มีอะไรใน EGM (การประชุมวิสามัญ)

มีอะไรใน EGM (การประชุมวิสามัญ)

การประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น เป็นเรื่องปกติไปแล้ว เพราะเป็นภาคบังคับในฐานะของการเป็นบริษัทมหาชน

และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีข้อกำหนดไว้ว่า ต้องจัดภายใน 120 วัน หลังปิดรอบบัญชีประจำปีนั้นๆ ส่วนใหญ่ คือภายใน 30 เมษายนของทุกปี สำหรับบริษัทที่มีรอบบัญชี 30 ธันวาคม

กฎหมายเปิดช่องไว้ว่า หากมีเรื่องเร่งด่วนระหว่างปี บริษัทสามารถเรียกประชุม “วิสามัญ” ได้ และให้ใช้เกณฑ์เดียวกับการประชุมสามัญ สำหรับการลงมติ ในวาระต่างๆ

ผู้ลงทุนมักจะเห็นความสำคัญของการประชุมสามัญประจำปี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว พวกเขาสามารถซักถาม ประเด็นต่างๆ ได้ตามสิทธิพึงมี และผู้บริหารควรต้องตอบทุกคำถาม จนสิ้นข้อสงสัย

การประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น หรือ Annual General Meeting-AGM เป็นเวทีเปิดกว้างสำหรับผู้ถือหุ้นทุกคน สามารถมาใช้สิทธิในการเข้าร่วมประชุม และเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว รวมทั้งสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย มีการส่งตัวแทนสมาคม คือ อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น เข้าร่วมประชุม และประเมินคุณภาพการจัด ต่อเนื่องมานาน 10 ปี แล้ว

ดิฉันจึงอยากชวนหันมามองการเรียกประชุม “วิสามัญ” เพราะในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา มีนัยยะ น่าสนใจยิ่งนัก

การประชุมวิสามัญ-Extra General Meeting ชื่อก็บอกชัดว่า เป็นแบบพิเศษ ไม่ธรรมดา ผู้บริหารจึงสามารถเรียกประชุมได้ ตามที่เห็นความจำเป็น เมื่อต้องขอมติจากเจ้าของบริษัท ในการกระทำการใดๆ ที่มีผลต่อ การดำเนินงานของบริษัท

อาจด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การตัดสินใจให้ทันการ จึงเป็นเหตุให้บริษัทต้องเรียกประชุม ในจำนวนมากขึ้น สถิติในรอบ 3 ปี พบว่า มีอัตราเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 15 ต่อปี และเมื่อมองเข้าไปในวาระการประชุมจะพบประเด็นที่น่าสนใจ

ในรอบปี 2558 ที่เพิ่งจะผ่านไป มีการเรียกประชุมวิสามัญจำนวน 153 บริษัทหรือราว 1 ใน ของบริษัทจดทะเบียนของทั้งตลาดหลักทรัพย์ วาระยอดนิยมมากที่สุด คือ วาระการเพิ่มทุนจำนวน 47 บริษัท โดยเป็นการเพิ่มทุนเพื่อจัดสรรรองรับวอร์แรนท์ 27 บริษัท จัดสรรให้กับกลุ่มเฉพาะเจาะจง 19 บริษัท และจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม 17 บริษัท

รองลงมา คือ วาระการเข้าร่วมทุนกับบริษัทอื่นจำนวน 41 บริษัท วาระ การลดทุนจำนวน 25 บริษัท วาระการแต่งตั้งกรรมการ 21 บริษัท และวาระการมีรายการเชื่อมโยงกัน เปลี่ยนชื่อบริษัทจำนวนวาระละ 9 บริษัทเท่ากัน

ข้างต้นสะท้อนว่า มีความนิยมในการเรียกประชุมวิสามัญมากขึ้นและสังเกตพบว่า มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมน้อยมาก ทำให้การผ่านวาระ ทำได้ไม่ยากเย็น

ผู้ถือหุ้นควรมีส่วนในการรับรู้ รับฟังข้อมูล จากฝ่ายบริหาร อาทิ เหตุผลของการเพิ่มทุนเพื่อการใด การจัดสรรให้กับผู้ลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กรในด้านใดบ้าง หรือเป็นเพียง “ขาจร” หรือ “ขาใหญ่” ที่โฉบมาเพียงประเดี๋ยวประด๋าว และเทหุ้นขาย บ่ายหน้าเดินจากไป

การร่วมทุนกับบริษัทอื่น ควรมีข้อมูล ที่มา ที่ไป ของโครงการอย่างชัดเจนพอ ว่าเงินที่นำไปร่วมกันลงทุนนั้น งอกเงย นำมาซึ่งผลประโยชน์กลับคืนมาอย่างไร ภายในกี่ปี หรือเพียงใส่เงินทุน แล้วหายละลายไป แบบนี้ผู้บริหารที่ตัดสินใจ ต้องรับผิดชอบด้วย น่าจะดี

การแต่งตั้งกรรมการ ส่วนใหญ่มักจะใช้เวทีการประชุมสามัญประจำปี จะสง่างามกว่า แต่ก็มีให้เห็นกันว่า มีวาระการเรียกประชุม เพียงวาระเดียวเท่านั้น คือ วาระการแต่งตั้งกรรมการ-เมื่อกรรมการคนนั้นหมดวาระจากการเป็นรัฐมนตรี และกลับเข้ามาเป็นกรรมการอีกครั้ง ก็มีให้เห็นกันไปแล้ว

การมีรายการเชื่อมโยงกัน เรื่องนี้ ทั้ง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ต่างให้น้ำหนักความสนใจเป็นพิเศษ พบว่ามีการตามติดถึงความเกี่ยวโยงอย่างถึงแก่น รายการการเปิดเผยจึงต้องชัดเจน มีบางรายอธิบายไม่ได้ วกวนจนจับผิดได้ว่า เกี่ยวโยงกัน

บางบริษัทถนัดเน้นเรื่องชื่อบริษัท ที่มีความสำคัญต่อจิตใจ วันนี้การเปลี่ยนชื่อจนอาจจดจำชื่อเดิมไม่ได้เหมือนการเปลี่ยนชื่อร้าน เจ้าของร้านควรมีส่วนรับรู้ ด้วยใช่ไหม

ประมวลภาพแล้ว ดิฉันขอลงความเห็นว่า ผู้ถือหุ้นไม่ควรละเลยการเข้าร่วมประชุมวิสามัญ เพราะมีอะไร อะไร มากจริงๆ

ส่วนในปี 2559 จะมีสถิติการเรียกประชุมวิสามัญมากน้อย และวาระเป็นอย่างไร ติดตามกันได้ค่ะ