วิกฤติยางพารา: ปัญหาและแนวทางแก้ไข

วิกฤติยางพารา: ปัญหาและแนวทางแก้ไข

ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่ทรงคุณค่า เนื่องจากน้ำยางสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมได้จำนวนมาก

เช่น กาว ยางล้อ ยางยืด และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในขณะที่เมื่อหมดอายุให้น้ำยาง ไม้ยางก็สามารถเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมของเล่นไม้ ในขณะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางอันดับหนึ่งของโลก แต่ปัญหาราคายางตกต่ำตั้งแต่ปี 2557 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงแก่ครัวเรือนชาวสวนยาง แม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยงาน โดยมีการควบรวม 3 หน่วยงานเดิม เป็น “การยางแห่งประเทศไทย” มาตรการ “ไร่ละพันห้า” การรับซื้อผลผลิตหนึ่งแสนตันภายใต้ “โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ”

ปัญหายางพาราของไทยไม่ได้มีเฉพาะที่ราคายางพาราตกต่ำ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการจัดการสวนยาง ความหลงผิดและกับดักทางสถาบันที่นำไปสู่นโยบายที่ผิดพลาด และการจัดการผลผลิต การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง โครงการของรัฐในอดีตตั้งแต่ปี 2553 เน้นการเพิ่มผลผลิตยางพารา เนื่องจากราคายางอยู่ในระดับสูง แต่ในปัจจุบันราคายางอยู่ในระดับต่ำซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และผลจากโครงการการเพิ่มผลผลิตดังกล่าวก็ซ้ำเติมปัญหาราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

ในอีกด้านหนึ่ง จีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลกมีอำนาจในการต่อรองสูง และการที่สต็อกยางพาราและยางสังเคราะห์มีเหลือมากกว่า 7 ล้านตัน (เทียบเท่าการผลิตในประเทศไทยหลายปี) ในขณะที่การใช้ยางพาราในประเทศไทยเองเติบโตช้ากว่าการผลิต ดังนั้นราคายางพาราจึงมีแนวโน้มตกต่ำลงและราคาจะคงอยู่ในระดับต่ำไม่น้อยกว่าสองปี หากเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจจีนไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามมาเลเซียซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสามของโลก แต่กลับมีผลผลิตในประเทศเพียงพอสำหรับการใช้ในประเทศ และเน้นการนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยเพื่อทำการส่งออกสู่ตลาดโลกในฐานะผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีคุณภาพสูงขึ้น ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า โครงสร้างตลาดยางพาราและการบริหารจัดการยางพาราของไทย ยังมีช่องว่างสำหรับการปรับปรุงอีกมาก

นโยบายของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางนั้น จากการสำรวจภาคสนาม พบว่า โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ เป็นการรับซื้อยางในราคาสูงกว่าตลาดโดยจำกัดสิทธิ์ชาวสวนยางไร่ละไม่เกิน 10 กิโลกรัม ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย และปริมาณโดยรวมไม่เกินหนึ่งแสนตัน โครงการดังกล่าวคล้ายกับการแจกเงินรายละ 1,200 บาทโดยประมาณ แต่ส่งผลให้เกษตรกรพึงพอใจที่ได้รับราคาสูงกว่าตลาด อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เริ่มใช้ในช่วงการปิดกรีดยางทำให้ในระยะแรกรัฐบาลไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วอย่างที่ตั้งใจไว้

แม้ว่ารัฐบาลพยายามเจรจาเอกชนในการแปรรูปผลผลิตยางพาราขั้นต้นที่รับซื้อจากเกษตรกรเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบยางพารานั้น แต่จากข้อจำกัดทำให้การบริหารจัดการโครงการมีต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่นโยบาย “ไร่ละพันห้า” ไม่เกิน 15 ไร่ต่อรายนั้น ก็คล้ายกับเงินอุดหนุนช่วยค่าครองชีพ (แจกเงิน) ทั้งสองนโยบายเป็นนโยบายบรรเทาปัญหาในระยะสั้น ขณะที่นโยบายระยะกลางและระยะยาวเป็นการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศและการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เป็นหลัก

ข้อเสนอทางนโยบายสำหรับการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดจำนวนต้นยางพาราต่อไร่ลง และลดพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสมในการปลูกยางพารา ผู้วิจัยเห็นว่า การสนับสนุนให้ชาวสวนยางพาราสร้างรายได้เพิ่มจากสวนยาง เช่น การปลูกกระชาย การเลี้ยงผึ้ง การปลูกไม้ผล การทำวนเกษตรหรือเกษตรผสมผสานในสวนยาง หรือปลูกไม้เศรษฐกิจยืนต้นเสริมในสวนยางตามแนวทางของธนาคารต้นไม้จะเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนมากกว่า และประเทศจะได้รับประโยชน์จากการมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มการดูดซับคาร์บอน ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนสังคม

อีกทั้งชาวสวนยางยังสามารถมีรายได้มากขึ้นจากการขายไม้ แนวทางของธนาคารต้นไม้เป็นแนวทางที่รัฐบาลควรพิจารณาส่งเสริมเพราะเป็นการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง สำหรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง เช่น การทำถนนที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบ การทำแผ่นยางปูคอกปศุสัตว์ การทำบล็อคยางปูอาคาร การทำสระน้ำบ่อน้ำในไร่นา วัสดุประกอบเพื่อใช้ในโครงการของรัฐ ดังนั้น ภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรการและสัดส่วนการบังคับใช้ในประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนายางพาราและผลิตภัณฑ์

---------------------

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประชา คุณธรรมดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์