ทักษะใหม่ ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ Creativity (2)

ทักษะใหม่ ว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ Creativity (2)

สัปดาห์ที่ผ่านมา เราเริ่มคุยกันเรื่องที่พี่ทุกคนในองค์กร อยากให้ทุกคนมี (รวมถึงตัวพี่เอง) นั่นคือ

การมีความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มมุมมองใหม่ๆให้หลากหลาย จะได้ร่วมด้วยช่วยกันคลี่คลายปัญหา ที่ทุกวันนี้ มีใหม่ๆ มาให้ตื่นตาตื่นใจไม่เว้นแต่ละวัน

ดิฉันเล่าเรื่องผลงานของอาจารย์ Robert Epstein ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยด้านจิตวิทยา แห่งสถาบันการวิจัยและเทคโนโลยีด้านพฤติกรรมศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ที่ศึกษาเรื่องวิธีการส่งเสริมให้ทีมงานในองค์กรมีความคิดสร้างสรรค์

อาจารย์ฟันธงว่า ทักษะพื้นฐานที่จะช่วยเอื้อให้ความคิดโลดแล่น แก่นๆ มี 4 วิธี

2 แนวทางที่ขยายความแล้ว คือ

1. ขยายความรู้และทักษะให้กว้างขึ้น Broaden Knowledge & Skills

เติมความรู้และทักษะ ในประเด็นที่นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในงานปกติของเรา

เพราะ “ความหลากหลาย” เป็นยาคลายโรคสมอง “ผูก” ที่ก่อให้เกิดอาการอัด อืด ไม่ระบายไหลลื่น คล้ายกับอาการของท้อง ยาม “ผูก” นั่นเอง

2. เปิดใจกว้างรับแนวคิดใหม่ๆและจดจำไว้ Capture New Ideas without Editing Them

มีไอเดียหลายหลาก มากไว้ย่อมดีกว่ามีน้อย

อย่าเพิ่งกรองกลั่นเร่งหั่นออก บอกว่า ไอเดียนี่นั่นไม่น่าใช่ ไม่น่าได้

เกิดไอเดียใหม่แว้บแปล๊บเหมือนสายฟ้า หาวิธีบันทึกไว้ก่อนถูกลืมเลือนไป เพื่อนำมาเรียบเรียง เลือก และ ต่อยอดต่อไป

วันนี้มาคุยกันต่อถึงอีก 2 หัวข้อของพฤติกรรมที่อาจารย์ Epstein แนะว่าควรมี เพื่อ Creativity ที่ใครๆต้องการกันค่ะ

3. จัดการกับสภาวะรอบข้าง Manage Surroundings

เปิดโอกาสให้สมองมีมุมมองใหม่ๆ โดยใช้สิ่งรอบกายเป็นปัจจัยกระตุ้น ลุ้นจินตนาการ

พวกเราล้วนเคยมีอารมณ์เหงา เศร้า เซ็ง เบื่อ ยิ่งรอบตัวมีความอึนๆ มัวๆ เช่น รก ซ้ำ จำเจ พลังในกายดูจะอันตรธานแห้งหด พลังสมองก็ลดเหือดหาย

แล้วจะเอาอะไรเป็นเชื้อไฟไอเดีย!

สมองก็เซ็งเป็น เฉกเช่นเจ้าของ

มืออาชีพที่โดดเด่นด้านความคิดเปลี่ยนโลก อาทิ Steve Jobs, Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft, หรือ Mark Zuckerberg แห่ง Facebook ล้วนแล้วแต่เป็นต้นแบบในเรื่องนี้

ตัวอย่างเช่น ยามที่คุณอา Gates ครองเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดของ Microsoft แกน่าจะยุ่งไม่น้อยไปกว่าผู้บริหารทั่วไปในโลก แต่คุณอาตั้งใจจัดการเวลา และเคาะเป็นกติกากับตนเองและทีมงานว่า

ทุกปีผมจะมี Think Weeks หรือ เวลาปลีกวิเวกเพื่อปลดปล่อยความคิดติดต่อกัน 7 วัน ปีละ 2 ครั้ง

อีกตัวอย่าง เช่น องค์กรสัญชาติออสเตรเลีย ชื่อ Atlassian ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการสร้าง software มีกติกาว่า ทุกเดือน จะกัน 24 ชั่วโมงเต็มให้ทุกชีวิตในองค์กรสำหรับปรับเปลี่ยนบริบทการทำงาน

ใครจะทำงานอะไรก็ได้ กับใครก็ได้ ในทีมใดก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เพื่อช่วยกันคิดว่า เราน่าจะทำอะไรใหม่ๆในองค์กรบ้าง

