่นคือ ถ้าไม่เอามาตราใดมาตราหนึ่ง ก็ถือว่าตกไปทั้งหมด ประชาชนไม่สามารถหยิบยกมาตราใดมาตราหนึ่งมาเลือกได้ ผลการทำประชามติ คือ 18 ล้านเสียงหรือร้อยละ 77.2 เห็นด้วยกับการแก้ไข (เป็นสถิติสูงสุดที่คนออกมาใช้สิทธิ์) หลังจากผ่านประชามติแล้ว สังคมอียิปต์คาดว่า คสช.อียิปต์จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขบางมาตรา เพื่อที่จะยังคงรักษารัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ.1971 ไว้

แต่สองสัปดาห์หลังจากประชามติ สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือในวันที่ 30 มีนาคม คสช.อียิปต์ได้ประกาศรัฐธรรมนูญบนหน้า Facebook โดยเลิกใช้รัฐธรรมนูญ 1971 ไปเลย และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่รวมเอาแปดหมวดที่ได้แก้ไขผ่านประชามติ และรวมทั้งอีกยี่สิบกว่าหมวดใหม่ที่ไม่ได้ผ่านประชามติเพิ่มเติมเข้าด้วย โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้คือ หนึ่ง เปิดโอกาสให้กลุ่ม “The Muslim Brotherhood” จัดตั้งพรรคการเมืองได้ สอง รับเงื่อนไขจากรัฐธรรมนูญ 1971 ที่กำหนดว่า ครึ่งหนึ่งของสมาชิกของทั้งสองสภาต้องเป็นผู้ใช้แรงงานและชาวไร่ชาวนา (workers and peasants) สาม ให้ คสช.อียิปต์มีอำนาจออกกฎหมาย และทำหน้าที่ฝ่ายบริหารทั้งภายในและกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สามารถแต่งตั้งถอดถอนรัฐมนตรี รวมทั้งนายกรัฐมนตรี และอำนาจของ คสช.อียิปต์ จะยังคงอยู่แม้จะมีการเลือกตั้งสภาทั้งสองแล้ว แต่จะสิ้นสุดเมื่อประธานาธิบดีใหม่รับตำแหน่ง

ต่อมามีการเลือกตั้งสภาล่างวันที่ 28 พ.ย. 2011 และสำเร็จเรียบร้อยในเดือนมกราคม 2012 การเลือกตั้งดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับจากองค์กรที่เฝ้าดูระหว่างประเทศว่าเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม วันที่ 23 มกราคม 2012 คสช.อียิปต์ได้โอนอำนาจนิติบัญญัติอย่างเป็นทางการให้แก่สภาล่างที่เพิ่งเลือกตั้งมาใหม่ แต่ยังคงอำนาจบริหารอยู่ต่อมามีการเลือกตั้งประธานาธิบดี นายมอร์ซี่จากกลุ่ม“Muslim Brotherhood” ได้เป็นประธานาธิบดีในปลายมิถุนายน 2012 และประมาณหนึ่งปีหลังจากนั้น ประชาชนชาวอียิปต์นับล้านออกมาประท้วงขอให้เขาลาออก และในที่สุดก็เกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2013