จัณฑีครห์ (Chandigarh): เมืองหลวงสองรัฐ

จัณฑีครห์ (Chandigarh): เมืองหลวงสองรัฐ

พูดถึงเมืองจัณฑีครห์ (Chandigarh) เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะไม่คุ้นหูหรือไม่เคยได้ยินเลยด้วยซ้ำ

หรือเห็นชื่อครั้งแรกก็เกิดอาการมึนงงไม่แน่ใจว่าชื่อเมืองนี้อ่านว่าอย่างไรกันแน่ เพราะดูตัวสะกดแล้วชื่อออกแนวแขกมาก ก็ต้องขอเรียนท่านผู้อ่านว่าชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการของเมืองนี้ถอดมาจากภาษาฮินดีซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตนั่นเอง เลยทำให้ชื่อดูออกแนวแขกอย่างชัดเจนแต่สำหรับคนไทยทั่วไปที่เคยอยู่อินเดียหรือมีความคุ้นเคยกับอินเดียก็มักจะอ่านตามตัวอักษรภาษาอังกฤษกันแบบไม่เป็นทางการว่า ชานดิการ์ซึ่งอ่านได้ง่ายกว่ากันเยอะเลย

ที่ผมนำเรื่องเมืองจัณฑีครห์มาพูดถึงในวันนี้ก็เพราะเห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักเมืองนี้กันเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่เมืองนี้เป็นเมืองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากของอินเดีย ถึงแม้ว่าจะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ความสำคัญของเมืองนี้กลับไม่เล็กตามขนาดเมืองไปด้วย

เมืองจัณฑีครห์เป็นเมืองที่อยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย แต่ที่แปลกก็คือ เมืองจัณฑีครห์เป็นเมืองหลวงของสองรัฐพร้อมกันคือ รัฐหรยาณากับรัฐปัญจาบ อันนี้เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันแบบอินเดีย สาเหตุที่ทำให้เมืองจัณฑีครห์กลายเป็นเมืองหลวงของสองรัฐพร้อมกัน ก็เพราะหลังจากที่อินเดียได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในปี 1947 ดินแดนของอินเดียส่วนหนึ่งถูกแบ่งแยกออกเป็นประเทศปากีสถาน หนึ่งในนั้นเป็นรัฐปัญจาบที่ต้องสูญเสียเมืองหลวงลาฮอร์ไปอยู่ในฝั่งปากีสถาน รัฐบาลของเนห์รูจึงมีนโยบายที่จะสร้างสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นใหม่ และเมืองจัณฑีครห์ก็ถูกเลือกขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของรัฐปัญจาบ

ต่อมาหรยาณาได้แยกตัวออกจากรัฐปัญจาบมาเป็นรัฐหรยาณา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1966 ด้วยเหตุผลว่าประชากรมีภาษาที่แตกต่างไปจากประชากรของรัฐปัญจาบ และตกลงกันไม่ได้เพราะต่างก็ต้องการจะได้เมืองจัณฑีครห์เป็นเมืองหลวง ซึ่งในที่สุดก็ได้ทางออกแบบพบกันครึ่งทางคือ ให้จัณฑีครห์เป็นเมืองหลวงของสองรัฐเลย ซึ่งในภายหลังก็มีการตัดสินใจแบบนี้อีกครั้งหนึ่งคือ การกำหนดให้เมืองไฮเดอราบัดเป็นเมืองหลวงของรัฐอานธรประเทศกับรัฐเตลังกานาที่แยกออกมาใหม่

เมืองจัณฑีครห์แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็มีคนกล่าวขวัญถึงกันมากเพราะมีความโดดเด่นหลายด้าน โดยได้รับเลือกให้เป็นเมืองที่มีการวางผังเมืองที่ดีที่สุดของอินเดีย ซึ่งต้องถือว่าไม่ธรรมดาแน่นอน แต่ที่สำคัญคือ เมืองจัณฑีครห์ถือเป็นหนึ่งในเมืองที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศอินเดียคือ ประชากรมีรายได้เฉลี่ยสูงมากที่สุดเมืองหนึ่ง พอดีผมได้ไปอ่านบทความของคุณศิริอร หริ่มปราณี ที่เขียนเกี่ยวกับเมืองจัณฑีครห์ไว้ในเว็บไซต์ของ TCDC ว่า “จัณฑีครห์ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และสะอาดที่สุดในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับคำชื่นชมมาอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปี มีส่วนสำคัญมาจากการจัดการสภาพแวดล้อมของเมืองที่เป็นระเบียบ การแยกทางเดินของคน รถจักรยาน และรถยนต์ออกจากกัน เพื่อทำให้การจราจรไม่ติดขัด

