สื่อสาธารณะท่ามกลางสถานการณ์ไม่ปกติ

สื่อสาธารณะท่ามกลางสถานการณ์ไม่ปกติ

หากย้อนมองสื่อสาธารณะของบ้านเรา อย่างสถานีไทยพีบีเอส ที่จะสิริรวมอายุครบ 10 ปี ในอีกสองสามปีข้างหน้า

เราจะเห็นถึงการสถาปนาสื่อในรูปแบบใหม่ ที่พยายามตั้งตนให้เป็นสถาบัน ท่ามกลางวิกฤติการเปลี่ยนผ่านของบ้านเมือง จนทำให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ เป็นองค์กรต้นแบบของการเป็นสื่อสาธารณะแห่งแรกและแห่งเดียวของภูมิภาคอาเซียน

เริ่มตั้งแต่ที่มาที่ไปของสถานีนี้ อันถือกำเนิดจากการตอบโจทย์ในแง่ความเป็นอิสระทางการเมือง โดยพยายามหาวิถีทางในการจัดตั้ง แนวทางการเลี้ยงตนเอง ไปจนถึงวิถีแห่งการทำงานที่เป็นต้นแบบ อันแตกต่างจากสื่อพาณิชย์ทั่วๆ ไป ที่คนไทยคุ้นชิน โดยการจัดตั้งมีกระบวนการได้มาซึ่งผู้บริหาร ทั้งในระดับบอร์ดและระดับผู้อำนวยการ ซึ่งสะท้อนการคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ ในอันที่จะรับผิดชอบผลิตเนื้อหาสาระสื่อ ซึ่งรับผิดชอบต่อผู้ชมคนดู ภายใต้เงินอุดหนุนในการบริหารองค์การ ที่เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐและทุน

บอร์ดบริหารจะประกอบไปด้วยคณะกรรมการ รวมประธานทั้งสิ้น 9 คน อันได้แก่ ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกิจการสื่อสารมวลชน จำนวน 2 คน ด้านการบริหารจัดการองค์กร จำนวน 3 คน และด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น การเรียนรู้และการศึกษา การคุ้มครองและพัฒนาเด็ก เยาวชนหรือครอบครัว หรือการส่งเสริมสิทธิของผู้ด้อยโอกาสทางสังคมจำนวนอีก 4 คน

ทั้งนี้ จากสัดส่วนของบอร์ดบริหาร ผู้ซึ่งทำหน้าที่ในการชี้แนะทิศทางและนโยบายของสถานี ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงกลิ่นอายของความเป็นเอ็นจีโอ ที่หลายๆ ครั้งได้สะท้อนผ่านหน้าจอ ปรากฏออกมาเป็นรายการในรูปแบบต่างๆ จนเป็นที่รู้กันในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ว่า ทั้งวิธีการนำเสนอ เป้าหมาย เนื้อหา รวมแม้กระทั่งพรีเซ็นเตอร์เอง ก็ออกแนวที่ไทยพีบีเอสมีกลิ่นอายของความเป็น ‘ทีวีเอ็นจีโอ’ อย่างปฏิเสธไม่ได้

จากการบริหารตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การก่อร่างสร้างสถานีในปี 2551 นั้น ไทยพีบีเอสได้ผลิตรายการที่เปิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้กับวงการข่าวและวงการโทรทัศน์ในภาพรวม จนอาจเป็นความหวังของทางเลือก ทั้งในส่วนของผู้บริโภคและผู้ผลิตสื่อเอง โดยแม้ในช่วงต้นที่ทั้งผู้ชมคนดู รวมถึงบุคลากรในไทยพีบีเอสเอง จำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่กับรูปแบบทีวีที่ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย แต่เมื่อประกอบการพ้นช่วงตั้งไข่ไปได้ ก็พบว่า ทีวีสาธารณะแห่งนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ผ่านการเปิดโอกาสให้นักข่าวพลเมือง และผู้ผลิตรายการอิสระขนาดเล็กได้มีพื้นที่ยืน พร้อมกับสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักกับผู้ชมบนหน้าจอ

