เรียนรู้จากผู้นำ: เตรียมการรับวิกฤตด้วยแผนฉุกเฉิน

เรียนรู้จากผู้นำ: เตรียมการรับวิกฤตด้วยแผนฉุกเฉิน

ท่านผู้อ่านลองนึกภาพงานยิ่งใหญ่ ที่ผู้นำคนสำคัญซึ่งเป็นหลักในการบริหารระดับประเทศ หรือระดับโลกอยู่รวมตัวกัน

ผู้ที่มีเหนื่อยสุดคนหนึ่ง คือ..

คนทำหน้าที่รับมือกับวิกฤต ทั้งแบบเบๆพื้นๆ และแบบที่ไม่คาดฝัน ตลอดจนภยันอันตรายอื่นใด ที่มาได้แบบ 360 องศา

ลองมาดูตัวอย่างกันว่า เขาทำกันอย่างไรค่ะ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกิจกรรมทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่สำคัญยิ่งงานหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี นั่นคือ การสรุปผลงานและแถลงนโยบายประจำปีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีชื่อว่า การปราศรัย State of the Union

งานนี้ เป็นงานใหญ่ ที่บุคคลสำคัญในวงการเมืองของสหรัฐทั้งหลายทั้งหมด ควรจะต้องไปปรากฏกาย

สื่ออเมริกันบางแห่งฟันธงว่า งานนี้เป็น the ultimate see-and-be-seen affair หรือ เป็นงานอภิมหาอลังการที่นักการเมืองระดับสูงต้องไปพบปะกัน และที่สำคัญ คือ ต่างต้องไปปรากฏกายให้ใครๆประจักษ์ว่า..ข้าพเจ้าได้มางานนี้

งาน State of the Union ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยบุคคลสำคัญของประเทศที่มีมหาศัตรูอยู่ทั่วไปในโลก ย่อมมีความสุ่มเสี่ยงยิ่งด้านความปลอดภัย จนถูกจับตาจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้หวังร้าย ที่คอยจ้อง มองหารูโหว่อย่างมุ่งมั่น

ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ จึงมีแผนฉุกเฉิน สำรองเตรียมพร้อมไว้เพื่อปกป้องประเทศชาติ หากเกิดวินาศกรรมใหญ่หลวงที่เลวร้ายสุด หรือ Worst-Case Scenario ที่จินตนาการว่า ผู้ก่อการร้าย หรือมหันตภัยอันใดก็ตาม สามารถเล็ดหลุดผ่านกระบวนการป้องกันอันหนาแน่นปึ้กได้..

ส่งผลให้ใครต่อใครในงาน..มีอันเป็นไปเสียสิ้น

แผนนี้ คือ การแต่งตั้ง Designated Survivor “ผู้ถูกกำหนดให้รอดชีวิต”!

ในงานที่ทุกคนสำคัญต้องปรากฏกาย จะมีคนสำคัญยิ่งหนึ่งคน ที่ถูกกำหนดว่า “กรุณาอย่ามางาน!”

ทั้งนี้ เป็นเพราะท่านสำคัญยิ่งต่ออนาคตของสหรัฐอเมริกา

อย่างน้อยประเทศชาติก็ยังไม่หมดหวัง ทั้งยังไม่เกิดความสับสนอลหม่านเกินความจำเป็น หากเกิดวิกฤตนี้จริง

เพราะยังมีคนสำคัญหนึ่งคนที่พ้นปากเหยี่ยวปากกา แถมท่านนี้ได้รับการคัดกรองแล้วว่า สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปได้ในทันทีที่เกิดวิกฤต

ในปี 2016 นี้ บุคคลที่ไม่ปรากฏกายในงาน State of the Union เพราะถูกกำหนดให้ต้องเป็น “ผู้รอดตาย” คือ รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ Jeh Johnson

สาธารณชนจะไม่ตระหนักจนวินาทีสุดท้าย ว่าใครต้องทำหน้าที่นี้เพราะเหตุผลด้านความมั่นคงนั่นเอง

”ผู้ที่ต้องรอดชีวิต” มีทำหน้าที่สำคัญยิ่ง เพราะต้องปิดความเสี่ยงด่านสุดท้ายให้กับประเทศชาติ

ก่อนถึงวันสำคัญ จึงต้องเตรียมตัวหลายประการ อาทิ

ต้องผ่านกระบวนการฝึกซ้อม ที่ดำเนินการโดย Secret Service หรือ หน่วยภารกิจลับที่มีหน้าที่อารักขาผู้นำสหรัฐฯ ว่าหากเกิดวิกฤต ท่านต้องทำอะไร เมื่อใด ที่ไหน และอย่างไร ให้เป๊ะ

เพื่อให้มั่นใจว่าไม่โดนลูกหลงใดๆ ท่านต้องไม่อยู่กรุง Washington D.C. ที่เป็นสถานที่จัดงาน State of the Union

นอกจากนั้น ต้องทำหน้าที่หลัก คือ ”ห้ามตาย” ในคืนสำคัญของวันงาน!

