รู้เท่าทันข่าว…การล้ำเส้นงานประชาสัมพันธ์

รู้เท่าทันข่าว…การล้ำเส้นงานประชาสัมพันธ์

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านสื่อแพลตฟอร์มสื่อใหม่ เราจะเห็นได้ถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

 หาข้อมูลจากสื่อมวลชนกระแสหลัก มาสู่การนั่งรออ่านข่าวบนหน้าจอที่สังคมออนไลน์ถาโถมมาให้อ่าน ทั้งที่มาจากสำนักข่าวกระแสหลักและมาจากบุคคลธรรมดา ซึ่งไม่ได้มีทักษะการทำข่าวแต่อย่างใด

ด้วยพฤติกรรมของการไถหน้าจอรับข้อมูลข่าวสารไปเรื่อยๆ แบบไม่ได้ตั้งหลักของผู้บริโภค ส่งผลให้การคิดตริตรองเกี่ยวกับแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงการตั้งสติคัดกรองข้อเท็จจริงกลายเป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่เสียเวลาในการแสวงหา และชั่งน้ำหนักถึงที่มาของข้อมูลข่าวสารแต่อย่างใด

มาวันนี้ การศึกษาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างการรู้เท่าทันสื่อ ก็ยังถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยมหาวิทยาลัย Stony Brook ร่วมกับมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้จัดอบรมการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งไม่เพียงแต่ติดอาวุธให้กับสื่อมวลชนในการคัดกรอง ช่างน้ำหนักประเด็นทางสังคมที่ควรค่าแก่การทำข่าวเท่านั้น แต่ยังเพิ่มทักษะของสื่อมวลชนในการช่างน้ำหนัก และหาวิธีการให้ได้มาซึ่งหลักฐาน และข้อเท็จจริงประกอบเป็นเนื้อข่าวที่ควรค่าแก่ผู้อ่านอีกด้วย

จากที่เคยนั่งอ่านในประเด็นของการฝึกอบรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คงหนีไม่พ้นเรื่องการผลิตเนื้อหาที่ทับซ้อน และคาบเกี่ยวกับผลประโยชน์ของสปอนเซอร์ในเนื้อหาสื่อ ซึ่งนับวันดูจะกลายเป็นความคาบเกี่ยวที่ยอมรับกันได้ เพียงเพราะทุนนิยมคือเป้าหมายขององค์กรสื่อในปัจจุบัน

หากท่านทั้งหลายเปิดดูตามนิตยสารหัวต่างๆ ในประเทศไทย คงพบว่าหลายๆ ครั้ง เนื้อหาที่นำมาเสนอให้ผู้อ่านได้ติดตามเกิดจากการซื้อพื้นที่ของสปอนเซอร์ที่ต้องการจะโฆษณา และประชาสัมพันธ์ทั้งองค์กรและสินค้าของตัวเอง โดยบางเล่มอาจนำเสนอกันอย่างโจ๋งครึ่ม พร้อมรับสภาพของทุนนิยมที่ซื้อสื่ออย่างหน้าชื่นตาบาน ในขณะที่บางเล่มอาจใส่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เข้าไปแบบเนียนๆ ชนิดพรางตัวไม่ให้ผู้อ่านได้ตระหนักว่า ในเนื้อหาสื่อเหล่านั้นแฝงไปด้วยเป้าหมายของการกระตุ้นยอดขายสินค้า

จากการศึกษาของ ดร. มาซาโตะ คาจิโมโต้ แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้เรียกขานความคาบเกี่ยวทับซ้อนของผลประโยชน์สปอนเซอร์ในงานสื่อว่า เป็น ‘the blurred lines of information neighborhood’ โดยมองว่าสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจาก 1. ความมักง่ายของตัวนักข่าวเอง ที่อาจพึ่งพาแหล่งข่าวจากหน่วยประชาสัมพันธ์มากเกินไป 2.นโยบายขององค์กรข่าวที่ต้องการหาเลี้ยงชีพด้วยงานบริการกลุ่มทุน โดยใช้ความน่าเชื่อถือของพื้นที่ข่าวเป็นเดิมพันแลกกับการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของสินค้าที่มีสปอนเซอร์กำกับอยู่เบื้องหลัง และ 3.ตัวนักข่าวเองที่ยอมเอื้อให้กลุ่มทุนเข้ามาแทรกแซงพื้นที่ข่าว ทั้งที่ตั้งใจและที่ไม่เจตนา อันเนื่องมาจากความไม่รู้ถึงหลักการของคุณค่าข่าวที่อยู่บนฐานของความน่าเชื่อถือของข้อมูลเป็นที่ตั้ง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเป็นเช่นไร แต่ผลของข่าวสารที่ถูกผลิตออกมาด้วยวิธีการดังกล่าว ถือว่าขัดต่อหลักการเบื้องต้นของนักวิชาชีพข่าว เนื่องจากประเด็นข่าวจะตั้งต้นจากโจทย์ของหน่วยประชาสัมพันธ์เป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้กำหนดประเด็นข่าวแล้ว ยังมีส่วนในการชงเนื้อหาผ่านข้อความแถลงข่าว หรือ Press Release ที่แจกให้กับบรรดานักข่าว ซึ่ง ดร. มาซาโตะได้ชี้แนะวิธีการจับผิดเนื้อข่าวเหล่านี้ ด้วยการเทียบเคียงเนื้อหากับ Press release ว่ามีการคัดลอกมากน้อยเพียงใด และนักข่าวเหล่านั้นได้ทำการบ้านหาข้อมูลอย่างรอบด้าน ที่นอกเหนือจากถ้อยแถลงประชาสัมพันธ์หรือไม่ อย่างไร

แม้จะมีข้ออ้างถึงการอยู่รอดของสื่อมวลชน จากการสนับสนุนของสปอนเซอร์ด้วยกลไกทางธุรกิจ ที่พึ่งเงินจากโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ อันนำมาสู่ความอะลุ่มอล่วยของวงการสื่อไทย ที่ยอมให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ทำงานจนแทบเป็นเนื้อเดียวกับนักข่าวก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมเป้าหมายหลักของงานข่าว ที่มีความเป็นอิสระ และความน่าเชื่อถือเป็นคุณค่าหลักในการขับเคลื่อนองค์กรข่าว ดังนั้น เส้นแบ่งระหว่างการประชาสัมพันธ์กับข่าวจึงต้องมีความชัดเจนและเหมาะสม

การทำงานข่าวของหนังสือพิมพ์จากาตาร์ โพสต์ ในปัจจุบัน คือตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนความเป็นมืออาชีพของการทำงานข่าว โดยนักข่าวจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับทีมประชาสัมพันธ์แม้แต่น้อย ทั้งนี้หากการทำงานข่าวนั้นอ้างอิงข้อมูลจาก Press release หรือสปอนเซอร์จากกลุ่มทุน ในเนื้อหาข่าวต้องมีการล้อมกรอบที่ชัดเจนถึงแหล่งที่มาของทุน ทั้งนี้ทุกชิ้นข่าวต้องมีการระบุบุคคลผู้เขียนข่าว ซึ่งแม้จะเป็นเด็กฝึกงานก็จะมีการระบุในเนื้อข่าวอย่างชัดเจน เพราะความรับผิดชอบต่อสิ่งที่สะท้อนบนพื้นที่สื่อ คือผลพวงของสถานะและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนที่มีเหนือบุคคลทั่วไป

ภัยเงียบที่บั่นทอนงานข่าวที่มาพร้อมกับการแข่งขันในแพลตฟอร์มข้อมูลข่าวสารที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน หาได้เกิดมาจากแหล่งข้อมูลข่าวสารจากกลุ่มผู้ผลิตข่าวสารที่ไร้ทักษะการทำงานข่าวไม่ หากแท้จริงแล้วเกิดมาจากความไม่เป็นมืออาชีพของนักข่าวและองค์กรข่าวเอง ซึ่งกำลังล้ำเส้นความเป็นสื่อมวลชน โดยหันไปแอบอิงกับทุนบนฐานคิดที่ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์โดยลืมไปว่า แท้จริงแล้ว สิ่งที่ขับเคลื่อนงานข่าวและทำให้สปอนเซอร์ต้องพึ่งพิงเรา คือความน่าเชื่อถือของเนื้อข่าว ซึ่งสำนักข่าวเองนั่นแหละที่กำลังสร้างกลไกทำลายและกัดกร่อนสิ่งเหล่านี้ให้ล่มสลาย

เมื่อความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนได้สลายไปตามกลไกในข้างต้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ท้ายที่สุดผู้บริโภคต่างหันหลังให้กับเนื้อหาข้อมูลที่ผลิตโดยองค์กรเหล่านั้น แล้วเลือกที่จะพึ่งพิงข้อมูลข่าวสารจากแหล่งอื่น อันนำมาซึ่งวงจรทำลายตัวเองขององค์กรข่าวและนักวิชาชีพข่าวในที่สุด