กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน(MVNO) (จบ)

กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน(MVNO) (จบ)

บทความก่อนเราได้ทำความรู้จักผู้ให้บริการ MNO กันไปเบื้องต้นแล้ว บทความฉบับนี้ เรามาทำความรู้จักกับผู้ประกอบการ

MVNO ในบ้านเรากันบ้างค่ะ

ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โครงข่ายเสมือนในบทความตอนที่แล้วว่า ผู้ประกอบการ MVNO นั้น เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่มีคลื่นความถี่หรือโครงข่ายโทรคมนาคมในการให้บริการโทรศัพท์มือถือ แต่ต้องไปขอซื้อ airtime (Voice) และบริการข้อมูล (Data) จากผู้ให้บริการ MNO เพื่อนำมาให้บริการกับประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ใช้ปลายทาง (end users) ภายใต้ชื่อหรือตราสินค้าของผู้ประกอบการ MVNO เอง ปัจจุบัน ผู้ให้บริการ MNO ในประเทศไทยที่แบ่งความจุของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อนำไปให้กับผู้ประกอบกิจการ MVNO มีหลักๆ 2 ราย คือ กสท. และ ทีโอที

ในปี 2552 ทีโอที เป็นรายแรกที่ริเริ่ม ได้ประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจที่ได้รับใบอนุญาต หรืออยู่ระหว่างการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ MVNO ยื่นข้อเสนอการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายของทีโอที ซึ่งใช้เทคโนโลยี 3จี บนคลื่นความถี่ 1900 MHz จากฐานข้อมูลรายงานสภาพตลาดโทรคมนาคมในไตรมาสที่ 3/2558 ซึ่งจัดทำโดย กสทชพบว่า มีผู้ประกอบการ MVNO ที่เข้าทำข้อตกลงกับ ทีโอที จำนวน 4 ราย ได้แก่ บมจ. สามารถ ไอ-โมบาย (ภายใต้ตราสินค้า ชื่อ i-mobile 3GX) บมจ. ล็อกซเลย์ (ภายใต้ตราสินค้า ชื่อ i-Kool Real 3G) บมจ. ไออีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เอนจีเนียริ่ง (ภายใต้ตราสินค้า ชื่อ IEC 3G) และ บจ. เอ็มคอร์ปอเรชั่น (ภายใต้ตราสินค้า ชื่อ MOJO 3G)

  ส่วนผู้ประกอบการ MVNO ในฟากฝั่งของ กสท. ปัจจุบันมี บจ.เรียลมูฟ (เดิมคือกลุ่มฮัทชิสัน ภายใต้ตราสินค้า ชื่อ True Move H) และ บจ. 168 คอมมูนิเคชั่น (เดิมคือ บจ. 365 คอมมูนิเคชั่น) โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้บริหารของ กสท. ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนถึงแผนธุรกิจของ กสท. ในปี 2559 ว่า กสท.อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการ MVNO หลายราย ซึ่งรวมถึง บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย บจ.ดาต้า ซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น เทสโก้โลตัส และทูนทอล์ค ซึ่งเป็นของสายการบินแอร์เอเชีย

ตามประกาศ MVNO ไม่ได้มีข้อห้ามจำกัดผู้ประกอบการ MVNO เข้าทำข้อตกลงกับผู้ให้บริการ MNO มากกว่า 1 ราย ซึ่งก็สอดคล้องกับการให้บริการของผู้ให้บริการ MVNO ในต่างประเทศ ที่ประสงค์จะให้โครงข่ายการให้บริการต่อผู้บริโภคครอบคลุมให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ให้บริการ MNO รายหนึ่ง มีการเข้าทำข้อตกลงการให้บริการข้ามโครงข่ายกับผู้ให้บริการ MNO รายอื่น ๆ ยิ่งจะส่งผลให้ ผู้ให้บริการ MVNO สามารถให้บริการกับผู้บริโภคของตนเองได้มากยิ่งขึ้น

ทีนี้ เรามาศึกษากันต่อค่ะว่า การให้บริการของผู้ประกอบการ MVNO แบ่งออกเป็นกี่ระดับ ผู้ประกอบการ MVNO แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ค่ะ

(ก) Thin MVNO คือ ผู้ประกอบการ MVNO ที่ไม่มีสิทธิในการบริหารโครงข่าย เช่น เสาโทรคมนาคม หรือเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคม) และไม่มีระบบสนับสนุนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (application platform) เช่น voice mail/ VAS/ IN/ SMSC/ IP Router เป็นต้น แต่มีระบบงานสนับสนุนด้านบริการลูกค้า เช่น ระบบชำระค่าบริการ และ Customer Care ซึ่งปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการ MVNO ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับ Thin MVNO

(ข) Medium MVNO คือ ผู้ประกอบการ MVNO ที่ไม่มีสิทธิในการบริหารโครงข่าย เช่นเดียวกับ Thin MVNO แต่มีระบบสนับสนุนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (application platform) และมีระบบงานสนับสนุนด้านบริการลูกค้า

(ค) Full MVNO คือ ผู้ประกอบการ MVNO ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง มีระบบสนับสนุนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (application platform) และมีระบบงานสนับสนุนด้านบริการลูกค้า แต่ไม่มีสิทธิบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเองเท่านั้น ผู้ประกอบการ MVNO กลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีเงินลงทุน และบางรายอาจมีโครงข่ายโทรคมนาคมอยู่แล้ว

ต่อไปในอนาคต เมื่อมีผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างผู้ประกอบการ MVNO เข้ามาในตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้น ผู้เขียนเห็นว่า จุดแข่งขันของผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละรายที่จะนำออกมาใช้หลัก ๆ น่าจะเป็นเรื่องของ คุณภาพความแรงและชัดเจนของสัญญาณ ความสะดวกในการเติมเงิน การชำระค่าบริการ โปรโมชั่นแพ็คเก็จที่มีความหลากหลายให้เลือก ราคาซิมการ์ด อัตราค่าบริการที่เหมาะสม บริการก่อนและหลังการขาย และรายการส่งเสริมการขายต่างๆ

การมีผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างผู้ประกอบการ MVNO เข้ามาในตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นการสร้างสีสันให้กับตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค คือ ผู้บริโภคจะมีทางเลือกที่มากขึ้น เมื่อการแข่งขันในตลาดสูงขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาค่าบริการ และความหลากหลายของบริการที่ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมต่อการใช้งาน นอกจากนั้น การปรากฏตัวของผู้ประกอบการ MVNO จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเกิดผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งช่วยส่งเสริมมาตรการของรัฐที่ประสงค์จะให้เกิดการลดการผูกขาด และส่งเสริมการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม ซึ่งสุดท้าย ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือ ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็จะได้รับบริการอย่างทั่วถึง จ่ายค่าบริการน้อยลง แต่ได้รับบริการที่ดีขึ้น

ผู้เขียนหวังว่า บทความในหัวข้อนี้ จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือนซึ่งให้บริการโดยผู้ประกอบการ MVNO และต่อไป หากผู้อ่านได้พบเห็นซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช่ตราของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ตามร้านค้าทั่วไป ก็ไม่ต้องสงสัยนะคะว่า เป็นซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือของค่ายมือถือไหน ทำไมไม่รู้จัก และจะใช้งานได้จริงหรือไม่เพราะท่านผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการ MVNO ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หน้าใหม่ในวงการโทรคมนาคมของบ้านเราค่ะ