ปรากฏว่า 24 ชั่วโมงนี้ มีค่ายิ่ง เพราะเป็นที่มาของหลากหลายสิ่ง ตลอดจนวิธีแก้ปัญหา ที่ผู้บริหารมั่นใจว่าหาไม่ได้ ถ้าให้ทีมงานทำงานแบบเดิมๆ ซ้ำๆ จำเจ

มืออาชีพยุคนี้ จึงต้องมีเวลาสรรหาสภาวะแวดล้อมใหม่ อาทิ ได้ทำงานนอกสถานที่บ้าง กับทีมที่ไม่เคยทำงานด้วยกันบ้าง กับหลากวัยที่มีมุมมองต่างกันบ้าง

หรืออย่างน้อย ก็ค่อยๆปรับโต๊ะทำงาน เพิ่มเติมให้มีสีสันสดใส จัดให้ไม่สกปรก รกรุงรัง

หรือหาเวลาเปิดทั้งหู ตา และใจ โดยไปสัมผัสธรรมชาติ

ตลอดจนหาโอกาสเดินทางเพื่อสร้างจินตนาการ ฯลฯ

สารพัดวิธีน้อยใหญ่มากมายให้ลองปรับสภาวะรอบข้าง

...ขึ้นอยู่กับจะตั้งใจจริงปรับหรือไม่..กระมัง

4. แสวงหาความท้าทาย และ เรียนรู้ที่จะยอมให้ “ผิดเป็นคุณครู” Seek Challenges and Manage Failure Constructively.

จินตนาการและสมองมีพฤติกรรมคล้ายกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ของร่างกาย

จะให้แข็งแรงแคล่วคล่อง ต้องใช้งานเขาบ่อยๆ

หากทำอะไรเดิมๆซ้ำๆ จนสมองเริ่มจำได้ เขาก็จะใช้วิธีง่ายๆ เดิมๆ ไม่ต้องเริ่มคิดใหม่

เพราะน้องสมองมองว่า ถ้าเก็บพลังไว้ได้ ควรเก็บไว้ใช้ยามจำเป็นค่ะ

เมื่อทำงานที่คุ้นเคย สมองอันชาญฉลาดของมนุษย์ จึงหยุดคิด โดยส่งไปสู่ระบบสั่งการอัตโนมัติ จัดให้แบบที่เคยใช้ ไม่เหนื่อยดี

เสมือนหยาดฝนที่หล่นปะทะกระจกหน้าต่าง

เมื่อใดที่หยดน้อยๆเริ่มรวมกันไหลลงเป็นสายน้ำเล็กๆ หยดใหม่ที่ลงมาใกล้ๆ เขาจะเลิกหาทางลงใหม่ ใช้ทางสายเก่า สบาย ง่ายดี

ประโยชน์ของการขยายความรู้และทักษะให้กว้างขึ้น เรียนรู้สิ่งใหม่ๆในข้อ 1 จึงช่วยความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของสมองน้องเรา

การทำสิ่งใหม่ๆ ทุกอย่างย่อมไม่ง่าย ไม่เข้าข่ายสิ่งที่คุ้นเคย

เข้าระบบอัตโนมัติเมื่อใด มีสิทธิก้าวผิดเสมอ

น้องสมองจึงต้องตื่นขึ้นมาทำงานต่อเนื่อง ทำให้เปรื่องปราชญ์ อย่างยากที่จะใช้วิธีอื่นใด เพื่อให้สมองได้ออกกำลัง

ประโยชน์ของความท้าทายใหม่ๆ ที่สำคัญไม่แพ้การออกกำลังสมอง คือ การเรียนรู้และฝึกที่จะ “ล้ม” ให้เป็น

เมื่อทำสิ่งใหม่ๆ ผลงานแรกๆ อาจไม่สมบรูณ์

อาจไม่ประสบความสำเร็จ

ซึ่งถือเป็นการฉีดวัคซีน “สร้างภูมิคุ้มกัน” ชั้นดี

สร้างความคุ้นเคยว่า ผิดได้ แต่ต้องให้เขาเป็นครู

โดยพยายามไม่ให้ผิดซ้ำ จำครูให้ได้ อย่าใช้ “ครู” คนเดิมบ่อยๆ จนครูเบื่อ

สรุปว่า ความท้าทาย อุปสรรค และความผิดพลาด เป็นโอกาสทองของการคิดหาหนทางใหม่ๆ

คนที่กลัวผิด เลยไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำสิ่งใหม่

ต้องใช้คำของท่านปรมาจารย์นักคิด Albert Einstein เตือนใจว่า

“Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results.”

“ความบ้า คือ การทำแบบเดิมๆ และคิดว่าผลลัพธ์จะแตกต่างจากเดิม” นั่นเอง