แก้ปัญหาเบิกจ่ายก่อนอัดงบ

แก้ปัญหาเบิกจ่ายก่อนอัดงบ

รัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการอัดฉีดเงิน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกระลอก

 ภายใต้แนวคิดการสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตจากภายใน และ สร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองกับท้องถิ่น อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยพยุงให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีเดินหน้า เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะตกต่ำ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจในประเทศจีน ทำให้การส่งออกไม่สามารถเป็นเครื่องยนต์หลักของระบบเศรษฐกิจไทยได้

โดยรัฐบาลมีแผนจะใส่เงินให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศจำนวน 7 หมื่นหมู่บ้านๆละ 5 แสนบาท รวมเป็นเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปสร้างโรงสีข้าว โรงอบ พัฒนาแหล่งน้ำ หรือ ลงทุนในเครื่องมือแปรรูปเกษตรกร เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังมีแผนที่จะแก้ไขเกณฑ์เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการใช้จ่ายเงินของท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันท้องถิ่นมีเม็ดเงินที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฝากรวมอยู่ในบัญชีธนาคารกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินนี้ หากนำออกมาใช้จ่าย จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก

แน่นอนว่า หากเม็ดเงินที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก สามารถนำไปใช้ได้ก่อประโยชน์อย่างสูงสุด ก็จะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศให้มีความเข้มแข็งทดแทนเครื่องยนต์ด้านการส่งออกที่มีปัญหา

แต่จากข้อมูลที่มีการรายงานในการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศครั้งที่ 1/2559 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น กลับพบว่า ผลการเบิกจ่ายเงินในโครงการ ตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ยกตัวอย่าง งบตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงิน 3.62 หมื่นล้านบาท ข้อมูลการเบิกจ่ายรายงานว่า มียอดโครงการของบจำนวน 1.29 แสนโครงการ อนุมัติ 87.13% เป็นเงิน 3.36 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 18 ม.ค.2559 มีการก่อหนี้ผูกพันไปแล้ว 2.3 พันล้านบาท หรือ 6.44% ของวงเงินรวม ในจำนวนนี้ มีการเบิกจ่ายได้ 1.22 พันล้านบาท หรือ 3.37%ของวงเงินรวม

งบสร้างอาชีพและสร้างรายได้ วงเงิน 3.2 พันล้านบาท ณ วันที่ 18 ม.ค.2559 มียอดก่อหนี้ผูกพัน 1.67 พันล้านบาท หรือ 52.09% ของวงเงินรวม เบิกจ่ายได้ 871 ล้านบาท หรือ 27.21% ของวงเงินรวม

งบลงทุนขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 18 ม.ค.2559 มียอดจัดสรร 3.97 หมื่นล้านบาท ทำสัญญาเบิกจ่าย 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 75.78% ของวงเงินรวม ในจำนวนนี้ เบิกจ่ายแล้ว 2.3 หมื่นล้านบาท หรือ 59.40% ของวงเงินรวม เหลือวงเงินยังไม่ทำสัญญา 9.6 พันล้านบาท หรือ 24.22%

ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบระดับท้องถิ่นดังกล่าว ทำให้รัฐบาลกังวลว่า ในช่วงสุญญากาศที่เม็ดเงินจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ลงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แถมยังได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก จึงจำเป็นต้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาเสริม

แต่แม้ว่า รัฐบาลจะมีแผนอัดฉีดเงินจำนวนมากเท่าใดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หากการเบิกจ่ายที่ล่าช้ายังเป็นตัวรั้ง และ ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เม็ดเงินอัดฉีดก็จะค้างลอยอยู่ในอากาศ ไม่ตกไปถือมือรากหญ้าตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้