วันชอปปิงแห่งชาติ

วันชอปปิงแห่งชาติ

นับถอยหลังสู่ปีใหม่ 2559

หลากของขวัญปีใหม่ ที่รัฐบาลประยุทธ์หวัง “คืนความสุข” ให้ประชาชน หนึ่งในนั้นคือ มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ช่วงโค้งสุดท้ายของปี

ด้วยการคืนความสุขให้ผู้บริโภค หรือ “เหล่านักช้อป”

หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ เป็นเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค.2558 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

โดยสามารถนำใบกำกับภาษี “ฉบับเต็ม” ที่ได้จากการซื้อสินค้าและบริการ มาขอลดหย่อนภาษีได้ ในวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 15,000 บาท

วันแรกของการเริ่มต้นมาตรการ ตรงกับวันคริสตมาสต์ (25ธ.ค.) แม้จะไม่ใช่วันหยุด แต่พบว่า ผู้บริโภคให้ความสนใจ เข้ามาใช้บริการในห้างค้าปลีก กันคึกคัก ในฟากของห้างค้าปลีกเอง ก็“โหนกระแส” มาตรการนี้สุดฤทธิ์ โดยเร่งระดมอัดแคมเปญ โปรโมชั่น “พ่วง” ไปกับมาตรการดังกล่าว กลายเป็น“พลังบวก” ในการกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชน ในช่วง “7 วันชอปปิงแห่งชาติ”

มาตรการนี้ ยังส่งความสุขท่วมท้นไปถึงฟากผู้ผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงห้างร้าน (ปัจจุบันมีร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม 4 แสนราย) จาก “ยอดขาย” ที่จะพุ่งขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติ หลัง “กำลังซื้อ” ซบเซาต่อเนื่อง

“บรรยากาศ” ของการจับจ่ายจึงถือว่า สำคัญมาก ซึ่งนับว่ารัฐประสบความสำเร็จในการกระตุ้นบรรยากาศแห่งการจับจ่ายกลับคืนมา แม้ผู้บริโภค (มนุษย์เงินเดือน-ผู้มีเงินได้) จะรู้ทั้งรู้ว่า วงเงินภาษีที่ลดได้ ถือว่า “ไม่ได้มากมายนัก"

แต่ “ความรู้สึกสนุก” (อีโมชั่นแนล) ในการช้อป เริ่มกลับมาแล้ว...!!!

ยิ่งวันที่สอง-สามของมาตรการ ซึ่งตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ จะพบว่า บรรยากาศแห่งการช้อป คึกคักอย่างยิ่ง ห้างส่วนใหญ่รถติดหนัก ผู้บริโภครอคิวขอใบกำกับภาษียาวเหยียด

โดยรัฐประเมินว่า มาตรการระยะสั้นนี้ จะทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจมากถึง 1.5 แสนล้านบาท ดันการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้เพิ่มขึ้น 0.1-0.2%

แลกกับการต้องเสียรายได้จากการลดหย่อนภาษีราว 4,000-5,000 ล้านบาท

ในมุมรัฐ น่าจะมองว่า “คุ้ม” 

ทว่า ในมุมผู้บริโภค ขอให้ช้อปอย่างมีสติ ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง โดยยังไม่เห็น “สัญญาณบวก” ของการฟื้นตัวที่ชัดเจนในปีหน้า 

โดยเฉพาะ การรูดปรื้ดชำระค่าสินค้า “ผ่านบัตรเครดิต” 

หากครองสติไม่อยู่ วงเงินใช้จ่ายอาจบานปลาย กระทบรายได้ในอนาคต “หนี้ครัวเรือน” ที่จะพุ่งสูงขึ้น กลายเป็น “อีกปัญหา” ปวดหัว บั่นทอนเศรษฐกิจ 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ จึงไม่ควรส่งผลกระทบชิ่งกลายเป็นการเพิ่มปัญหาใหม่

ทั้งภาระหนี้ประชาชน และหนี้ของรัฐ จากการจัดเก็บภาษีได้ลดลง  

น่าจะด้วยเหตุผลนี้ ทำให้รัฐ “จำกัด” ขอบเขตของมาตรการไว้เพียง “7 วัน” ขณะที่ “ภาคธุรกิจ”บางราย ให้ความเห็นว่า “ควรยืด” ระยะเวลาของมาตรการออกไปจนถึง “ต้นปีหน้า” หากต้องการจะกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างจริงจัง

งานนี้ รัฐอาจจะต้อง “ใจแข็ง” ประเมินให้ดีว่าท้ายที่สุดแล้ว

ผลกระทบที่จะตามมาคืออะไร..ได้คุ้มเสียหรือไม่ ?