3 เส้า เราต้องดูแลกัน

3 เส้า เราต้องดูแลกัน

ประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นมักจะเดินซ้ำรอยเดิม แปลกแต่จริงในรอบ 3-5 ปีที่ผ่านมา มีข่าวการทุจริต

ของผู้บริหารเกิดขึ้นถี่ ติดๆ กัน และมักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่หลายคนคาดไม่ถึง ด้วยคิดว่าระบบตรวจสอบน่าจะเข้มๆ กระดิกกระเดี้ยงแทบจะนับเส้นผมกัน แต่ก็ยังรอดร่องนิ้วไปได้ น่าเจ็บใจจริง…

พลิกแฟ้มกลับไปมา ดูว่าเป็นบริษัทยักษ์ระดับโลกอย่าง ENRON, WORLDCOM, LEHMAN BROTHERS คลอนความมั่นใจของระบบตรวจสอบดูแล จนต้องมีการขันชะเนาะกันอีกยกใหญ่

ส่วนในตลาดหุ้นไทยก็มีเรื่องราวกันไม่น้อย ตั้งแต่ยุค รอยเน็ท ถังแก๊ส รถหรู และหุ้นอภินิหาร ลากราคาโลดแล่นเป็นสไลเดอร์หลายรอบ กระบวนการสืบสอบของหน่วยงานกำกับ ทำงานกันอย่างไม่ลดละ บางครั้งสำเร็จ จนด้วยหลักฐาน บางรายรอด บางรายหนีลอยนวล ไปเสวยสุขทางทุนนิยม แต่เชื่อว่า “ทุกข์ใจ” คงตามไปหลอนแม้อยู่สุดหล้าฟ้าเขียว

การบริหารจัดการที่คงรูปความสัมพันธ์กันของสามส่วนหลัก จึงมีการวางกรอบที่กระชับขึ้น มีการติดตามสอดส่องการทำงานของฝ่ายผู้บริหารอย่างใกล้ชิดกว่าอดีตมากขึ้น และเข้มๆ จนอาจมีเสียงบ่นท้อจากกลุ่มนี้บ้าง อาจต้องให้ความเข้าใจ ในเมื่อบางจุดของกลุ่มมีสีเทา-สีดำแซม จนต้องมีกฎเพิ่ม เป็นธรรมชาติของสังคมคนหมู่มากที่มีกฎระเบียบและรั้วเกิดขึ้น เพื่อใช้ล้อมกั้นป้องคนไม่ซื่อ คนดีหากทำดีอยู่แล้วอย่ากังวล

กลุ่มคนสามกลุ่ม ที่เป็นโมโดลแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกัน คือ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และกรรมการ

จุดเริ่มต้นของโครงสร้างแห่งความสัมพันธ์คือ ผู้ถือหุ้น เพราะเป็นเจ้าของเงินทุน ในการว่าจ้างผู้บริหารมาดำเนินธุรกิจ และอนุมัติค่าตอบแทนกรรมการ ในการทำหน้าที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความล้มเหลวขององค์กร

โลกในวันนี้มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริหารเผชิญความยุ่งยากมหาศาล ที่จะนำพาองค์กรไปยังเป้าหมาย และเป็นการท้าทายของคณะกรรมการ ที่จะต้องกำกับดูแลการทำงานของผู้บริหารอีกทอดหนึ่ง

ผู้ถือหุ้นเป็นกลุ่มแรกที่ใส่เงินลงทุนเข้ามาในองค์กร แต่พบว่ามักจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับการปันส่วน ในรูปของผลตอบแทน จาก “เงินปันผล” เพราะเมื่อเกิดเหตุความล้มเหลว การบริหารจัดการจะให้ความสำคัญกับเจ้าหนี้ หรือกระทั่งบรรทัดสุดท้ายยังระบุว่า การจ่ายเงินปันผลจะจัดสรรจากกำไรสุทธิ ตามอัตราที่ฝ่ายบริหารกำหนด แปลความว่า หากกิจการขาดทุนก็ไม่จ่ายปันผล หรืออาจกำหนดว่า จะขอนำเงินกำไรใช้ในการลงทุนไม่ขอจ่าย เพื่อลดภาระการกู้ยืม-จ่ายดอกเบี้ย

ลูกศรจึงย้อนกลับไปยัง คนสองกลุ่มที่เหลือ คือ ผู้บริหารและกรรมการ

ผู้บริหารทำหน้าที่ในการวางแผน กำหนดกลยุทธ์ขององค์กร ความสำเร็จเกิดขึ้น คือผลงานของผู้บริหารและพนักงาน ส่วนคณะกรรมการทำหน้าที่อนุมัติกลยุทธ์และประเมิน ติดตามการทำงาน

พบว่า “หัวใจ” ของทุกองค์กร คือ “กลยุทธ์” ที่เฉียบคม ฝ่าคลื่นลมแห่งการแข่งขัน เพื่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดต่อผู้ถือหุ้น แต่โลกใบนี้ ใบที่มีความซับซ้อนขึ้นนั้น ความสำเร็จเพียงชั้นเดียวไม่เพียงพอเสียแล้ว ผู้บริหารจำเป็นต้องปรับแนวคิด ที่ควรเพิ่มมิติ ไม่เพียงแต่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อประโยชน์สูงสุดเพียงผู้ถือหุ้น แต่เป็นการปรับโฟกัสการมองเรื่องผลประโยชน์ ให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มของกิจการในระยะยาว จึงเรียกว่า เป็นความยั่งยืนขององค์กรที่มีศัพท์ทันสมัย เรียกกันบ่อยถี่ขึ้น คือ Sustainable

ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเมืองไทย เพราะปรัชญาของ “ในหลวง” ของปวงชนชาวไทย เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และหลักชาวพุทธที่ไม่เบียดเบียนกัน ความมีน้ำใจ เอื้ออารีต่อกัน ล้วนเป็นหลักการเดียวกัน เพียงต่างยุคสมัย ชื่อเรียกขานต่างออกไป แต่หัวใจดวงเดิม

            แนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นหลักทฤษฎี Stakeholder Theory ที่มองว่า บริษัทหรือกิจการหนึ่งนั้น เป็นองค์กรหนึ่งทางสังคม ที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย หรือขึ้นอยู่กับบุคคลหลากหลายกลุ่ม และเมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ความขัดแย้งของกลุ่มคนเหล่านี้ก็ย่อมมาก และซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับด้วยเช่นกัน

จากภาคทฤษฎีสู่การปฏิบัติ จึงเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ของการทุจริต เมื่อมีสิ่งแวดล้อมของโลกทุนนิยม เช่น ราคาหุ้นไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง ภาคธุรกิจไม่ได้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควรจะเป็น กลายเป็นต้นทุนทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ผู้บริหารมองเพียงระยะสั้น ผู้ลงทุนหวังรวยเพียงลัดนิ้วมือ ล้วนเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่หวังกอบโกยเข้าหาฝั่งของตัวเอง

ดิฉันมีข้อมูลที่น่าสนใจของสภาพแวดล้อม ที่เก็บสถิติมาจากภาคสนาม ของการจัดประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 มาเล่าสู่กันฟัง จากฐานของจำนวน 582 บริษัทจดทะเบียน ประกอบด้วย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศเทศไทย 469 แห่ง และ mai จำนวน 113 แห่ง

พบว่ามีจำนวนทะเบียนผู้ถือหุ้น ราว 4.1 ล้านรายชื่อ โดยให้ค่าเฉลี่ยของการถือซ้ำ 5 บริษัท ต่อหนึ่งคน เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากเดิม มีราว 3.1 ล้านรายชื่อ ในปี 2557 เป็นเพราะมีการขยายตัวของตลาด กลยุทธ์การเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนรายบุคคล และอาจเป็นเพราะค่านิยมในการนำหุ้นไปแยกจำนวนลดจำนวนถือครอง กระจายไปยังอีกหลายคน เพื่อวัตถุประสงค์อื่น อาทิ การไล่ล่าของชำร่วย ตามที่กล่าวถึงกัน

จำนวนที่เพิ่มขึ้นย่อมเกิดความยุ่งยาก เพิ่มงานในการบริหารจัดการ มีอาการซับซ้อนของ “ใจคน” ที่ต้องสนองความต้องการแบบไม่รู้จบ และอาจไม่ถูกใจใครอีกหลายคน แต่หากยึดฐานแห่ง “ความถูกต้อง” จะช่วยความมั่นคงของความยั่งยืนตามที่คาดหวังกัน

ส่วนด้านของคณะกรรมการพบว่า มีจำนวนกรรมการ 6,296 ตำแหน่ง เป็นกรรมการ 5,246 และ กรรมการอิสระ 1,050 ตำแหน่ง โดยมีค่าเฉลี่ยสัดส่วนของกรรมการอิสระตามเกณฑ์ปฏิบัติคือ หนึ่งในสาม มีค่าตอบแทนกรรมการ ราว 2,766 ล้านบาท, 80% เป็นกรรมการชาย อีก 20% เป็นกรรมการหญิง

ว่ากันว่า “เพศสภาพ” มีส่วนสำคัญไม่น้อย ในการช่วยกำกับดูแลกิจการ เพราะมีความละเอียดลออ ไม่ต่างจากที่พวกเธอดูแลกระเป๋าเงินในครอบครัว เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังประจำบ้าน

การกำหนดคะแนนด้านธรรมาภิบาล จึงมีแต้มเพิ่มให้กับบริษัทที่มีสัดส่วนของกรรมการหญิงเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย

ดูจากรูปการณ์แห่งความสัมพันธ์แล้วเราจะพบว่า หากบุคคลทั้งสามกลุ่มมองมิติร่วมกัน ดูแลกัน ไม่ดึงรั้งผลประโยชน์เข้าหาตัวเองเพียงฝ่ายเดียว จะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้องค์กรนั้นได้อย่างมั่นคง ให้ได้ชื่นใจกันทุกคน

โลกของทฤษฎีและโลกแห่งความเป็นจริง อิงกันเมื่อคราวดูละครหลังข่าว แต่เรื่องฉาวๆ ของการทุจริต กลับไม่หันไปมองกันบ้าง ละครโลกใหญ่ของตลาดหุ้น จึงเกิดบทเล่นซ้ำ เวียนกันในวงรอบของปี เปลี่ยนเพียงตัวละครแห่งความร่ำรวย และเหยื่อเท่านั้น

แต่หากทั้งสามเส้ารู้บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ ย่อมเกิดความรักที่ยาวนาน ถือไม้เท้า พากันเดินชมความงดงามของตลาดหุ้นร่วมกันไปได้อีกยาวไกล