หุ้นของฉัน หุ้นของเรา

หุ้นของฉัน หุ้นของเรา

“การลงทุน” ฟังรื่นหู สุภาพ ครอบคลุมว่า เป็นการนำเงินหรือทรัพย์สินมาลงทุน โดยหวังผลตอบแทนในรูปของกำไร

ปันผลอื่นๆ เป็นการสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ลงทุน โดยในยุคนี้โลกให้ความสำคัญกับสองเรื่องหลัก คือ การแบ่งปันเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม ที่เรียกกันว่า ESGและการยืนระยะให้ยืนยาว ที่เรียกกันว่าความยั่งยืน

การลงทุน หากมองในมุมของบุคคลธรรมดา จะเหมือนภาพธรรมดา ของการเปิดร้านขายของ ชวนพี่น้องมาทำงานด้วยกัน ชวนเพื่อนมาร่วมหุ้น เมื่อขยับขยายเพิ่มหน้าร้าน

แต่เมื่อมีการขยับมาเป็นระดับประเทศ ตลาดใกล้บ้านจึงกลายเป็นตลาดใหญ่ขึ้น มีการตรวจสอบกิจการต่างๆ ที่เข้ามาค้าขายในตลาด มีการบอกว่า ในรอบสามเดือน หกเดือน และปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร กำไร ขาดทุน มาบอกหุ้นส่วน กำไรก็แบ่งกำไรกัน หรือจะกันส่วนหนึ่งไว้ลงทุนต่อ หรือขาดทุนก็เรียกหุ้นเพิ่ม แต่ต้องบอกหุ้นส่วนว่า ขาดทุนจากอะไร และจะแก้ไขหรือมีหนทางปรับกลยุทธอย่างไร

ตลาดหุ้นไทยจึงเป็นภาพขยายของการลงทุน ที่ต้องมีผู้คน หน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย เชื่อมร้อยเข้าด้วยกัน ทั้งในและต่างประเทศ

ความสำเร็จของตลาดหุ้นไทย เดินทางก้าวผ่านระยะเวลา สู่ทศวรรษที่ 5 วัดเชิงปริมาณ และคุณภาพในระดับประเทศ ที่สร้างความมั่งคั่งให้ประเทศชาติ รวมทั้งความมั่งคั่งของบุคคลที่กลายเป็นเศรษฐี หรือยาจกหมดเนื้อหมดตัว เป็นชาวดอยคอยหุ้นขึ้น หรือเป็นแมลงเม่าฝูงแล้วฝูงเล่า ได้ในคราวเดียวกัน ชีวิตมักมีสองด้านแบบนี้เสมอ

ดิฉันขอย่อขนาดลงมาที่ผู้ลงทุนรายบุคคล ที่นิยมเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากจำนวนขึ้น ตามความสะดวกของสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ และตัวอย่างจากเซเลบหุ้น ที่เห็นกันในข่าวของแวดวงหุ้นว่า พวกเขาร่ำรวยจากการซื้อหุ้น ตัวโน้น ตัวนี้ กลายเป็น “เซียนหุ้น” กันไปแล้วหลายคน พอเห็นตัวอย่างแบบนี้ ก็อยากรวยบ้าง โดยอาจลืมอีกมุมว่า ยังมีผู้ที่ผิดหวัง ติดดอยอีกหลายคนที่ไม่เคยออกมาเป็นข่าวเลย

ตัวเลขผู้ถือหุ้นจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเมษายนที่ผ่านมาพบว่า มีทะเบียนผู้ถือหุ้นอยู่ราว 4.1 ล้านราย (อัตราการถือหุ้น 5 ต่อ 1 : หมายถึง ผู้ลงทุน 1 คน ถือหุ้น 5 บริษัท) และมีแนวโน้มว่า จะมีอัตราเพิ่มขึ้น ดูได้จากตัวเลขเมื่อปีก่อนหน้า คือ 3.1 ล้านราย