ขณะที่การกำหนดเขตธุรกิจ ราชการ อุตสาหกรรม และที่พักอาศัยอย่างชัดเจน ก็ช่วยกระจายความแออัดของเมือง รวมทั้งการสร้างพื้นที่สาธารณะที่เปิดโล่งก็ยังสอดคล้องกับชีวิตคนอินเดีย ที่ชอบอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ และความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันของสังคมก็ได้รับการแก้ไขด้วยการออกแบบ พื้นที่ให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างปกติสุข” อ่านดูแล้ว ผมคิดว่าท่านผู้อ่านอาจจะคิดไม่ถึงว่ามีเมืองแบบนี้อยู่ในอินเดียด้วยหรือ

จัณฑีครห์เป็นเมืองขนาดเล็กด้วยพื้นที่เพียง 114 ตารางกิโลเมตร มีประชากรตามสัมมะโนประชากรปี 2011 จำนวน 1,054,686 คน และถือว่ามีสัดส่วนของความเป็นเมืองสูงถึง 98% นั่นคือ มีเขตที่เป็นชนบทเพียง 2% เท่านั้น ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 150,000 รูปีต่อปีหรือประมาณ 75,000 บาทต่อปี แม้จะเป็นเมืองเล็ก แต่จัณฑีครห์ก็มีอุตสาหกรรมที่หลากหลายได้แก่ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์

และที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที เนื่องจากอยู่ใกล้กับกรุงเดลี เมืองหลวงของประเทศ ทำให้มีบริษัทไอทีขนาดใหญ่ระดับโลกไปตั้งสำนักงานอยู่ที่เมืองจัณฑครห์ เช่นQuark, Infosys, Dell, IBM และ TechMahindra นอกจากนั้น ปัจจุบันเมืองจัณฑีครห์ยังมี Rajiv Gandhi Chandigarh Technology Park ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอีกด้วย และจากการสำรวจในปี 2014 พบว่าเมืองจัณฑีครห์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่ดีที่สุดอันดับ 9 ของโลกสำหรับธุรกิจ Outsourcing และ IT เหนือกว่าอีกหลายๆ เมืองเช่น ปักกิ่ง

นอกจากนั้น เมืองจัณฑีครห์ยังมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับเขตอุตสาหกรรมอีกในพื้นที่ 2.35 ตารางกิโลเมตร โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเบาและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าเมืองนี้มีการบริหารจัดการเมืองแบบมืออาชีพจริงๆ และปัจจุบันนี้เมืองกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาระยะที่ 3 แล้ว และคาดว่าภายในปี 2021 เมืองจัณฑีครห์จะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 1.95 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวจากเมื่อเริ่มสร้างเมืองนี้ขึ้นมา

ที่สำคัญคือ ประชากรของเมืองจัณฑีครห์ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงานโดยประชากรในช่วงอายุ 19-55 ปี เป็นประชากรที่มีสัดส่วนมากที่สุดของเมือง นั่นหมายถึงกำลังซื้อของประชากรในเมืองนี้อยู่ในระดับที่สูงมาก และที่สำคัญคือ พฤติกรรมการบริโภคจะเป็นแบบคนในเมืองหรือที่เรานิยมเรียกว่าบริโภคนิยม มากกว่าประชากรในเขตชนบท โดยการบริโภคของประชากรในเมืองจัณฑีครห์ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทที่ไม่ใช่อาหารและบริการถึง 65% ของการบริโภครวม ในขณะที่สินค้าประเภทอาหารมีสัดส่วนน้อยกว่าคือ 38% นั่นทำให้มองเห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคของคนเมืองนี้จะเน้นไปที่สินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือยมากกว่าประชากรในพื้นที่ชนบททั่วไปของอินเดีย

ปัจจุบันในเมืองจัณฑีครห์มีศูนย์การค้าสมัยใหม่เปิดให้บริการแล้วจำนวน 3 แห่ง บนพื้นที่รวมกันประมาณ 1.6 ล้านตารางฟุต โดยศูนย์การค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ศูนย์การค้า Elante Mall และ The North Country Mall แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนในเมืองจัณฑีครห์ยังคงนิยมสินค้าไทยกันเป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลีได้ไปจัดงานแสดงสินค้า Thailand Week มาแล้ว และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเศรษฐีในเมืองนี้เป็นอย่างดีและยังมีเสียงเรียกร้องให้ไปจัดอีก ก็เป็นอันว่าเมื่อขอมาก็ต้องจัดให้

สำหรับในปีนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะไปจัดงาน Thailand Week อีกครั้งที่เมืองจัณฑีครห์ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-3 เมษายน 2559 ตามคำเรียกร้องของลูกค้าเศรษฐีเมืองนี้ และเป็นไปตามนโยบายบุกเมืองรองของกระทรวงพาณิชย์ ก็รับรองได้ว่าคงจะขายดิบขายดีแบบคนขายไม่มีเวลาพักผ่อนแน่นอนครับ ถ้าใครเคยไปค้าขายกับลูกค้าเศรษฐีอินเดียมาแล้วก็คงจะพอนึกภาพออกว่าขายดีขนาดไหน นโยบายบุกเมืองรองของกระทรวงพาณิชย์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะขยายตลาดอินเดียต่อไปในอนาคต โปรดติดตามต่อไปนะครับว่าเราจะไปบุกเมืองรองที่ไหนกันอีก