เรียนรู้จากผู้นำ เดินทางอย่างยานอวกาศ

เรียนรู้จากผู้นำ เดินทางอย่างยานอวกาศ

ระยะทางที่สั้นที่สุดระหว่างจุด A และจุด B คือ เส้นตรงที่เชื่อมจุดทั้งสอง นี่คือ “ความจริง” ที่เราเรียนในวิชาเรขาคณิต

แต่ใน ชีวิตจริงเส้นตรงดิ่ง หายากนัก

ท่านผู้อ่านลองนึกถึงเมื่อครั้งที่ฝึกขับรถใหม่ๆสิ่งแรกๆที่เราเรียนรู้คือการประคองพวงมาลัยและคอยปรับแต่งให้รถวิ่งตรงๆไปข้างหน้า

ยิ่งมือใหม่ยิ่งต้องคอยปรับ คอยขยับพวงมาลัยไปมาเมื่อเห็นว่ารถเริ่มยึกยักออกนอกเส้นตรง

ปัจจุบันสำหรับท่านนักขับมือเก๋าเราทำแบบเดิมโดยอัตโนมัติจนบางครั้งมิได้ตระหนักว่าการขับรถบนถนนที่แม้ตรง เราก็ต้องลงมือลงแรงคอยปรับแต่งพวงมาลัย

ยิ่งหากถนนขรุขระ มีขยะขวาง ทางลื่นเพราะฝนพรำ ฯลฯ เรายิ่งต้องคอยบังคับพวงมาลัย ไม่ให้ลื่นไถลตกทาง

เพื่อนนักบินเล่าว่านักบินต้องเรียนรู้ที่จะ Navigate หรือ นำเครื่องบินเพื่อไปสู่จุดหมาย คล้ายๆการขับรถ

การบินจากเมืองหนึ่งไปถึงอีกเมืองหนึ่งต้องพึ่งทั้งนักบินและอุปกรณ์ล้ำสมัยมากมายเพื่อปรับแต่งให้เครื่องบินอยู่ในลู่ ที่จะนำพาไปสู่เป้าหมาย

หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่มนุษย์ชาติทุ่มมันสมองและเงินทองมหาศาลเช่นยานอวกาศเพื่อให้เดินทางไปสู่ดาวที่ไกลโพ้น

ก็ยังต้องใช้พลังอลังการเพื่อ Course Correction หรือปรับลำที่เริ่มหักเห ให้กลับสู่เส้นทางที่ถูกต้อง

ตัวอย่างเช่นยานApolloขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือ NASA ที่เดินทางจากโลกสู่ดวงจันทร์ซึ่งห่างจากโลกเราออกไปประมาณ382,500 กม.

พฤติกรรมการบินของเจ้ายานที่ชาญฉลาดก็บินเบนๆเบี่ยงๆ ยึกยักออกนอกเส้นทาง นับได้ 97%ของเวลาที่ใช้ในบินทั้งหมด!

หรืออีกนัยหนึ่งทุก 60 นาทีของการบิน น้อง Apollo เหมือนเกเรหันเหเบ้ออกนอกเส้นทางเสีย58นาทีเศษๆ

ในแต่ละชั่วโมงจึงเหลือเพียงไม่ถึง 2 นาทีที่พี่นักบินนอนใจได้ว่ายานไม่เฉไฉไถลไปในห้วงอวกาศที่มืดมิดจนผิดทิศหลงทางกลางจักรวาล

เมื่อเข้าใจธรรมชาติของการเดินทาง ที่ไม่อาจเป๊ะได้ในภาวะแวดล้อมที่ไม่นิ่งสิ่งที่นักบินและผู้ประดิษฐ์ยานทำได้ คือ เสริม Course Correction หรือการปรับทิศทางการบินให้ถูกต้องทั้งด้วยระบบอัตโนมัติ และด้วยนักบินที่คอยควบคุมทิศทางของยานอย่างระมัดระวัง

กลับมาในที่ทำงาน เราในฐานะมนุษย์เดินดิน ขอเก่งเท่าเจ้ายานอวกาศมูลค่านับแสนล้านบาท ก็น่าจะไม่น่าเกลียด

หากเก่งเท่า Apollo แปลว่าใน 365 วันฉันต้องมีวันที่เดินทางได้ราบรื่น คงเส้นคงวาสู่เป้าหมาย ประมาณ11วัน!

