Strategy for Sustainable Growth (1)

Strategy for Sustainable Growth (1)

ในการทำธุรกิจ เราต้องมีกลยุทธ์เพื่อพัฒนาองค์กรไปข้างหน้าและสร้างให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถทำได้หลายด้าน

สำหรับ “พฤกษา” บางคนอาจสงสัยว่า เหตุใดบริษัทจึงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องตลอด 23 ปีที่ผ่านมา

จากรายได้ 200 ล้านบาทในปี 2536 ที่เป็นปีเริ่มแรกของบริษัท จนกระทั่งปี2558นี้ รายได้ของบริษัทฯ คาดว่าจะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 25%

นั่นเป็นเพราะเราวางกลยุทธ์และนวัตกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพบ้าน

ปี 2536 เมื่อเราเริ่มทำธุรกิจอสังหาฯเราพัฒนาโครงการแรกมูลค่า 400 ล้านบาท ซึ่งเราจะต้องมีเงินทุนเป็นร้อยล้านบาท เรียกว่าอย่างน้อยๆ ต้องมีเงิน 150 ล้านบาท 

แต่ตอนนั้นเรามีเงินแค่ 50 ล้านบาท ก็ต้องมีกลยุทธ์หรือนวัตกรรมทางการเงิน กับนวัตกรรมการก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหา

หรือในปีเดียวกัน เราจะทำ 2 โครงการมูลค่าก็เป็น “พันล้านบาท”

คำถาม คือเราต้องทำอย่างไร เพราะเรามีทุนแค่ไม่ถึง 25% ของมูลค่าโครงการ

เมื่อไม่มีทุนก็ต้องไปดูเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อลดรอบเวลาธุรกิจเพราะถ้าเราสามารถลดรอบเวลาน้อยลง ก็ใช้เงินน้อยลง

เริ่มโครงการแรก เราจึงใช้นวัตกรรมก่อสร้างที่เพิ่มคุณภาพบ้านและที่ลดเวลา ลดแรงงานลง ใช้คนแค่ 1 ใน 3 จากการก่อสร้างแบบเดิม และใช้เวลาน้อยลง เหลือเพียง 3 เดือน

ดังนั้น จากเงินที่มีอยู่ 50 ล้าน เมื่อรวมกับเงินดาวน์ลูกค้า ก็เพียงพอที่จะทำโครงการให้สำเร็จ

เช่นเดียวกัน เมื่อเราทำโครงการที่ 2 ก็นำนวัตกรรมมา “ลดรอบเวลา” จึงสามารถแก้ปัญหาได้

นวัตกรรมการก่อสร้างที่เรียกว่า Tunnel Form  คือสิ่งที่ช่วยให้เราทำโครงการสำเร็จเพราะประหยัดได้ทั้งแรงงานและเวลา ซึ่งโดยปกติเทคโนโลยีนี้มักจะใช้กับการก่อสร้างโรงงาน แต่เรามองเป็นกลยุทธ์การแก้ปัญหาของพฤกษา จึงนำมาปรับใช้กับการสร้างบ้าน

ยิ่งในเวลานั้นมีปัญหาขาดแรงงานกันมาก โครงการหนึ่งๆ ใช้คน 300 คน แต่เราใช้แค่ 100 คน และ Tunnel Form ยังช่วยแก้ปัญหาคุณภาพบ้าน เพราะเทคโนโลยีนี้ ทำให้มีความประณีตสูงบ้านแข็งแรง ทนไฟไหม้ได้นานกว่าบ้านแบบก่ออิฐฉาบปูน เก็บเสียง เรียกว่า เทคโนโลยีนี้ดีทั้งต่อบริษัทและลูกค้า ช่วยทุกๆ ฝ่าย

ต้นทุนอาจจะพอๆ กันแต่เมื่อลดเวลา ก็ช่วยลด operation cost

เราทำมาถึง 3 โครงการ สถาบันการเงินจึงเริ่มให้กู้

แต่พอปี 2540 เกิดวิกฤติสถาบันการเงินเราก็ต้องมีกลยุทธ์การแก้ปัญหาอีกแบบ

ตอนนั้น เราทำโครงการที่ 5 อยู่ เมื่อเจอสถานการณ์ปิดไฟแนนซ์เงินที่เรามีอยู่ไม่พอแน่เพราะมูลค่าโครงการ 4 พันล้านบาท แต่เรามีทุนราว50 ล้านหรือถ้าบวกกำไรที่ผ่านๆมา อาจจะมีถึง100 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่สามารถรองรับโครงการ 4 พันล้านบาทได้