เมื่อมีจำนวนผู้ถือหุ้นมากขึ้น ย่อมต้องมีการบริหารจัดการที่มากและซับซ้อนมากขึ้น มีหนึ่งในจำนวนนั้น ดิฉันขอหยิบมาเล่าสู่กันฟัง แม้จะดูว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่น่าจะเป็นจิตสำนึก ที่ช่วยสร้างวินัยในการลงทุนอีกมุมได้อย่างยั่งยืน

คือเรื่องการเยี่ยมชมกิจการ หรือ Company Visit ที่ดูว่าจะได้รับความนิยมจากผู้ลงทุน-ผู้ถือหุ้น มากขึ้นเป็นลำดับ ด้วยว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัว คือ กึ่งการท่องเที่ยว กึ่งการดูแลเป็นอย่างดี และยุคสมัยที่ผู้ลงทุนรายบุคคลมากขึ้น บวกการเดินทางที่สะดวก

ด้วยวัตถุประสงค์ที่อยากเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นส่วนของกิจการ เข้าไปพบเห็นกิจการที่ตัวเองลงทุน พบปะกับพูดคุยผู้บริหารฉันท์กัลยาณมิตร และเป็นธรรมเนียมไทย ที่มักจะมีการต้อนรับ เรื่องข้าวเรื่องขนม ชา-กาแฟ จนอิ่มเอม ด้วยน้ำใจไมตรีที่ดีต่อกัน

ความนิยมจึงพุ่งขึ้น จึงมีค่านิยมนำหุ้นที่ถืออยู่ไปแตกกระจายจำนวน เป็นหลายๆ คน และใช้ช่องนี้ขอใช้สิทธิไปเที่ยวด้วยคน เรื่องที่ตามมาคือ กลายเป็นงานงอกของบริษัท ผิดวัตถุประสงค์และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

เพื่อช่วยให้ทั้งผู้บริหารและผู้ถือหุ้นสบายใจทั้งสองฝ่าย สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จึงมีกิจกรรมยกระดับจาก Company Visit ที่ช่วยตอบโจทย์ ยกระดับความสัมพันธ์ เรียกชื่อ ว่า My Company” แปลกันตรงตัวว่า กิจการของฉัน ที่เน้นการเป็นเจ้าของ เพิ่มความจงรักภักดีให้กับสินค้าของกิจการที่ตัวเองถือหุ้นอยู่

My Company เป็นการเข้าไปเยี่ยมชมกิจการ โดยเป็นการสุ่มเชิญผู้ถือหุ้น ที่ถือหุ้นไว้จำนวนหนึ่ง และต่อเนื่องมาแล้วในระยะเวลาหนึ่ง โดยอนุญาตให้มีผู้ติดตามได้หนึ่งคน เพื่อร่วมภาคภูมิใจกับกิจการของครอบครัวเรา จูงมือกันไปพูดคุยพบปะผู้บริหาร

งานนี้จึงจำเป็นต้องใช้หน่วยงานบุคคลที่สามเข้ามาช่วยดำเนินการ บริษัทจดทะเบียนอาจมีกำลังบุคลากรไม่เพียงพอ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จึงรับหน้าที่ในการช่วยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา พบว่าเป็นความสบายใจขึ้นในการทำกิจกรรมนี้ แม้จะมีความละเอียดอ่อน ในการสุ่มเชิญ จากสถิติของการทำงาน ยกหูสุ่มเชิญผู้ถือหุ้น 40 ครั้ง ต่อ 1 คน ที่สะดวกในการจัดเวลาเข้าร่วมกิจกรรม พวกเขาสนุก-สบายใจ กับการได้พบเห็นกิจการที่พวกเขาตัดสินใจลงทุน และมั่นใจ เมื่อได้พูดคุยกับผู้บริหาร เป็นความสัมพันธ์แนวนอนที่เปี่ยมมิตรภาพ

เป็นภาพที่น่ารัก เมื่อมีคำพูดที่ดีต่อกัน เพราะแสดงถึงการมีส่วนร่วม เคียงบ่าเคียงไหล่หนุนเนื่องกัน เป็นจุดเล็กๆ ที่หากเชื่อมต่อเป็นภาพที่ขยายตัวขึ้น ด้วยคำ คำนี้ คือ “หุ้นฉัน หุ้นเรา”