การเมืองท้องถิ่นอินเดีย : คนไม่มีส้วมห้ามเล่นการเมือง

การเมืองท้องถิ่นอินเดีย : คนไม่มีส้วมห้ามเล่นการเมือง

ไม่ใช่ประเทศไทยเท่านั้นที่คิดจะแก้ปัญหาทางการเมือง โดยการตัดสิทธิ์ในการลงสมัครรับเลือกตั้งของคนที่คิดว่า

ถ้าเข้ามาแล้ว จะสร้างมากกว่าจะมาแก้ปัญหา

อย่างในกรณีของรัฐฮาเรียยานา ซึ่งเป็นรัฐเล็กๆ ทางตอนเหนือของอินเดียอยู่ใกล้เดลี ได้แก้กฎหมายเลือกตั้งในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ห้ามไม่ให้บุคคลที่มีคุณสมบัติต่อไปนี้ลงสมัครรับเลือกตั้งระดับท้องถิ่น นั่นคือ หนึ่ง ใครที่ยังติดคดีอาชญากรรมร้ายแรงอยู่ สอง ใครที่ค้างการชำระหนี้ธนาคารสหกรณ์ท้องถิ่น สาม ใครที่ค้างชำระค่าไฟ สี่ ใครมียังไม่มีห้องส้วมที่ใช้การได้ในบ้าน และ ห้า ใครที่ไม่มีวุฒิการศึกษาตามเกณฑ์ แม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ในบรรดาเงื่อนไขทั้งห้าข้อ ข้อไหนที่ท่านคิดว่าเป็นประเด็นถกเถียงกันมากที่สุด? ส้วม? ค่าไฟ? คำตอบคือ ข้อห้า ซึ่งเกณฑ์วุฒิการศึกษาที่กำหนดไว้คือ จะต้องจบมัธยมปลาย ส่วนผู้หญิงและวรรณะจัณฑาล (Dalit) จะต้องจบมัธยมต้น ที่ข้อห้าเป็นประเด็นก็เพราะ เกณฑ์ข้อนี้จะส่งผลให้ผู้คนในภาคชนบทของรัฐ มีผู้ร้องไปยังศาลสูงของอินเดียให้วินิจฉัยว่า การออกกฎหมายตัดสิทธิ์ดังกล่าวนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ปีที่แล้ว ศาลสูงของอินเดียได้วินิจฉัยรับรองกฎหมายเลือกตั้งว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลสูงอินเดียถูกวิจารณ์ว่า เป็นคำตัดสินที่แสนจะอนุรักษ์นิยม และถือเป็นการเบี่ยงเบนออกจากอุดมการณ์มีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งถือว่าเป็นการเบี่ยงเบนจากรากฐานของอุดมการณ์สาธารณรัฐของอินเดียด้วย เพราะตั้งแต่อินเดียประกาศเอกราช ค.ศ.1947 สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ถกเถียงกันไปแล้วในประเด็นเรื่องเกณฑ์วุฒิการศึกษาของผู้ลงคะแนนและผู้สมัคร ผลก็คือสภาร่างรัฐธรรมนูญลงมติไม่เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องมีเกณฑ์วุฒิการศึกษา โดยมีเหตุผลที่ต้องการให้สิทธิ์ในการเลือกตั้งและการลงสมัครเป็นสิทธิ์ของพลเมืองอินเดียทุกคน และต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากที่สุด

ในปีนั้นเอง คนอินเดียที่อ่านออกเขียนได้มีราวร้อยละ 12 เท่านั้น ดังนั้นการตัดสินใจดังกล่าวของสภาร่างรัฐธรรมนูญอินเดียจึงมองได้ 2 มุม นั่นคือ ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น หรือ กล้าได้กล้าเสีย เอาเสถียรภาพ ความมั่นคงและประสิทธิภาพของบ้านเมือง มาเสี่ยงกับมวลมหาประชาชนชาวอินเดียที่ส่วนใหญ่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

คนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยอินเดีย ย่อมสรุปว่า ผลที่ออกมาคุ้มค่า เพราะเมื่อเวลาผ่านไปหกทศวรรษของการปกครองที่มาจากเลือกตั้ง การเมืองอินเดียถือได้ว่ามีเสถียรภาพ และคนที่มีมุมมองเช่นนี้ย่อมจะตั้งคำถามว่า ทำไมสภานิติบัญญัติของรัฐฮาเรียยานาจึงจะต้องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งที่ยังไม่เกิดปัญหาทางการเมืองอะไรร้ายแรง และไม่เพียงแต่รัฐฮาเรียยานาเท่านั้น รัฐใหญ่อย่างราจัษฐาน (Rajasthan) ก็แก้กฎหมายเลือกตั้งของตนโดยเพิ่มเกณฑ์วุฒิการศึกษาในทำนองเดียวกันกับรัฐฮาเรียยานาด้วย

เหตุผลของฝ่ายที่ต้องการแก้กฎหมายคืออะไร? เหตุผลที่อัยการรัฐฮาเรียยานากล่าวต่อศาลสูงคือ รัฐบาลของรัฐจำเป็นต้องมีตัวแทนที่เป็นแบบอย่างสำหรับการปกครองตนเองของรัฐ นั่นคือ จะต้องทำให้มีการบริหารงานที่ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ที่จะเข้ามาเป็นนักการเมืองและข้าราชการของรัฐโดยการเลือกตั้ง ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชนในท้องถิ่น นั่นคือ ควรที่จะรู้หนังสือ ไม่มีหนี้สิน ไม่ค้างชำระสหกรณ์ และรวมถึงควรมีส้วมที่ใช้การได้ในบ้านของตัวเองด้วย

ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมาย (โดยเฉพาะคนจำนวนหนึ่งที่จะต้องตกงานไปทันที เพราะคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ที่ออกมาใหม่) มองว่า ข้ออ้างข้างต้นมีปัญหาใหญ่สองประการ ประการแรกคือ การขัดกันระหว่างกฎหมายท้องถิ่นกับกฎหมายเลือกตั้งระดับชาติ นั่นคือ ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ พลเมืองในรัฐฮาเรียยานาจะต้องมีวุฒิการศึกษาเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในท้องถิ่น ในขณะที่ในการลงสมัครรับเลือกตั้งสภาของรัฐหรือสภาระดับประเทศไม่ได้กำหนดเกณฑ์เช่นนั้นไว้

ปัญหาประการที่สองคือ ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากกฎหมายใหม่ก็คือ การตัดสิทธิ์คนจนซึ่งเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของรัฐที่ด้อยการศึกษา และการด้อยการศึกษานี้เป็นผลพวงของความล้มเหลวของทั้งรัฐบาลแห่งชาติ และรัฐบาลท้องถิ่นที่ไม่สามารถให้การศึกษาฟรีแก่คนอินเดีย ส่วนเหตุผลที่ศาลสูงให้ในคำวินิจฉัยคดีนี้ (คดี“Rajbala and Others vs. the State of Haryana and Others”) คือศาลอ้างขอบเขตของการพิจารณาคดีตามกฎหมายว่า หน้าที่ของศาลสูงคือพิจารณาว่าขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่พิจารณาว่ากฎหมายนี้ดีหรือไม่ดี ศาลจะพิจารณาให้การแก้กฎหมายเลือกตั้งของรัฐฮาเรียยานาเป็นโมฆะทันที

หากสภานิติบัญญัติของรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตในการผ่านร่างกฎหมายนี้ หรือในกรณีที่กฎหมายนี้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในความเสมอภาค เช่น การออกกฎหมายที่เลือกปฏิบัติอย่างไร้เหตุผล และอีกเหตุผลหนึ่งที่ศาลตัดสินให้กฎหมายนี้ผ่านคือ ถ้าพิจารณาถึงความสำคัญของการศึกษาที่มีต่อการบริหารงานที่ดี มันก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลที่จะกันคนที่มีการศึกษาไม่เพียงพอจากตำแหน่งที่จะส่งผลกระทบต่อสาธารณะ

ลองคิดว่า ถ้าบ้านเราใช้เกณฑ์ 5 ข้อในการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือรวมทั้งการเลือกตั้งทั่วไปด้วย แน่นอนว่า ใครที่ยังมีคดีความค้างอยู่และเป็นคดีอาชญากรรมร้ายแรง แม้ว่าจะมีหลักที่ว่า หากยังไม่ตัดสิน ต้องถือว่าบริสุทธิ์ แต่ทางที่ดีก็อย่าเพิ่งดีกว่า ถ้าคนที่มีวิจารณญาณด้วยตัวเองก็คงไม่ลงสมัคร รอให้คดีถึงที่สุดก่อน แต่ถ้าไม่มีข้อห้าม คนบางคนก็อาจจะพยายามเข้ามามีอำนาจทางการเมือง และอาจส่งผลต่อการตัดสินคดีของเขาก็ได้ ดังนั้น ข้อห้ามนี้เป็นเรื่องดี ส่วนเรื่องการค้างหนี้สหกรณ์หรือค่าไฟ ถ้าค้างนิดหน่อยๆ ก็น่าจะรีบไปเคลียร์เสีย แต่ถ้าค้างมาก ก็น่าคิดเหมือนกันว่า จะเข้ามาเล่นการเมืองเพื่อหาเงินปลดหนี้ตัวเองหรือเปล่า? คนที่มีวิจารณญาณ เขาก็คงจะรอเคลียร์หนี้ แต่คนที่ไม่มี ก็น่าจะมีข้อห้ามไว้ ที่จริงควรรวมถึงค่าอะไรต่อมิอะไรอื่นๆ ด้วย

และการเลี่ยงภาษีก็ต้องจัดให้อยู่ในคดีอาชญากรรมร้ายแรงด้วย เพราะคนที่เลี่ยงภาษีย่อมยากที่จะคิดดีต่อสาธารณะ ยกเว้นไม่เสียภาษีเพราะต้องการประท้วงรัฐบาลที่ฉ้อฉล และมีการทำจดหมายไปถึงสรรพากรอธิบายเจตนานี้ไว้ ส่วนเรื่องวุฒิการศึกษา ถ้าตั้งเป็นเกณฑ์ ก็จะมีคนแห่ไปเรียนในหลักสูตร “เรียนสนุก ลุกสบาย จ่ายครบ จบแน่ (และถ้าจะให้แน่จ่ายเหมา เอาเสื้อครุยไปเลย” จะเอาจนถึงปริญญาเอก ก็มีให้

ส่วนเกณฑ์เรื่องส้วม คงเป็นปัญหาสาธารณะเฉพาะของอินเดีย! แม้จะมีคนไทยที่ไม่มีส้วมที่บ้าน แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสาธารณะ