เรียนรู้จากผู้นำ : ตอนผู้นำ“ต้นแบบ”

เรียนรู้จากผู้นำ : ตอนผู้นำ“ต้นแบบ”

ปรบมือรัวๆ ให้กับผู้นำที่พร้อมลุกขึ้นทำตนเป็นต้นแบบที่ดี

ล่าสุดคือตัวอย่างของผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของไทย ในการสร้างสังคมที่มีจิตสำนึกด้านสุขภาพและให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดี ดังวิสัยทัศน์ที่ประกาศใน Website ขององค์กร

ถือว่ากระทรวงนี้มีภารกิจที่สำคัญยิ่งต่อสังคมไทยในปัจจุบัน

“เป๊ะ” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่า ของเราที่ทรงมองว่า รากของปัญหาในการพัฒนาคนคือ “เจ็บ จนไม่รู้” 

คน เมื่อเจ็บ ทำงานไม่ได้ก็จน พอจนเงินรักษาตนก็จำกัด ทั้งไม่เหลือพอจะเพิ่มความรู้ให้ตนและลูกหลาน พอไม่รู้ก็วกเข้าวงจงอุบาทว์ของการเจ็บ จน

วนเวียนเช่นนี้

การมีสุขภาพดี จึงเป็นจุดตั้งต้นของการพอมีพอกิน และการศึกษา เพื่อชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

สุขภาพของประชาชน ถือเป็นภารกิจของรัฐ ที่ควรต้องได้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆยิ่งนัก

ดิฉันมั่นใจว่า บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขทำงานหนักเพื่อดูแลประชาชนทั่วประเทศด้วยงบประมาณของรัฐที่มักจำกัดจำเขี่ย เห็นได้จากจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในภาครัฐ ที่ต้องดูแลรับผิดชอบประชาชนจำนวนมหาศาล หรือ ความพยายามของโรงพยาบาล ในการเรี่ยรายหารายได้ เพื่อการก่อสร้างอาคาร หรือจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อผู้ป่วย ซึ่งมีให้เห็นเป็นระยะๆ

ที่ผ่านมานอกจากภารกิจอื่นใด กระทรวงฯได้ร่วมมือกับองค์กรหลายฝ่าย ผลักดันโครงการดีๆ มากมาย ทั้งในแง่ซ่อมแซม ปกป้อง และสร้างเสริมสุขภาพประชาชน

โครงการหนึ่ง มีชื่อโดนใจ ว่า “องค์กรไร้พุง”ที่มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิรณรงค์อย่างแข็งขัน  ทั้งให้ความรู้และถามจี้ใจองค์กรทั่วๆไป ว่า

ผู้บริหารขององค์กรท่าน..     แสดงความห่วงใยในสุขภาพของท่านหรือไม่? อย่างไร?

..ผู้บริหารของท่านอ้วนลงพุงไหม?

คุณหมอผู้บริหารกระทรวงฯเอง จึงตัดสินใจว่า น่าจะถึงตาเราบ้าง

ที่ต้องทำตนเป็นต้นแบบให้บุคลากรด้านสาธารณสุขมีพลัง มีขวัญกำลังใจในการทำตาม

เพราะทั้งเรา และเขาทั้งหลาย คือ ผู้นำ ที่จะเป็นต้นแบบให้คนทั้งประเทศต่อไป   

ท่านรัฐมนตรีว่าการฯ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร จึงฟันธงประกาศนโยบาย “ผู้บริหารสธ.ไร้พุงมุ่งสู่สุขภาพดี”

มีการไล่วัดสัดส่วนทั้งท่าน และทีมผู้บริหาร

ผลคือ..งานเข้าเอาการเพราะท่านๆ มีไขมันย้วยไม่แพ้ชาวบ้านร้านเมือง

ปรบมือรัวๆๆ ให้กับการเป็นต้นแบบในอีกเรื่อง

คือ ยืดพุงรับ ว่าผู้นำก็มีพฤติกรรมที่ต้องแก้ ไม่แพ้ผู้ตาม

แต่เราพร้อม ที่จะนำ จะทำให้เห็น เป็นต้นแบบ

อนึ่ง มีการวิจัยมากมาย ที่ชี้ถึงความสำคัญของผู้นำ โดยเฉพาะยามที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

อาจารย์ John Kotter กูรูเรื่องการเปลี่ยนแปลงแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ฟันธงว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายโดยรวม ประสบความสำเร็จ เบ็ดเสร็จไม่เกิน 30%!

