เร่งสางปัญหาขาดนักบิน ลามกระทบมาตรฐานบิน

เร่งสางปัญหาขาดนักบิน ลามกระทบมาตรฐานบิน

กรณีที่มีนักบินสายการบินนกแอร์ ประท้วง

กระทั่งต้องยกเลิกเที่ยวบินไป 9 เที่ยวบินในประเทศ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา 

ล่าสุดวันนี้  (23 ก.พ.) นกแอร์ ยังประกาศยกเลิกเที่ยวบินอีก 20 เที่ยวบิน โดยเป็นเที่ยวบินในเส้นทางภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยระบุว่า การยกเลิกเที่ยวบินครั้งนี้ นกแอร์ได้มีพันธมิตรรองรับผู้โดยสาร ที่จะเดินทางตามเที่ยวบินที่ยกเลิกไว้แล้ว โดยจะใช้สายการบินอื่นร่วมทำการบินแทน อาทิ การบินไทย  ไทย ไลอ้อน แอร์  นกสกู๊ต  และไทยสมายล์ 

อย่างไรก็ตาม แม้การยกเลิกเที่ยวบินครั้งหลังของนกแอร์ จะแจ้งให้ผู้โดยสารรู้ล่วงหน้า ทำให้ลดผลกระทบลงได้บางส่วน เมื่อเทียบกับรอบแรกที่ยกเลิก 9 เที่ยวบินอย่างกระทันหัน  

แต่ปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า อุตสาหกรรมการบินของไทย กำลังเผชิญปัญหา การขาดแคลนนักบิน”  หนักข้อขึ้นทุกขณะ 

โดยก่อนหน้านี้  อัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทย ไลอ้อนแอร์ เคยกล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมการบินในไทย ไว้ว่า ปัญหานักบินขาดแคลนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินของไทยโตก้าวกระโดด การผลิตบุคลากรใหม่ที่ต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์จึงเข้ามารองรับไม่ทัน 

ขณะเดียวกัน ยังมีอุปสรรคเรื่องวุฒิการศึกษา ที่ยังบังคับในระดับปริญญาตรี แต่หากเป็นต่างประเทศจะเปิดโอกาสให้คนจบระดับมัธยมปลายเข้าเรียน ในฐานะที่เป็นหนึ่งสาขาการเรียนแบบวิชาชีพได้ทันที ซึ่งหากปรับหลักเกณฑ์ได้จะช่วยให้ตลาดนี้เปิดกว้างมากขึ้น

นอกจากนั้น อุปสรรคใหญ่ของการผลิตบุคลากรการบิน คือ ค่าใช้จ่ายการเรียนที่แพงมาก ดังนั้น จึงดึงดูดผู้ที่สนใจเข้าเรียนได้น้อย และเมื่อผลิตมาแล้วไม่ใช่ว่าจะสามารถปฏิบัติงานได้ทั้งหมด 100% 

ขณะที่ข้อมูลจากบริษัทบีเอซี ซึ่งเป็น 1 ใน 2 สถาบันที่ผลิตนักบินพาณิชย์ในไทยปัจจุบันนี้ ระบุว่า กำลังการผลิตบุคลากรของทั้งสองแห่งรวมกันมีเพียง 200 คนต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปีอุตสาหกรรมการบินไทยต้องการนักบินใหม่ราว 2,190 คน หรือเฉลี่ยต่อปีราว 438 คน โดยคำนวณจากการรับเครื่องบินใหม่เฉลี่ยของทุกสายราว 30 ลำต่อปี และแต่ละลำใช้นักบินราว 14.6 คน

ขณะที่นักบิน เป็นวิชาชีพที่ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ในการทำงานสูง ค่าเฉลี่ยของชั่วโมงบินซึ่งเป็นที่ต้องการอยู่ที่ 1,500 ชั่วโมงขึ้นไป ทำให้บุคลากรที่จบใหม่ ยังไม่สามารถเข้าไปรองรับความต้องการของตลาด ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ทันเวลา จนเกิดปัญหาขาดแคลนนักบินในปัจจุบัน

กรณีนกแอร์ ยังสำทับด้วยคำให้สัมภาษณ์สื่อของ “ศานิต คงเพชร อดีตผู้จัดการรักษามาตรฐานการบิน สายการบินนกแอร์ ผู้ถือบอกเลิกจ้าง กรณีนกแอร์ยกเลิก 9 เที่ยวบิน ในช่วงที่ผ่านมา โดยเขาระบุว่า สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากนักบินที่เป็นครูการบินคน ไม่พร้อมบิน เนื่องจากมีสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมบิน

ส่วนสาเหตุของความไม่สบายใจ เนื่องจากทางครูการบินถูกผู้บริหารบังคับให้ให้ปล่อยให้นักบินรายหนึ่ง ที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานขึ้นบิน ซึ่งกลุ่มครูการบินเห็นว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ผิดกฎร้ายแรง จึงได้ท้วงติงไป แต่ทางฝ่ายบริหารไม่ยอมรับฟังเหตุผลจนนำไปสู่การเกิดปัญหาตามมา

ส่วนการที่ฝ่ายบริหารต้องการให้นักบินที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานขึ้นบิน เพราะเกิดปัญหาขาดแคลนนักบิน เนื่องจากในปีที่ผ่านมา มีนักบินลาออกไปจำนวนมาก 30-40 คน แต่การรับนักบินใหม่มีจำนวนน้อยไม่สามารถชดเชยได้ ขณะที่สายการบินก็ขยายงานอย่างต่อเนื่อง มีการเพิ่มเที่ยวบินจำนวนมาก

ปัญหาเหล่านี้ คือสิ่งที่ทั้งนักบิน สายการบิน สะท้อนถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมการบิน หากไทยต้องการผลักดันตัวเองเป็น “ศูนย์กลางการบิน”  (ฮับ) ภูมิภาค ปัญหาแรกๆ ที่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จะต้องแก้ให้ตก คือการแก้ไขปมขาดแคลนนักบิน ไม่เช่นนั้น จะลามไปถึง เรื่อง “มาตรฐานการบิน” 

ลองคิดดู หากนักบินไม่ได้มาตรฐานขึ้นบิน ทั้งที่ไม่พร้อม ใครจะรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสาร

ประเด็นปัญหาเรื่อง การคุ้มครองผู้บริโภค จะตามมาอีกมาก จากนี้