เมื่อสถาบันการเงินที่ซัพพอร์ตเราอยู่ถูกปิดเงินไม่มี ก็ต้องมีกลยุทธ์แก้ไข โดยใช้นวัตกรรมก่อสร้างเร่งสปีดให้เร็วขึ้น ดอกเบี้ยสมัยนั้น15% เท่ากับว่า บ้าน 20 หลังที่เราขายได้ คือ ค่าดอกเบี้ยต่อเดือนเพราะฉะนั้น เราก็ต้องทำโครงการที่มีสเกลเกิน 100หลังต่อเดือนอาจจะต้องส่งมอบเดือนละ 150 หลัง เพื่อเอาชนะดอกเบี้ย

ตอนนั้นก็โฟกัส ต้องทุ่มทีมทำทีละโครงการเพื่อส่งมอบให้เร็ว

เทคโนโลยี Tunnel Form ก็ช่วยแก้ปัญหา ทำให้เราสามารถส่งมอบบ้านให้ลูกค้า ชำระหนี้ดอกเบี้ย จนปี 2543 จึงสามารถโอนบ้าน 4 พันล้านบาทได้หมด

พอปี 2544 เริ่มมีดีมานด์ทาวน์เฮ้าส์ เราก็มองหาเทคโนโลยีที่รองรับ เป้าหมายก็เป็นเทคโนโลยีพรีคาสท์ เพื่อผลิตชิ้นส่วนสำหรับการก่อสร้างบ้านเราจึงเริ่มลงทุนโรงงานเป็นพันล้านเอง ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำให้เราสามารถสร้างบ้านได้ในเวลา3 เดือนได้บ้านคุณภาพดี แก้ปัญหาคนงาน

ต่อมา เราก็คิดนวัตกรรมน็อคดาวน์ นำบ้านมาประกอบเป็นส่วนๆ เช่น หลังคา รั้ว บันได ทำให้สร้างได้เร็วขึ้นอีก จาก 3 เดือน เหลือ 2 เดือนครึ่ง

แต่เราต้องการเวลาสร้างบ้านให้เหลือเดือนเดียว ก็ต้องมาบริหารจัดการ ปรับปรุงกระบวนการผลิตอีก

ปี 2555 เรานำเทคโนโลยีสร้างบ้านแบบ Pruksa REM หรือ PruksaReal Estate Manufacturing มาใช้ ซึ่งเป็นการให้ผู้รับเหมาก่อสร้างทำงานที่ถนัดเฉพาะส่วน เพื่อใช้แรงงานก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพซึ่งจริงๆเราเริ่มทดลองทำตั้งแต่ปี 2552แต่มาประสบความสำเร็จในปี 2555

เทคโนโลยีนี้ทำให้กระบวนการก่อสร้างเหลือ 1 เดือน

เมื่อเอา 3 เทคโนโลยี มารวมกับการบริหารจัดการ ก็ทำให้รอบธุรกิจสั้น ขณะที่คุณภาพบ้านก็ดีขึ้น

ตั้งแต่ปี 2557 เราเน้นเรื่องคุณภาพของบ้านโดยทำเป็นนโยบายทั้งบริษัทวางมาตรฐานซัพพลายเออร์สูงกว่าเดิม เพื่อทำให้บ้านมีมาตรฐานสูงขึ้น ซึ่งเบ็ดเสร็จแม้ต้นทุนบ้านจะแพงขึ้น 5% ก็จริง แต่ในแต่ละเดือน เราก็ผลิตและขายบ้านได้มากขึ้น และ ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจในคุณภาพบ้านและบริการของเราได้มากขึ้น

นวัตกรรมทำให้เราสามารถสร้างบ้านมีคุณภาพดีขึ้นด้วยต้นที่ทุนถูกลง ทั้งที่ใช้วัสดุที่ดีขึ้น