ดิฉันเชื่อว่าท่านผู้อ่านก็ต้องเคยผ่านการเปลี่ยนแปลง ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ตามชั่วโมงบิน

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับส่วนตัว เช่น ลุกขึ้นเลิกสูบบุหรี่ ปรับนิสัยการกินอยู่ หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับงาน เช่น ปรับระบบ เปลี่ยนหัวหน้าหางานใหม่

เราจึงต่างตระหนักดีว่า การบริหารการเปลี่ยนแปลงมิใช่เรื่องง่าย

หลายครั้งเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ บางครั้งเป็นเรื่องที่ต้องน้ำตากระเซ็น อันเป็นธรรมดาของมนุษย์ ที่มักไม่อยากละทิ้งสิ่งที่ตนคุ้นเคย

ที่น่าพิศวงงงๆ คือ หลากกรณี สิ่งที่เราอยากทำอยากเปลี่ยน แต่ทำยากยิ่ง ล้วนเป็นสิ่งที่ดีหนักหนาสำหรับตนเอง เช่น การปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

จึงไม่ต้องนึกถึงการเปลี่ยนที่ท้าทาย มีคนได้คนเสีย..ความยากย่อมสูงขึ้น เป็นเท่าทวีคูณ

เป็นธรรมดา

ย้ำ ผู้นำ มีบทบาทที่สำคัญยิ่งยามเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

หากสถานการณ์นิ่งๆ ทุกสิ่งเป็นไปดั่งที่ได้เป็นมา

คนส่วนใหญ่คงเชื่อว่า ตนพอรับมือไหว ไม่กังวล

ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร จะดี หรือ ร้าย ก็ไม่ประหลาดใจ เพราะคาดเดาได้

ผิดกับยามที่มีการเปลี่ยนแปลง

หลายสิ่งไม่นิ่ง มองไม่ออก บอกไม่ได้ว่าสถานการณ์จะผลิกผันหันเหไปทางใด

ยามนี้แหละ ที่ลูกทีมจะงง กังวล หวาดหวั่น หันหาที่พึ่ง

ซึ่งหวังว่า เขาจะมองมาที่ลูกพี่ เพื่อให้เป็นหลัก เป็นที่พึ่งพิง ให้อ้างอิงเป็นต้นแบบว่า น่าจะต้องทำอะไร และไม่ทำอะไร

เมื่อลูกทีมจดจ้องมองลูกพี่เพื่อขอความมั่นใจ ว่าเราจะเปลี่ยนไปทางอึนๆนี้จริงหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร..

McKinsey ที่ปรึกษาเลื่องชื่อ เฉลยว่า..

ประมาณครึ่งหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะ ผู้นำไม่ทำตนเป็นต้นแบบ ทั้งยังปล่อยให้คนที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยน นั่งนอนอยู่ได้สบายใจเฉิบๆ

คล้ายๆพี่แอบประกาศกลายๆว่า น้องๆไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ เพราะผมเองก็..ไม่เปลี่ยน

จุดจบของการเปลี่ยนแปลงแบบกระปลกกระเปลี้ย จึงมักมีต้นตอจากท่าน ผอ. ท่านประธาน ท่านหัวหน้า ฯลฯ นี่เอง

นอกจากนั้น Prosci ที่ปรึกษาชั้นนำของโลกเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลง ล่าสุดได้ทำการ วิจัยเรื่องนี้ โดยได้สอบถามผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง 3400 คนใน 65 ประเทศว่า

ท่านคิดว่าปัจจัยใดที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จ

ผลการวิจัย ชี้ชัดว่าในมุมมองของคนทำงาน ปัจจัยแรกที่ต่างฟันธงลงความเห็นว่าสำคัญเป็นอันดับที่หนึ่งคะแนนทิ้งห่างจากปัจจัยอันดับถัดไปนับได้กว่า 3 เท่า คือ...

ผู้นำต้องเอาจริง!

หากผู้นำใส่ใจติดตามแผนงานการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดและที่สำคัญทำตนให้เห็นเป็นต้นแบบอย่างเด่นชัดว่าเอาด้วยเอาจริง

การเปลี่ยนแปลงที่ว่ายากหนักหนา และท้าทาย...จะง่ายขึ้น ณ บัดดล

จินตนาการว่า หากท่านสูบบุหรี่ขณะที่มีหน้าที่สร้างสังคมปลอดบุหรี่..

หากท่านมึนเมา ขณะที่มีหน้าที่รณรงค์ให้ประชาชนลดละเลิกสุรายาเสพติด..

หากท่านลงพุง ขณะที่มีหน้าที่รณรงค์ให้ใครๆ ไร้พุง..

หากท่านไม่โปร่งใส ขณะที่มีหน้าที่รณรงค์ให้ใครๆโปร่งใส

โครงการการปรับเปลี่ยนทั้งหลายคงไปได้ไม่ไกล

ทั้งในกรณีที่ผู้ตามเชื่อและไว้ใจในผู้นำของเขา... พี่ไม่เอา เราก็ไม่เอา ฮูเร!

และในกรณีที่ผู้ตามถามหาแพะ เพื่อจะได้ไม่ต้องเปลี่ยน... ทีพี่ผู้ยิ่งใหญ่เขาก็ยังไม่เปลี่ยน แล้วจะมาเร่งรัดเอาอะไรกับเรานักหนา..ว่าไหมพี่?!

ดังนั้น เรามาช่วยส่งพลัง ส่งกำลังใจให้ผู้นำทั้งหลายทั้งที่อยู่ในบ้าน ในทีม ในองค์กร ในประเทศ

ให้มุ่งมั่นตั้งใจเสียสละ ละเรื่องส่วนตน เพื่อเป็นคนต้นแบบ

เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดได้ยากมากจนถึงมากที่สุด หากผู้นำไม่หยุดทำแบบเดิมๆ และเริ่มพฤติกรรมใหม่ที่อยากให้ใครๆ ทำกัน - ฟันธง!