เวลาที่เหลืออาจเกิดแรงปะทะไม่ว่าจะทะเลาะกับหัวหน้าต้องหางานใหม่ หรือท้อเหนื่อยใจ หรือมีอบายมุขทุกประเภทมายั่วยวนชวนให้หักเหออกนอกเส้นทาง

สภาวะรอบข้างของการเดินทางสู่เป้าหมายมักมีสิ่งที่เราไม่รู้จัก คาดเดาไม่ได้ บางครั้งไม่ต่างจากห้วงอวกาศ

แม้มีเป้าหมาย แม้มีแผน แต่ก็ต้องพร้อมปรับ รับมือกับการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

สรุปว่า บทเรียนสำคัญจากการเดินทางในอวกาศ คือ 

1.ต้องมีเป้าหมาย

หากไม่รู้ว่ากำลังไปดวงจันทร์ไปที่ทำงานเรียนให้จบปริญญาตรี มีสุขภาพดี ฯลฯ

จะเดินทางใดๆ ก็ได้ จะหักเหเซไป45หรือ90องศาก็ไม่ถือว่าหลงแม้เข้ารกเข้าพง ก็ไม่นำพา

เพราะเราไม่รู้ว่ากำลังจะไปไหนไงคะ

2.“ร่าง” แผนสู่เป้าหมาย และเตรียมตัวเตรียมใจที่จะปรับแผนตลอดการเดินทาง

ข้อเตือนใจสำหรับพี่ “เป๊ะ”ที่มีคติว่าต้องวางแผนให้สมบูรณ์แบบและละเอียดยิ่งก่อนเริ่มลงมือทำสิ่งใดๆในโลก

น้อง Apollo บอกว่า พี่ขา คิดผิด คิดใหม่ได้

พี่มัวแต่หมกมุ่นวางแผน- Planning แพลนนิ่ง จน “นิ่ง” จริงๆไม่ได้ก้าวเสียที

เอาว่า ขอให้มีเป้า มีแผนที่ดีพออุ่นใจ

แล้วเริ่มเดินได้โดยมีสติ มีทักษะ มี KPI ตัวชี้วัดระหว่างทาง ว่าเราเฉไฉ ออกนอกลู่หรือไม่

ถ้าออกก็ปรับ รับมือให้ได้..ก็เท่านั้น

3.เซออกนอกทางบ้างได้ไม่ผิด

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ หัวหน้า ป้า ลุงกรุณาทำใจว่าคนที่เราดูแลมิได้ต่างจากเราที่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ ก็มิได้เดินทางเป็นเส้นตรง

หน้าที่ “ผู้ใหญ่”จึงต้องสร้างและปลูกฝังค่านิยมของคนดีให้เป็นหลัก เป็นเครื่องนำวิถี Course Correction ยามที่เขามีหลง

ทั้งยังต้องไม่ละเลยช่วยชี้แนะ ช่วยโค้ชและให้ Feedback ทันทีที่เห็นว่าเขากำลังเริ่มออกนอกเส้นทาง

อย่าทิ้งเวลาให้ห่าง ละเลยจนยากที่จะกระชากเขากลับเข้าทางเดิม

อย่างน้องApolloที่เดินตามแผนได้เป๊ะ แค่ 3% แต่ก็ถึงจุดหมาย ณ ดวงจันทร์ที่แสนไกลได้

หากเป้าหมายเรา ไม่ไกลกว่า 382,500 กม.

เดินไป ปรับไป ถึงได้ หากไม่ยอมแพ้ค่ะ