ระหว่างคืนวันงาน Designated Survivor จึงถูกประกบติดโดยทีมที่ประกอบด้วย แพทย์ กลุ่มเจ้าหน้าที่อารักขาหนาแน่น และ นายทหารระดับสูง 1 นาย ผู้ทำหน้าที่ถือรหัสปุ่มนิวเคลียร์ ที่เรียกว่า Gold Codes ซึ่งเป็นรหัสลับเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่สามารถตัดสินใจใช้ระเบิดนิวเคลียร์ได้ในกรณีฉุกเฉิน

ถอดบทเรียน

แผนการเตรียม Designated Survivor ถือ เป็นแผนฉุกเฉิน สำรอง เตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ยามที่ไม่สามารถป้องกันวิกฤตอยู่

หลายท่านรู้จักแผนนี้ในนาม Contingency Plan หรือ มีชื่อไม่เป็นทางการว่า “แผน B” ซึ่งเป็นแผนที่พร้อมถูกนำไปใช้ในกรณีที่แผนปกติ หรือ “แผน A” ติดขัด หรือ ล้มเหลว

ในการเตรียมพร้อมรับมือและบริหารวิกฤตอย่างมืออาชีพ สิ่งสำคัญหลักที่ต้องทำ คือ

1. คาดการณ์ว่ามีความเสี่ยงใดอาจเกิดขึ้นได้บ้าง

2. จากนั้นประเมินว่าแต่ละความเสี่ยง มีความเป็นไปได้ในการเกิด (Probability) และ ความรุนแรง (Seriousness) ระดับใด

3. เลือกความเสี่ยงที่สำคัญ เพื่อทำแผน 2 ประเภท คือ

แผนป้องกันไม่ให้ภัยเกิด ที่เรียกว่า Prevention Plan

แผนฉุกเฉินรองรับ หรือ Contingency Plan ในกรณีที่กันความเสี่ยงไม่อยู่

4. สื่อสาร สร้างความเข้าใจกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนฝึกฝน ซักซ้อม เพื่อความมั่นใจหากต้องดำเนินการจริง

ในกรณีตัวอย่างข้างต้น ความเสี่ยงระดับประเทศของงาน State of the Union คือ การก่อวินาศกรรมโดยผู้ก่อการร้าย ซึ่งหมายทำลายชีวิตผู้นำส่วนใหญ่ในงาน

แม้ความเป็นได้ในการเกิดวินาศกรรม ถูกจำกัดลงด้วยวิธีกลั่นกรองป้องกันมากมาย (Prevention Plan) อาทิ การมีเครื่องบินรบในน่านฟ้า เพื่อสกัดเครื่องบินต้องสงสัย ตลอดจนการกระหน่ำทั้งพลังเทคโนโลยี และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง แต่ก็มิได้แปลว่า สามารถกันภัยได้ 100%

ขณะเดียวกัน ผลกระทบ ในกรณีที่เกิดการก่อวินาศกรรม คือ ประเทศชาติอาจเสียผู้นำทั้งกลุ่มอย่างกะทันหัน ก่อให้เกิดวิกฤตสับสนอลหม่านที่ร้ายแรงเกินรับได้

ดังนั้น รัฐบาลจึงตัดสินใจว่า ต้องมีแผนฉุกเฉินรองรับความเสี่ยงนี้ โดยแต่งตั้ง Designated Survivor ซึ่งพร้อมที่จะเข้าสวมตำแหน่งประธานาธิบดีได้ทุกวินาที ทั้ง Designated Survivor จะมิใช่คนเดิมๆที่อาจกลายเป็นเป้านิ่ง ชิงไปก่อน

โดยภารกิจของ Designated Survivor จะสิ้นสุดลงทันทีที่งานจบ

กลับมาที่บ้านเรา ท่านผู้อ่านมีความเสี่ยงใดบ้างที่ต้องไล่เรียง เพื่อตัดสินใจต่อไปว่า จะทั้งกัน แก้ และสร้างแผนรองรับ เพื่อผ่อนหนักเป็นเบา อย่างไรได้บ้าง

ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยภัยรอบกาย และสิ่งที่ไม่อาจคาดคิดได้จากน้ำมือคนด้วยกัน

การเตรียมความพร้อมอย่างมีระบบ บนพื้นฐานของความไม่ประมาท

จึงถือเป็นศาสตร์สำคัญของมืออาชีพอย่างแท้จริง

---------------------------

ไม้จิ้มสมอง

“The best way to predict the future is to create it.”

Peter Drucker

Management Guru

“วิธีที่ดีที่สุดในการทำนายอนาคต คือ การกำหนดมันเอง”

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการ