จากสตรีทฟู้ด ถึงการบินไทย

จากสตรีทฟู้ด ถึงการบินไทย

คนไทยรับประทานอาหารริมถนนกัน จนเป็นวิถีชีวิตปกติ

แต่นักท่องเที่ยวจากยุโรปหรืออเมริกา ที่เห็นเรามีร้านอาหารริมถนนมากมาย อาหารหลากหลายประเภท และเปิดให้บริการทุกเวลา แม้ในยามดึกดื่นจนถึงรุ่งสาง นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง 


กระแสนิยมอาหารไทย แพร่สะพัดไปทั่วโลกหลายสิบปีมาแล้ว แต่ไม่กี่ปีมานี้ กระแสนิยม “อาหารริมถนน” หรือ “Street Food” เป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะมีราคาถูก และเป็นแหล่งโปรตีนที่เพียงพอสำหรับชีวิตประจำวันของประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวในระดับ “ประหยัด” แล้ว นักท่องเที่ยวทั่วไปที่ใคร่จะได้สัมผัสกับรสชาติของอาหารแบบท้องถิ่น และวัฒนธรรมการบริโภคของท้องถิ่น ก็นิยมทดลองอาหารริมถนนของเราเช่นกัน

ที่สำคัญก็คือ อาหารไทยรสชาติแสนอร่อยและมีชื่อเสียงระดับโลก อย่างเช่นผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงมัสมั่น ส้มตำ ฯลฯ มีให้เลือกบริโภคอย่างง่ายดาย ริมท้องถนนทั่วไป ปัจจุบันอาหารริมถนน หรือเรียกให้ไพเราะขึ้นอีกสักนิดว่า “อาหารริมบาทวิถี” (จะให้ “เท่” ยิ่งขึ้น ก็เรียกว่า “สตรีทฟู้ด”) ได้กลายเป็น “เสน่ห์” อีกอย่างหนึ่งของไทย ในสายตานักท่องเที่ยวไปแล้ว

ผมได้นำเสนองานเรื่อง “Street Food Economics” ในหลักสูตรมหานคร 4 เมื่อไม่นานมานี้ พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่างๆ เช่นควรจัด Street Food Festival และ Street Food Symposium เพื่อส่งเสริมและยกระดับองค์ความรู้ และการบริหารจัดการสตรีทฟู้ด ให้ได้มาตรฐานที่สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขอนามัย และการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการไม่เบียดเบียนสิทธิของผู้สัญจร และผลกระทบต่อการจราจร ฯลฯ

บังเอิญงานที่ผมนำเสนอนั้น ไปเข้าตาท่านผู้ตรวจราชการของกรุงเทพมหานคร เมื่อสองวันก่อน ท่านจึงได้ส่ง ผู้บริหารเขตปทุมวัน ที่กำลังจะจัดงาน สตรีทฟู้ด บริเวณแยกราชประสงค์ ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคมนี้ มาขอคำแนะนำ ซึ่งผมได้ให้ข้อคิดเห็นไปเท่าที่จะทำได้ ก็หวังว่างานนี้จะออกมาดี และขอเชิญชวนคุณผู้อ่าน ไปสนับสนุนและร่วมงานกันมากๆนะครับ งานจัดขึ้นระหว่าง 12.00-23.00 น. ครับ

ท่ามกลางกระแสสตรีทฟู้ด ที่ก่อตัวแรงขึ้นเรื่อยๆนั้น ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็ได้ร่วมกันทำแอพพลิเคชั่น “Street Food Bangkok” เรียบร้อยแล้ว นักท่องเที่ยวอยากรับประทานข้าวหน้าเป็ด ข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยวปลา บะหมี่ปู ฯลฯ เพียงกดสมาร์ทโฟน ก็รู้ชื่อร้าน และที่ตั้ง และบรรยายสรรพคุณเป็นภาษาอังกฤษ จำนวนร้านค้ายังมีไม่มากนัก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และหวังว่าจะค่อยๆพัฒนาต่อไป

แล้วการบินไทย (ซึ่งวันนี้กำลังเผชิญศึกหนักมาก) เกี่ยวอะไรกับ สตรีทฟู้ด เล่าครับ? ผมเพียงอยากบอกว่าการบินไทย ก็ได้นำ “สตรีทฟู้ด” ขึ้นเครื่องอย่างเป็นทางการแล้ว เพราะเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ผมได้พาคณะผู้บริหารในหลักสูตร “Leadership Succession Program” LSP รุ่นที่ 5 เดินทางกลับจากไปดูงานที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และ เคมบริดจ์ ปรากฏว่ามีดีเลย์ที่สนามบินลอนดอน มากกว่าหนึ่งชั่วโมงเพราะหมอกลงหนามาก แต่ก็ได้ทราบว่า วันนั้นการบินไทยได้เปลี่ยนเมนูอาหารใหม่เป็นวันแรก เป็นเหตุให้การจัดเตรียมขลุกขลักและมีส่วนทำให้ล่าช้าอยู่เหมือนกัน

ได้เห็นเมนูใหม่ในชั้นธุรกิจแล้วก็รู้สึกชื่นใจ เพราะทำได้ดีมาก มีอาหารไทยนานาชนิดให้เลือก ที่สะดุดตาก็คือ มีรายการ “ไทยสตรีทฟู้ด” ประกอบด้วย น้ำตกเนื้อ คอหมูย่างน้ำจิ้มแจ่ว เกี๊ยวกุ้งน้ำหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวน้ำไก่ และ เต้าส่วน ในเมนูระบุว่าผู้โดยสาร ”เลือกทานได้ ไม่จำกัดเวลา" เห็นรายการแล้ว น่าลองลิ้มรสจริงๆ

นอกจากนั้น ยังมีเมนูที่ตอบคำถามที่คาใจผมมานานแล้วว่า เมื่อไหร่การบินไทยจะเปลี่ยนบะหมี่สำเร็จรูป เป็นบะหมี่น้ำจริงๆ หรือมีชุดข้าวต้ม เหมือนที่สายการบินอื่นๆในเอเชีย เขาทำกัน (มาตั้งนานแล้ว) เสียที เพราะคราวนี้ การบินไทยมีรายการ ข้าวต้มปลากะพง ไข่เจียว ผัดมะเขือ และยำวุ้นเส้น เสิร์ฟตอนเช้า ก่อนเครื่องบินลงสุวรรณภูมิ

ขอชมว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่รสชาติของอาหารนั้น ผมก็ไม่อยากวิจารณ์ด้วยความเห็นส่วนตัว จึงใช้วิธีสอบถามความเห็นของผู้บริหารที่เดินทางไปด้วยกันกว่า 30 คน และได้ความเห็นออกมาตรงกันว่า ผิดหวังในรสชาติของอาหาร เช่น ยำวุ้นเส้นขึ้นอืด เย็นเฉียบ ไม่มีรสเปรี้ยวเลย ข้าวต้มไม่ร้อนและเมล็ดข้าวแข็ง เกี๊ยวน้ำใส่น้ำซุปที่รสเพี้ยนอย่างมาก กระทั่งไข่เจียว ก็ไม่อร่อยแบบไทย สรุปแล้วยังต้องปรับปรุงรสชาติอีกมาก

ส่วนก๋วยเตี๋ยวไก่ น้ำตกเนื้อ หรือ เต้าส่วน ในรายการ สตรีทฟู้ด ที่ฟังดูน่ารับประทานเหลือเกินนั้น ไม่ต้องพูดถึงครับ เพราะพนักงานกระซิบกับผมตรงๆว่า ไม่มีหรอกค่ะ มีเพียงคอหมูย่างและเกี๊ยวน้ำ (ที่รสชาติเพี้ยนๆ) เท่านั้น และเพียงอย่างละ 7 ชุด ทำให้ไม่กล้าไปเดินสอบถามผู้โดยสารว่าต้องการหรือไม่

วันนี้ ผมก็จะขึ้นการบินไทยอีกแล้ว คงได้เห็นว่า สิบวันผ่านไป รสชาติอาหารดีขึ้นบ้างหรือไม่ แต่แม้รสชาติอาหารยังจะต้องได้รับการปรับปรุงอีกมาก ผู้บริหารที่ร่วมเดินทางกับผมในวันนั้น ส่วนใหญ่ก็ชมเชยการให้บริการของพนักงาน ทั้งในชั้นธุรกิจและชั้นประหยัด ว่าเป็นไปอย่างดียิ่ง

จะว่าไปก็เห็นใจการบินไทยนะครับ ทั้งขาดทุนหนักและหนี้สินมากมาย ถูกกดดันให้ลดต้นทุน จนวันนี้ฝ่ายบริหารถึงกับลดเงินเดือนของตนเองแล้ว แถมเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ก็ติติงเรื่องรสชาติของอาหารอีกด้วย ซึ่งนั่นก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่การบินไทยต้องรีบปรับปรุงเมนูอาหารในครั้งนี้ ฯลฯ

ก็คงต้องยอมรับว่าปัญหาในการบินไทยทุกวันนี้ หลายอย่างไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่สะสมกันมานานหลายสิบปีแล้ว แบบว่าคนทำให้เกิดปัญหาก็ไม่ได้เข้ามาแก้ไขในวันนี้ แต่คณะกรรมการและผู้บริหาร รวมทั้งพนักงานปัจจุบัน ก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขกันต่อไป

คล้ายกับที่ได้ยินกันบ่อยๆในวันศุกร์เลยครับว่า ปัญหาใหญ่โตของบ้านเมืองทุกวันนี้ ใครทำทิ้งไว้ล่ะ แต่ผมน่ะต้องเข้ามาแก้ เหนื่อยจะแย่แล้วนะ... จะบอกให้!