ข้าวพร้อมรับประทานอย่างเร่งด่วน

ข้าวพร้อมรับประทานอย่างเร่งด่วน

เศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้วิถีชีวิตของชาวจีน

เปลี่ยนแปลงไป จากสโลว์ไลฟ์กลายเป็นความเร่งรีบในหน้าที่การงาน ที่ต้องแข่งขันกับเวลา หลายคนทานข้าวหน้าจอคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน

เมื่อสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง อาหารพร้อมรับประทานจึงเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตคนเมืองของชาวจีนมากขึ้น ไม่ต่างอะไรจากคนเมืองในประเทศไทย ที่มีทั้งอาหารกระป๋อง เครื่องดื่มสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แม้แต่ข้าวและกับข้าวพร้อมรับประทาน

ข้าวพร้อมรับประทานของจีน หรือที่คนจีนเรียกว่า “ฟาง-เปี้ยน-หมี่-ฟ่าน” มีความง่าย สะดวก ใช้อุปกรณ์น้อยอย่างที่คาดไม่ถึง วิธีทำก็คล้ายๆ กับบะหมี่สำเร็จรูป แต่ที่สำคัญไม่ต้องเตรียมน้ำร้อนให้เสียเวลา

ข้าวพร้อมทานของจีน มาในกล่องพลาสติกสีแดงรูปทรงกะทัดรัด พกพาสะดวก และบอกวิธีทำบนหน้ากล่อง เมื่อเปิดฝากล่องออก ภายในจะมีข้าวสุกเมล็ดกลมที่เรียงตัวสวยงาม 1 กล่อง พร้อมกับข้าวที่บรรจุในฟอยด์สีเงิน 1 ถุง ถุงใส่น้ำ (มีสารเคมีบางชนิด) ที่เขียนบนถุงว่าห้ามดื่ม ซองทำความร้อน ช้อน กระดาษทิชชูและไม้จิ้มฟัน

วิธีทำไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดหรืออย่างที่อ่าน ขั้นตอนแรกให้ตัดพลาสติกบนกล่องข้าวออก ใช้ช้อนตักข้าวที่อัดแน่นให้ร่วนซุย จากนั้นนำซองทำความร้อนใส่ในกล่องพลาสติกสีแดง เติมน้ำที่ให้มา นำกล่องข้าวว่างบนกล่องพลาสติกสีแดง แล้วรีบปิดฝาให้แน่น นำกล่องพลาสติกสีแดงวางบนซองกับข้าว เพื่อให้ซองกับข้าวร้อนไปด้วยกัน ขั้นตอนทั้งหมดหลังเติมน้ำบนซองทำความร้อนต้องอาศัยความไว ไม่ควรใช้เวลาเกินหนึ่งนาที เพราะซองทำความร้อนเมื่อโดนน้ำ ก็เปรียบเสมือนการเปิดเตาแก๊ส น้ำข้างในจะเดือดอย่างรวดเร็ว และทำให้ข้าวร้อน ควันร้อนจะพุ่งขึ้นมาบนฝากล่องพลาสติกแดง ที่มีรูระบายอากาศอยู่แล้ว ใช้เวลา 8-15 นาที กับข้าวและข้าวร้อนๆ ก็พร้อมรับประทาน

ข้าวที่ออกมานุ่มถูกใจ และกับข้าวก็มีรสชาติอร่อย แถมมีให้เลือกหลายชนิดและหลากหลายรสชาติ อาทิ พะโล้น้ำแดง หมูสามชั้นผักดอง เม็ดถั่วลันเตาผัดหมู และหมูผัดพริก ซึ่งล้วนเป็นกับข้าวที่คนจีนส่วนใหญ่ชื่นชอบ ข้าวพร้อมรับประทานหาซื้อได้ง่ายตามร้านซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป สถานีรถไฟและสถานีรถโดยสาร จึงเป็นที่ถูกใจของนักท่องเที่ยวจีนที่ต้องการหลีกเลี่ยง “การแย่งกัน” “การแซงคิว” ร้านอาหารตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจีนที่เต็มไปด้วยผู้คนได้เป็นอย่างดี สนนราคา 12-16 หยวน พอๆ กับการซื้ออาหารจานด่วนทั่วๆ ไปในจีน

อันที่จริง ข้าวและกับข้าวพร้อมรับประทานนี้ เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารสำหรับทหาร เพื่อความสะดวกของกองทัพ และง่ายต่อการบริหารจัดการในแต่ละวัน ชาวตะวันตกกินขนมปังและไข่เป็นอาหารหลัก แต่คนจีนกินข้าวเป็นอาหารหลัก ทำให้มีการคิดค้นและวิจัยข้าวพร้อมรับประทานออกมา เพื่อให้ถูกใจกองทัพ เนื่องจากไม่ต้องยุ่งยากเรื่องเชื้อเพลิงในการทำความร้อนหรือการหุงต้ม แถมยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอาหารกระป๋องหรือบะหมี่สำเร็จรูป และยังได้กินร้อนๆ เสมือนนั่งกินข้าวอยู่ที่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีระยะเวลาเก็บได้นานถึง 9 เดือน

จากอาหารในสนามรบกลายมาเป็นอาหารเร่งรีบของคนเมืองข้าวและกับข้าวพร้อมรับประทานจึงเป็นนวัตกรรมการคิดค้นที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ตอบโจทย์กองทัพ และยังเป็นคำตอบที่บ่งบอกถึงการพัฒนาที่เติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ และจังหวะชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอีกระดับหนึ่งของชาวแดนมังกร ที่เร่งรีบ ไม่มีเวลา ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ง่าย และได้ทานอาหารร้อนๆ เหมือนอยู่บ้านตัวเอง

จากแนวคิดเรื่องการทำอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมรับประทาน โดยไม่ต้องใช้แก๊สหุงต้มหรือไมโครเวฟ แต่ใช้วิธีการให้เกิดความร้อนดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นนวัตกรรมที่ผู้ประกอบการไทยน่าจะต้องเรียนรู้และให้ความสำคัญ และนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานที่ตอบโจทย์ความง่ายในการพกพา ความสะดวกในการรับประทานในทุกสถานที่ และวิธีการล้ำสมัยในการอุ่นอาหารให้ร้อนพร้อมรับประทาน

ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้จุดเด่นของข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบอันดับหนึ่งของชาวจีนในแง่คุณภาพ มาแปรรูปเป็นข้าวพร้อมรับประทานโดยมีกับข้าวรับประทานไปพร้อมกัน บรรจุในกล่องเพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว

ข้าวไทยเป็นข้าวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ถ้าเสิร์ฟมาพร้อมกับกับข้าวแบบไทยหลากหลายชนิด ที่คนไทยและคนจีนชื่นชอบ เช่น ข้าวผัดกะเพรา ข้าวผัดแกงเขียวหวาน หรือข้าวมัสมั่นไก่ ก็เป็นช่องทางใหม่ที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับจริต และรสนิยมของนักท่องเที่ยวจีน ที่จะมาท่องเที่ยวประเทศไทย แต่ไม่มีเวลาเข้าร้านอาหาร ซึ่งเป็นที่คาดได้ว่าในปี 2558 จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาไทยมากกว่า 6 ล้านคน จะได้มีโอกาสชิมและลิ้มลองรสชาติอาหารไทย ในรูปแบบของอาหารพร้อมรับประทาน ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักท่องเที่ยวในยามเร่งรีบ และยังเป็นช่องทางการตลาดของอาหารแปรรูปของไทย ที่นอกเหนือไปจากการส่งออกข้าวหอมมะลิไปขายในจีนอีกด้วย