เมื่อการเมืองมาปนกับเรื่องของเนื้อวัวในอินเดีย

เมื่อการเมืองมาปนกับเรื่องของเนื้อวัวในอินเดีย

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นในอินเดีย เมื่อชายชาวมุสลิมถูกม็อบชาวฮินดู

ในหมู่บ้านเดียวกันรุมทำร้ายจนเสียชีวิต แม้เหตุการณ์จะสงบลงไปแล้ว แต่ก็ได้ทิ้งคำถามบางประการเกี่ยวกับความท้าทายของนายกฯ โมดี ที่จะทำให้เรื่องการเมืองไม่มากระทบต่อความสมานฉันท์ของคนนับถือศาสนาต่างๆ ในอินเดียได้อย่างไร

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2558 เมื่อมีผู้พบซากสัตว์วางกองอยู่ใกล้ตู้จ่ายกระแสไฟฟ้า ภายในหมู่บ้านดาดริ (Dadri) เขตอำเภอโคตมะพุทธนคร (Guatam Buddha Nagar) รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของกรุงนิวเดลี หลังจากนั้นไม่นานก็มีข่าวกระพือไปยังชาวฮินดูในหมู่บ้าน ผ่านสื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ ว่าซากสัตว์ดังกล่าวคือวัวที่ถูกฆ่าโดยชาวมุสลิม ซึ่งหลังจากฆ่าแล้วก็เอาเนื้อไปเก็บไว้ในตู้เย็นที่บ้านเพื่อบริโภค ภายในไม่กี่ชั่วโมงผู้นำชาวฮินดูหัวรุนแรงก็ออกมารวมตัวกันกว่าร้อยคน บุกเข้าไปในบ้านพักของชายผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งถูกกล่าวหาโดยไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นผู้ฆ่าวัวดังกล่าว มีการลากตัวออกมารุมประชาทัณฑ์ และนำเอาไปทิ้งยังจุดที่ถูกพบซากสัตว์จนกระทั่งเสียชีวิต

หลังเกิดเหตุ ตำรวจได้เข้าระงับเหตุมิให้กลายเป็นจลาจลในหมู่บ้าน ระหว่างชุมชนฮินดูและมุสลิม และนำเอาซากเนื้อที่พบในตู้เย็นส่งไปตรวจพิสูจน์ ในที่สุดก็ยืนยันว่าเป็นเนื้อแพะมิใช่เนื้อวัว แต่ชายชาวมุสลิมก็เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนลูกชายบาดเจ็บสาหัส บรรดาญาติของผู้ตายรวมทั้งชุมชนชาวมุสลิมในหมู่บ้านต่างก็หวาดกลัว ไม่รู้ว่าจะเกิดการทำร้ายจากเพื่อนบ้านด้วยกันอีกหรือไม่

ชาวฮินดูนับถือวัวเป็นสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพาหนะของพระกฤษณะ จึงไม่ทำร้ายหรือบริโภคเป็นอาหาร นอกจากนี้ วัวยังให้ประโยชน์แก่มนุษย์ ทั้งน้ำนม แรงงาน และขี้วัว ซึ่งเอาไปผสมกับแกลบเป็นพลังงานสำหรับหุงหาอาหาร หรือเอาไปทำปุ๋ย นอกนั้นยังตกลูกให้อีก ชาวฮินดูจึงไม่ทำร้ายวัว และจะเลี้ยงไปจนกว่าจะมีอายุมากแล้ว จึงจะขายหรือปล่อยให้เสียชีวิตไปเอง ตามท้องถนนเราก็จะเห็นวัวเดินไปมาโดยไม่มีใครทำร้าย

แล้วทำไมการเมืองจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของเนื้อวัวครั้งนี้ ?

อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาฮินดูมากที่สุดร้อยละ 79.8 ของประชากรทั้งหมด รองลงมาคือมุสลิมร้อยละ 14.2 เหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมจึงเกิดขึ้นบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วเมื่อมีการยุยงจากนักการเมืองหรือใกล้ช่วงเลือกตั้ง ความขัดแย้งก็มักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทำให้สถานการณ์เลวร้ายและลุกลาม ครั้งนี้ก็เช่นกัน เพราะเป็นช่วงที่กำลังมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาในรัฐพิหาร (Bihar)ซึ่งอยู่ติดกับรัฐอุตตรประเทศ และมีสัดส่วนของประชากรชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อย การเลือกตั้งในรัฐพิหารครั้งนี้ เป็นการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างพรรคพันธมิตร (JDU และ RJD)ที่ปกครองรัฐพิหารในขณะนี้ กับพรรค BJP ของนายกรัฐมนตรีโมดี

