สวัสดีปีใหม่ครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ

ปี 2559 นี้น่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่ตลาดการเงินจะมีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงและผันผวน

ปี 2558 เป็นปีที่เราเฝ้ามองดูว่า Fed จะทำอย่างไรและเมื่อไหร่ ซึ่งตอนนี้ไม่ต้องรอแล้วนะครับ เพียงแต่ว่าตลาดการเงินมักจะมองไปข้างหน้าเสมอ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร เพียงแต่ในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและเสรี บางทีเราก็ต้องปรับตัวของเราด้วยนะครับ การที่อ่านข่าวจาก monitor ของ Reuters หรือ Bloomberg แล้วรู้อะไรเกิดขึ้นก่อนชาวบ้านเพียงเล็กน้อย ยังสามารถทำเงินได้อย่างมหาศาล เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะ “Privilege” มาในยุคนี้ คนรุ่นใหม่ก็ไม่มีทางเข้าใจว่า อ่านข่าวทำไมต้องอ่านจาก monitor เท่านั้น (น่าขำจริง ๆ) เพราะทุกวันนี้ ทุกอย่างมันอยู่บนฝ่ามือเรา หรือข้อมือเรา หรือแม้แต่ที่แว่นตาเรา เพียงแต่ว่าไม่ว่าจะยุคไหน สมัยไหน สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงและเป็นอมตะก็คือ วิจารณญาณ (Judgement) และด้วยวิจารณญาณเท่านั้นที่จะแยกคนสำเร็จออกจากคนล้มเหลวนะครับ 

บทความส่งท้ายปี 2558 ของผมได้เรียนท่านผู้อ่านในมุมมองที่ผมดู ผมเห็นว่าในปี 2559 จะเกิดอะไรขึ้น จะไม่กล่าวซ้ำอีก (ไปหาอ่านซ้ำได้ที่ satiancomment:blogspot.com รวมถึงบทความในอดีตของผมด้วยนะครับ) มีบางประเด็นที่มีผู้รู้หลายท่านได้วิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นออกมาคล้าย ๆ กับของผม ซึ่งน่าจะแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เรียนไปนั้น น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง ๆ ขอยกตัวอย่างเรื่อง ค่าของเงินดอลลาร์ที่มุมมองออกมาคล้าย ๆ กันว่า จะมีค่าสูงขึ้น เหตุผลหลักก็น่าจะเป็นเพราะการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยที่คงจะทำให้ดอลลาร์ “ดูดี” ทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าของดอลลาร์สูงขึ้นดังกล่าวนะครับ ดังนั้น ท่านที่มีส่วนได้ส่วนเสียคงต้องทำอะไรสักอย่างนะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องเงินในกระเป๋าของท่าน ไม่ให้มัน “หาย” ไป ส่วนจะทำให้มันงอกด้วยหรือไม่อย่างไร คงไม่สามารถแนะนำตอนนี้และตรงนี้ได้นะครับ อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเรียนเตือน นอกเหนือจาก “price risk” ที่เรียนไว้มาเป็นส่วนใหญ่แล้วนะครับ ผมก็อยากจะต้องเรียนท่านผู้อ่านให้ตระหนักถึงเรื่องการบริหารสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน (Business Continuity Plan ; BCP) เมื่อเหตุการณ์คือมันก็บอกอยู่แล้วว่า ฉุกเฉิน หากไม่มีการเตรียมตัวและเตรียมใจรองรับความเสียหายจะเกิดขึ้นได้ BCP นี้ต้องทำในทุกระดับเลย ตั้งแต่ระดับโลกลงมาถึงระดับชาติ, ระดับองค์กร และระดับครอบครัว บทเรียนในอดีตน่าจะนำมาเป็นข้อสรุปได้สำหรับแผนฉุกเฉินนะครับ และแผนที่ดีนอกจากจะต้องเป็นไปได้ในทางปฏิบัติแล้ว ยังต้องมีการซ้อมอยู่เนือง ๆ นะครับ

