กรณีการขายหุ้นของกลุ่มคาสิโน:ภาษีที่ภาครัฐพึงได้?

กรณีการขายหุ้นของกลุ่มคาสิโน:ภาษีที่ภาครัฐพึงได้?

หลังจากกลุ่มคาสิโนประกาศขายกิจการของ บิ๊กซี เวียดนาม เมื่อกลางเดือน ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมา

เริ่มได้ทราบถึงความสนใจระดับหนึ่งในการที่จะขายหุ้นของ บิ๊กซี ประเทศไทย (BIGC) ที่ครอบครองอยู่ ล่าสุด เมื่อ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งข่าวสู่สาธารณะว่า ได้รับแจ้งจากกลุ่มคาสิโนว่า GéantInternational BV ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทได้เข้าทำสัญญาขายหุ้นกับ บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด

โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อและขายหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัทรวมทั้งสิ้นจำนวน 483,077,600 หุ้น คิดเป็นหุ้นจำนวน 58.56% ของหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมดของบริษัท ในราคาต่อหุ้นเท่ากับ 252.88 บาท และคาดว่าจะเสร็จสิ้นธุรกรรมการขายหุ้นไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. นี้ ซึ่งภายหลังการเสร็จสิ้นธุรกรรมการขายหุ้นผู้ซื้อจะต้องดำเนินการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯภายใต้ประกาศที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

 

ภาระภาษีจากการขายหุ้น ตามประมวลรัษฎากรไทย

ถ้าผู้ขายหุ้นเป็นบุคคลธรรมดาและหุ้นที่ซื้อขายเป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ขายหุ้นจะได้รับยกเว้นภาษีจากผลกำไรที่ได้รับจากการขายหุ้น แต่ถ้าหุ้นที่ซื้อขายมิได้เป็นหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ขายหุ้นจะต้องนำผลกำไรจากการขายหุ้นไปคำนวณเพื่อเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า

ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ถ้าอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนก็จะได้รับยกเว้นภาษี แต่ถ้ามิใช่จะต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15%

ในกรณีที่ผู้ขายหุ้นเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฏหมายประเทศไทย แม้ว่าผลกำไรได้รับจะไม่ต้องถูกหัก ณ ที่จ่าย แต่ผลกำไรที่ได้รับจะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 23% จากกำไรสุทธิ

ในการโอนขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ต้องติดอากรแสตมป์ในอัตรา 0.1% ของราคาหุ้นภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร การโอนใบหุ้น ใบหุ้นกู้ และพันธบัตรที่มีตราสารการโอน ผู้โอนจะต้องติดอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาทสำหรับทุกจำนวน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท โดยคิดตามราคาหุ้นที่ชำระแล้วหรือตามราคาใน ตราสารโอน (แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า) ยกเว้นถ้าเป็นการโอนหลักทรัพย์จดทะเบียนที่บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นนายทะเบียน หรือกรณีไม่มีตราสารการโอน เช่น โอนในระบบไร้ใบหุ้น (Scripless) หรือเป็นการโอนพันธบัตรรัฐบาล และหน่วยลงทุนไม่ต้องติดอากรแสตมป์

 

ภาษีที่รัฐพึงได้จากการซื้อขายหุ้นเมก้าดีล

ตามข่าว คาสิโน กรุ๊ป กลุ่มบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของฝรั่งเศส ตกลงขายหุ้นส่วนใหญ่ที่ถืออยู่ใน บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ของไทย ให้กับกลุ่มบริษัททีซีซี กรุ๊ป ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นมูลค่าประมาณ 3,400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 122,400 ล้านบาท คาสิโนกรุ๊ป จะต้องถูกหักภาษีณ ที่จ่าย 15% เท่ากับ 18,300 ล้านบาท บวกค่าอากร 0.1% อีก 122 ล้านบาท รวมแล้วเกือบ 20,000 หมื่นล้านบาท

นี่ยังไม่นับผลกำไรที่ได้รับจะที่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 23% จากกำไรสุทธิ อีกราว 5,000 ล้านบาท รวมคร่าวๆ ปาเข้ากว่า 25,000 ล้านบาท หรือราว 1 ใน 3 ของมูลค่าจากการประมูลคลื่น 4G ที่ผ่านมาภาษีที่รัฐพึงจะได้กว่า 25,000 ล้านบาท

เป็นหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรมสรรพากร และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องเฝ้าติดตามธุรกรรมเมก้าดีลนี้อย่างใกล้ชิดว่า มีการชำระภาษีดังกล่าวหรือไม่

การเสียภาษีเมื่อมีรายได้มหาศาลนั้นไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นหน้าที่ทางศีลธรรม เพราะเป็นการตอบแทนประเทศที่มีส่วนช่วยให้บริษัทและบุคคลมีรายได้เพิ่มพูนขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการกระจายรายได้เพื่อช่วยเหลือเจือจุนแก่ผู้ยากไร้

ดังนั้นการเลี่ยงภาษีทั้งๆ ที่มีรายได้มหาศาล แม้จะอ้างว่าทำให้ถูกกฎหมายเพียงใดก็ตาม จึงไม่อาจเป็นการกระทำที่ถูกจริยธรรมไปได้เลย ยิ่งการกระทำดังกล่าวมีบริษัทผู้ขายที่มีกิจกรรมในต่างประเทศ และบริษัทผู้ซื้อที่อยู่ในประเทศ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยธุรกรรมกว่า “แสนล้านบาท”  บริษัททั้งสองคงต้องตอบสังคมให้ชัดเจนว่า ภาระภาษีที่พึงต้องชำระ ได้มีการชำระจริงเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่ควรจะเป็นหรือไม่ หน่วยงานรัฐก็ต้องออกมาชี้แจงแถลงไขข้อเท็จริงแก่สังคมเช่นกัน