ประชารัฐ ประชานิยม และรัฐสวัสดิการ (2)

ประชารัฐ ประชานิยม และรัฐสวัสดิการ (2)

ประชานิยมที่นำมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เป็น ประชานิยมตามความหมายของประชานิยมใน

ละตินอเมริกา "ประชานิยม” หรือ Populism เริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2544 และได้ถูกกล่าวถึงบ่อยมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงการบริหารงานของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร และคำๆ นี้ก็ได้มีการถูกนำมาใช้กันแพร่หลายมากขึ้นในสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน นักวิชาการและปัญญาชนจำนวนหนึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลทักษิณว่า เป็นนโยบายประชานิยมแบบละตินอเมริกา ขณะที่รัฐบาลในยุคนั้น เรียกนโยบายที่ดำเนินการอยู่ว่า เป็น นโยบายคู่ขนาน (Dual Track Policy) เป็น นโยบายเพื่อคนรากหญ้า (ฐานราก) เพื่อแก้ปัญหาความยากจน รัฐบาลในยุคต่อๆมารวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่สามารถก้าวข้ามพ้นนโยบายประชานิยมได้เนื่องจากเป็นนโยบายที่สามารถสร้างความพึงพอใจในหมู่ประชาชนได้ แต่นโยบายเหล่านี้ล้วนเป็นนโยบายที่สร้างภาระทางการคลังจำนวนมากในอนาคต

นอกจากนี้ ประชานิยม มักจะถูกนำเอามาใช้และสร้างความเข้าใจในการเรียกนโยบายหรือโครงการต่างๆที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประชาชนชื่นชอบหรือพอใจโดยประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ประชาชนที่มีฐานะยากจน

ดังนั้นหากเรายึดตามการศึกษาความหมายและขอบเขตนโยบายประชานิยมในลักษณะที่ว่า “เป็นการดำเนินนโยบายที่จะสร้างความชื่นชอบ  พึงพอใจและความอยู่ดีเป็นสุขให้กับประชาชน” แล้วนั้น นโยบายหลายๆอย่างที่ผ่านมาของทุกรัฐบาล ก็คงจัดว่าเข้าข่ายเป็นประชานิยมทั้งสิ้น

นโยบายประชานิยมหรืออาจเรียกในชื่ออื่นว่า ประชาวิวัฒน์ (สมัยพรรคประชาธิปัตย์) หรือ มาตรการบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ หรือ แม้นกระทั่งประชารัฐ อะไรก็ตาม หากมีองค์ประกอบหรือลักษณะที่สำคัญ 4 ประการดังต่อไปนี้ก็ถือเป็นประชานิยมแบบละตินอเมริกาที่สร้างปัญหาได้

ประการที่หนึ่ง: มุ่งเน้นผลประโยชน์และชัยชนะทางการเมืองโดยใช้ฐานมวลชนเป็นเครื่องมือโดยไม่ได้ทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้นหรือเป็นการเพิ่มอำนาจประชาชน (Empower the people)

ประการที่สอง: สร้างภาระทางการคลังจำนวนมาก ขาดความยั่งยืนทางการเงินการคลังหรือขาดความมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการ

ประการที่สาม: อาจขาดความโปร่งใสในการดำเนินการ

ประการที่สี่: ทำให้วัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์เข้มแข็งยิ่งขึ้น เป็นการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ มีลักษณะนโยบายสั่งการบนลงล่าง ขาดการมีส่วนร่วมของฐานราก

ซึ่งจากคุณลักษณะทั้งสี่ประการของนโยบายประชานิยมแบบละตินอเมริกาที่ได้ถูกกล่าวไว้ข้างต้น จะพบว่า จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากซึ่งในกรณีทั่วๆ ไปการหาเงินมาเพื่อดำเนินนโยบายของรัฐบาล  อาจสามารถทำได้โดยการกู้เงินทั้งจากในประเทศและต่างประเทศหรืออีกทางหนึ่งรัฐบาลอาจจะสามารถใช้วิธีเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการระดมเงินเพื่อใช้ในการดำเนินนโยบายไม่ว่าจะเป็นเป็นการระดมเงินหรือหาเงินด้วยวิธีใดๆก็ตาม เพื่อที่จะมาดำเนินนโยบายต่างๆของรัฐบาล  ท้ายที่สุดแล้วภาระรายจ่ายก็จะตกกลับมาสู่ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ของประเทศในที่สุด  