หลายๆ ครั้ง สังคมยังนึกถึงรายการ ‘flagship’ ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จัก อย่างสารคดีพลิกวงการโทรทัศน์ เช่น พื้นที่ชีวิต วัฒนธรรมชุบแป้งทอด ภัตตาคารบ้านทุ่ง รวมไปถึง หนังพาไป ซึ่งด้วยประเด็นและโปรดักชั่นในรูปแบบที่แหวกแนวของรายการเหล่านี้ น่าจะยากที่จะเกิดได้ในสื่อพาณิชย์ทั่วๆ ไป ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงสารคดีฟอร์มยักษ์ ที่เป็นการลงทุนร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม อย่างสารคดี 2475 สารคดีขุนรองปลัดชู และสารคดีเสด็จประพาสต้น ที่ย้อนรอยให้เราได้กลับไปเข้าใจประวัติศาสตร์ในเชิงข้อเท็จจริงผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งหาชมได้ยากยิ่งในทีวีของประเทศเรา

ด้วยการวางนโยบายที่เน้นการนำเสนอสาระความรู้ ผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบสารคดี ทำให้ไทยพีบีเอสคือ สถานีโทรทัศน์ที่ให้พื้นที่กับเนื้อหารายการประเภทสารคดีสูงที่สุด เมื่อเทียบกับสถานีโทรทัศน์อื่นๆ ในประเทศไทย

ทั้งนี้ แน่นอนว่า ของดีราคาถูกนั้นไม่มีจริงในโลก ดังนั้น การให้พื้นที่กับสาระความรู้เป็นตัวชูโรง ที่แม้จะถูกจริตกับผู้ชมกลุ่มเฉพาะที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมแดกด่วน และย่อยง่าย ตามแนวเนื้อหาของทีวีบ้านนี้เมืองนี้ ย่อมนำมาสู่ราคาที่ไทยพีบีเอสต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นการถดถอยของความนิยม การถูกทวงถามถึงประสิทธิภาพในการใช้เงิน รวมไปถึงการเข้าถึงผู้ชมระดับแมสในประเทศ ซึ่งเมื่อเอาของดีเหล่านั้นมาผูกกับความกล้าหาญในการนำเสนอประเด็นที่ล่อแหลม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอำนาจรัฐบาล ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม รวมไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนที่สถานีแห่งนี้ต้องจ่ายมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะต้นทุนของการสูญเสียกำลังคนที่มีคุณภาพและกล้าหาญ

ไทยพีบีเอสในปัจจุบันไม่ต่างกับสื่อโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยแห่งดิจิทัล ซึ่งให้โอกาสผู้บริโภคได้มีช่องทางในการรับข่าวสารที่หลากหลายมากขึ้น ตลาดทางเนื้อหาและความคิดขยายตัวอย่างมหาศาล ทั้งในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ด้วยกันเอง และในโลกอินเทอร์เน็ต โดยต้องยอมรับว่าทั้งผู้ผลิต นักข่าว และบุคลากรบริหารของสถานีแห่งนี้จำนวนไม่น้อย ที่ถูกดึงตัวข้ามค่ายหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียดาราและบุคลากรคุณภาพทั้งหน้าจอและหลังจอ ยังไม่สะเทือนวงการสื่อสาธารณะเท่ากับการสูญเสียภาพลักษณ์ของการเป็น ‘ทีวีที่คุณวางใจ’ ในแง่ของความเป็นอิสระจากแรงกดดันของรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติในปัจจุบัน การถูกตรวจสอบและแทรกแซงอย่างถี่ยิบ ผ่านกลไกทางการเมือง นับเป็นจุดเปลี่ยนของสื่อสาธารณะไทย ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในเชิงของความอิสระขององค์กร ซึ่งถือเป็นเสาหลักอันสุดท้ายที่จะยึดเหนี่ยวองค์กรไว้ได้

การปรับเปลี่ยนผู้อำนวยการในแบบที่เรียกกันว่า ‘ปลดฟ้าผ่า’ น่าจะเป็นบทเรียนหนึ่งที่ไทยพีบีเอสต้องตอบคำถามของสังคม ในแง่ของความโปร่งใสในการบริหาร รวมถึงทิศทางการทำงานในอนาคต ที่จะกำหนดตัวตนของสถานีสาธารณะแห่งนี้ใหม่อย่างไม่มีข้อกังขา และเรียกสปิริตของการเป็นทีวีที่คุณวางใจ ให้กลับมาอีกครั้ง