นายโมดีเคยถูกกล่าวหาเมื่อครั้งเป็นมุขมนตรีของรัฐคุชราต (Gujarat) ว่ามีส่วนให้เกิดเหตุจลาจลระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในรัฐเมื่อปี 2545 ทำให้ชาวมุสลิมกว่า 2,000 คนเสียชีวิต นายโมดีเองก็เคยเป็นสมาชิกขององค์กรที่เรียกว่า Rashtriya Swayamsevak Sangh(RSS) ซึ่งมีแนวความคิดที่จะสร้างสังคมอินเดียให้เป็นฮินดู กระแสความ ไม่ไว้วางใจในหมู่ประชากรศาสนาอื่นต่อตัวโมดีและพรรครัฐบาล BJP จึงย่อมมีเป็นธรรมดา และยิ่งตอกย้ำเมื่อรัฐมหาราษฏะ (Maharasthra) ที่เพิ่งมีการเลือกตั้งเมื่อ ต.ค.2557 ได้พรรค BJP กับพันธมิตรมาเป็นรัฐบาล หลังจากนั้นก็มีการออกกฎหมายห้ามฆ่าวัวในรัฐจนสำเร็จ

คราวนี้พอมีเรื่องชาวมุสลิมถูกรุมประชาทัณฑ์ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามนายโมดีก็ออกมาโจมตีกล่าวหาว่ากลุ่มหัวรุนแรงท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์กับพรรค BJP อยู่เบื้องหลัง ประธานาธิบดีประณับ มุกเคอร์จี ต้องออกมากล่าวเตือน สติให้คนในชาติ ตระหนักถึงค่านิยมในอารยธรรมของอินเดีย ที่ยอมรับความแตกต่างทางศาสนา และมีความอดทน อดกลั้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีความสามัคคีระหว่างคนที่นับถือศาสนาต่างกัน หลังจากนั้น นายกฯโมดี จึงต้องออกมา แสดงท่าทีบ้าง โดยกล่าวว่าศัตรูร่วมกันของชาวฮินดูและมุสลิมก็คือความยากจน มิใช่มาต่อสู้ฆ่าฟันกันเอง

วัวและกระบือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรและแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ของอินเดียจำนวนไม่น้อย โดยไม่แยกว่าเป็นชาวฮินดูหรือมุสลิม อินเดียมีประชากรวัวทั้งหมด (วัวเนื้อและวัวนม) 190.9 ล้านตัว มีกระบือ 108.7 ล้านตัว อินเดียเป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อ (Beef) มากเป็นอันดับ 3 รองจากบราซิลและออสเตรเลีย มีส่วนแบ่งประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อกระบือ (Water Buffalo) ในช่วงปีที่ผ่านมามีการส่งออก 1.47 ล้านตัน สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 293 พันล้านรูปี (หรือประมาณ 146.5 พันล้านบาท) ประเทศนำเข้าที่สำคัญได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย ไทย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศในตะวันออกกลางนิยมสั่งเนื้อจากอินเดีย เพราะผ่านกระบวนการตามหลักฮาลาล โดยโรงฆ่าชำแหละส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยชาวมุสลิม (ตระกูล Qureshi เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่)

ปัจจุบันมีรัฐ 8 รัฐ ในอินเดียที่ออกกฎหมายห้ามฆ่าและบริโภคทั้งเนื้อวัวและกระบือ ส่วนอีก 20 รัฐ (รวมทั้งรัฐอุตตรประเทศ) อนุญาตให้ฆ่าและบริโภคหรือส่งออกเนื้อกระบือได้ โดยต้องเป็นสัตว์ที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป หรือไม่สามารถตกลูกได้อีก ส่วนอีก 8 รัฐ ทางภาคอีสานของอินเดียที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธหรือคริสต์ ยังอนุญาตให้ฆ่า และบริโภคได้ทั้งเนื้อวัวและกระบือ

นอกจากเนื้อ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าที่ได้จากกระบือ 1 ตัว ยังมีผลพลอยได้ที่เหลือป้อนสู่อุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ หนัง ไขกระดูกหรือเจลาติน (นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา สบู่ และฟิลม์) เขาและกระดูกป่นไปใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิกและน้ำยาดับเพลิง เป็นต้น ดังนั้น ความคิดของกลุ่มชาวฮินดูสุดโต่งที่ผลักดันให้มีการสั่งห้ามฆ่าและบริโภคเนื้อวัวทั่วประเทศ ย่อมจะกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยง ผู้ประกอบการโรงฆ่าชำแหละ อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากวัว/กระบือ ตลอดจนผู้บริโภคหรือตลาดส่งออกที่ไม่ใช่ชาวฮินดู ซึ่งก็จะทำให้ธุรกิจที่กำลังโตวันโตคืน สร้างอาชีพและรายได้แก่เกษตรกรและแรงงานในอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยต้องหดหายไป

การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเรื่องความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ที่ผ่านมาผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมนี้กลับถูกมองข้าม และถูกใช้โดยนักการเมืองหัวรุนแรง ที่พยายามจะกระพือให้เป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนาฮินดูและมุสลิม ในช่วง 3 ปีครึ่งที่เหลือของรัฐบาลโมดี กำลังถูกท้าทายว่าจะรักษาความสมานฉันท์ระหว่างคนที่นับถือศาสนาต่างๆ ในพหุสังคมของอินเดียควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างไร