เสียงประชาชนเพื่อการปฏิรูป ประเด็นอนาคตประเทศไทย

เสียงประชาชนเพื่อการปฏิรูป ประเด็นอนาคตประเทศไทย

พร้อมๆ กับที่ได้เปิดเวทีประชาพิจารณ์ทุกจังหวัดกว่าแปดร้อยเวทีทั่วประเทศในปี 2558 เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน

ในประเด็นต่างๆรวมสิบแปดประเด็น ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ก็ได้มีการสอบถามความเห็นจากผู้เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ เกี่ยวกับอนาคตประเทศไทย ในหกเรื่องสำคัญ ซึ่งคณะทำงาน ในอนุกรรมาธิการสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป ได้รวบรวมไว้รวมทั้งสิ้น 15,284 ความเห็น และจัดลำดับตามจำนวนความเห็น ได้ดังนี้

1.เรื่อง ความฝันถึงอนาคตประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า มีจำนวน 5,442 ความเห็น สูงเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 35.60 ของความเห็นทั้งหมด

2.เรื่อง ความฝันถึงอนาคตของจังหวัดของท่าน มีจำนวน3,776 ความเห็น สูงเป็นอันดับสอง คิดเป็นร้อยละ 24.70 ของความเห็นทั้งหมด

3.เรื่อง ท้องถิ่น จังหวัดของท่าน ครอบครัว และตัวท่านจะต้องปฏิรูปอย่างไร มีจำนวน 3,002 ความเห็น สูงเป็นอันดับสาม คิดเป็น ร้อยละ 19.64 ของความเห็นทั้งหมด

4.เรื่อง จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ระบบ วัฒนธรรมประเพณี อย่างไร เพื่อให้ฝันเป็นจริง มีจำนวน 2,730 ความเห็น เป็นอันดับสี่ คิดเป็นร้อยละ 17.86 ของความเห็นทั้งหมด

5.เรื่อง อยากเห็นคนไทยและสังคมไทยเป็นอย่างไรหลังปฏิรูป มีจำนวน 245 ความเห็น เป็นอันดับห้า คิดเป็นร้อยละ 1.60 ของความเห็นทั้งหมด และ

6.เรื่อง การเสริมสร้างความสามัคคีปรองดอง มีจำนวน 89 ความเห็น เป็นอันดับสุดท้าย คิดเป็นร้อยละ 0.58 ของความเห็นทั้งหมด

รายละเอียดเรื่องความเห็นในแต่ละเรื่องมีความหลากหลายและข้อมูลทั้งหมดได้เก็บไว้ที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้สามารถมองเห็นภาพสำคัญ จากจำนวนความถี่ของแต่ละเรื่องก็คือ ประชาชนคนไทยให้ความสำคัญกับอนาคตของประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในอีกยี่สิบปีข้างหน้า ประเทศไทยควรจะไปทางใหน

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ) ที่กำลังทำหน้าที่ในปัจจุบันควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุด เพราะนี่คืออนาคตประเทศไทย ในขณะที่เรื่องการเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองเป็นเรื่องประชาชนให้ความสนใจน้อยสุดเพียงร้อยละ 0.58 ของความเห็นทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นสังคม ชุมชน ที่จำนวนความเห็นเรื่องการเสริมสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ มีความถี่เพียงแค่อันดับแปดของประเด็น หรือเพียงร้อยละ 4.70 ของความเห็นทั้งหมดในประเด็นสังคม ชุมชนเท่านั้น นั่นหมายความว่าเรื่องการปรองดองไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับประชาชนทั่วประเทศ เมื่อเทียบกับอนาคตของประเทศ ซึ่งอาจแปลได้ว่าประชาชนเห็นว่าเรื่องการปรองดองเป็นเพียงสถานการณ์ระยะสั้น ซึ่งในที่สุดก็จะผ่านเลยไป

บทเรียนความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดปี 2558 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าได้หลงประเด็นอย่างมาก ที่ให้ความสำคัญกับการปรองดองถึงขนาดที่จะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่ได้รับการท้วงติงจากทั้งในสภาและนอกสภา ทำให้สภาปฏิรูปแห่งชาติที่เปิดเวทีรับฟังเสียงประชาชนทั่วประเทศถึงกับมีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ และมีผลให้ร่างรัฐธรรมนูญต้องตกไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆที่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ตรงใจประชาชนและจะมีประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก จึงอยากให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ) ชุดปัจจุบันได้พิจารณาเรื่องนี้ให้ดี และจะถือเป็นการหลงประเด็นอย่างมากอีกเช่นกัน ถ้าจะยังดื้อดึงพยายามร่างรัฐธรรมนูญที่บรรจุเรื่องการปรองดองอันเป็นสถานการณ์ชั่วคราวมาบรรจุไว้อย่างถาวรในรัฐธรรมนูญที่อาจมีผลให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ผ่านการทำประชามติ และประวัติศาสตร์ก็จะซ้ำรอยในความล้มเหลวของการร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง

(หมายเหตุ บทความนี้เป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่อย่างใด)