ขออนุญาตยกตัวอย่างที่ผมคิดว่าคงต้องมี BCP นะครับ ผมเชื่อว่า การบริหารความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในโลกดิจิทัลปัจจุบัน ซึ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงมาก จนไม่ทันตั้งตัว การเคลื่อนย้ายเงินทุนไม่ว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามปัจจัยทางด้านตลาดเงินหรือเป็นแบบทันทีทันใด เนื่องมาจากปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ด้านตลาดเงิน จำเป็นที่จะต้องมีแผน BCP ไว้นะครับ เราอาจนำบทเรียนจากในอดีตมารับใช้ปัจจุบัน เช่น กรณีวิกฤต ปี 2540 เป็นต้น BCP สำหรับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องต้องทำในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติลงมาจนถึงระดับปัจเจกบุคคลได้เลย ในกรณีที่มีเงินทุนไหลออกอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลงแล้ว ทางด้านสภาพคล่องก็จะหดหายไปด้วย ทางการก็ต้องวางแผนที่ปฏิบัติได้ว่าจะต้องทำอย่างไรที่จะเอาเงินที่ไปกองอยู่ออกมาสู่ระบบให้รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคนิคหรือข้อจำกัดอื่น ๆ เช่น กฎระเบียบที่ไม่เอื้อก็ต้องทำให้ไม่เป็นอุปสรรคนะครับ เตรียมกันตอนนี้ให้พร้อม เมื่อถึงเวลาเกิดขึ้นจริง จะได้นำออกมาใช้ได้เลยนะครับ ทางด้านปัจเจกบุคคล ก็อาจจะต้องมีการจัดสรรสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้พอเหมาะพอสมนะครับ ในลักษณะที่จะต้องมีส่วนหนึ่งที่เพียงพอสำหรับการจับจ่ายใช้สอยในกรณีที่เกิดวิกฤต ไม่อย่างนั้นอาจจะไปจมอยู่ในสินทรัพย์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดได้ง่ายนะครับ บทเรียนปี 2540 น่าจะสอนเราได้ว่า เงินทองที่ไปจมอยู่ในสินทรัพย์ที่เปลี่ยนสภาพเป็นสภาพคล่องได้ยากจะทำให้เรานั้นกลับมาเจอปัญหาไม่มีเงินจะใช้ได้ และสินทรัพย์เหล่านั้นก็จะมีราคาตกลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีคนแห่กันขาย แต่ไม่มีคนจะซื้อ ซึ่งหมายความว่า ท่านจะมีความเสี่ยง 2 อย่าง พร้อมกันคือ liquidity risk และ price risk เลยนะครับ

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะเรียนท่านผู้อ่านนะครับ คือเรื่อง การวิวัฒนาการของยุคดิจิทัลของ Financial Technology ซึ่งผมเชื่อว่า จะมีการวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว จนพวกเราอาจจะตามไม่ทัน มีการพูดถึงกันอยู่บ้างตามสื่อต่าง ๆ ซึ่งผมคิดว่า การรับรู้เรื่องพวกนี้ของพวกเรายังน้อยกว่าของประเทศอื่น ๆ นะครับ สิ่งที่เป็นแรงขับที่สำคัญที่จะทำให้ Financial Technology เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนที่ง่ายเข้าและทั่วถึง, การปรับปรุงความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และสุดท้ายการนำมาใช้ของ Cloud และ Big Data (เอาล่ะสิ เริ่มจะยากขึ้น) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นแรงขับดันให้ E-Commerce, E-payment, Crowd Funding และการใช้ Big Data แพร่หลายมากขึ้น สำหรับเมืองไทยนั้น สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ บทบาทของทางการ ที่นอกเหนือจากการส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริง ก็คือเรื่องการกำกับดูแลและปรับปรุงกฎระเบียบให้สามารถ “กำกับดูแล” ได้อย่างแท้จริง เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะเป็น trend ของโลก หากเราไม่ทำคงไม่มีใครว่าอะไร แต่เราคงจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่องนะครับ ผมคิดว่าเพียงทำตัวเราให้ทันสมัยพอดี ๆ ไม่ต้องล้ำหน้าหรือล้ำสมัยก็ดีพอแล้วครับ เจอกันใหม่เดือนหน้านะครับ