ด้วยเหตุนี้การดำเนินนโยบายประชานิยม อาจทำให้อัตราค่าจ้างที่แท้จริงและอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นในช่วงแรก แต่นโยบายประชานิยมจะดีเฉพาะช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และในระยะต่อมาจะเริ่มประสบปัญหาการขยายตัวของอุปสงค์ต่อสินค้าภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น  อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้นโยบายประชานิยมยังส่งผลให้ประชาชนอ่อนแอลง ขาดความสามารถในการผลิต และความพยายามในการพัฒนาและช่วยเหลือตนเองน้อยลง ส่งผลให้  productivity ลดลง  ซึ่งถ้ารัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้ที่เกิดขึ้น รัฐบาลก็ต้องนำเอานโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดีมาใช้ เพื่อลดผลกระทบจากการใช้นโยบายประชานิยมข้างต้น

เมื่อพิจารณาโครงสร้างภาษีที่สำคัญแล้วพบว่าการขยายฐานภาษี หรือการจัดหารายได้จากภาษีในกรณีที่ไม่มีการปรับขึ้นอัตราภาษีของประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำดังเช่นประเทศไทยจึงทำได้ยาก หากรัฐบาลต้องการหาแหล่งเงินเพื่อดำเนินการนโยบาย รัฐบาลจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างระบบการจัดหารายได้ ซึ่งรวมถึงทั้งโครงสร้างภาษี และโครงสร้างการจัดหารายได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ภาษีควบคู่กันอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง – ระยะยาว

การใช้นวัตกรรมทางการเงินภาครัฐใหม่ๆ หรือ ที่เรียกว่า New Finance Innovations เช่น การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitizations) หรือการร่วมกิจการระหว่างรัฐกับเอกชน (Public – private Partnership: PPP) นวัตกรรมทางการเงินภาครัฐ หมายความว่า การระดมทุนภาคสาธารณะทุกประเภทในแนวทางที่แตกต่างไปจากการกู้ยืมโดยปกติหรือดำเนินนโยบายสาธารณะร่วมกับเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงทางการคลังโดยภาครัฐเสมอ ในระยะปานกลาง – ระยะยาว การปรับโครงสร้างรายได้รัฐบาลรวมถึงการสร้างธรรมาภิบาลภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อสถาปัตยกรรมทางการคลังมีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากขึ้นตามขนาดเศรษฐกิจและกระแสโลกาภิวัฒน์

 

กลไกที่นำมาสู่ปัญหาวิกฤตการณ์ฐานะทางการคลัง

ในการนำนโยบายประชานิยมมาใช้รัฐบาลยังต้องดำเนินการแสวงหาเงินเพื่อมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย  แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยังต้องดำเนินการอุดหนุนโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง  ด้วยเหตุนี้เองเพื่อไม่ให้ภาระในการหาเงินเพื่อมาใช้ในนโยบายต่างๆ  รัฐบาลจึงจำเป็นต้องลดการอุดหนุนต่างๆ ลง ซึ่งในที่สุดนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เคยใช้มาก็เริ่มที่จะล้มเหลวหรือไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้  ซึ่งก็จะทำให้ความมั่นคงของรัฐบาลตกไปสู่ในสถานะที่อันตราย  ซึ่งถ้าดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลดีในระยะยาวมากกว่า ซึ่งในด้านความมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์แล้วนักวิชาการบางกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นว่านโยบายประชานิยมเหล่านี้มีต้นทุนที่สูงมากและไม่คุ้มค่าที่จะดำเนินต่อเนื่อง และไม่เหมาะที่จะนำมาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทยในระยะยาว

รายจ่ายประจำที่ไม่สามารถตัดลดได้ ประกอบด้วย

งบบุคลากร

-           งบเงินเดือน ค่าจ้าง และอื่นๆ

-           ค่าวิทยากร

งบดำเนินการงบอุดหนุน

-           งบอุดหนุนกองทุนประกันสังคม

-           บำเหน็จและเงินสมทบ

-           เงินอุดหนุนท้องถิ่น (หมวดรายจ่ายประจำ)

งบรายจ่ายอื่น

-           ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเงินกู้ที่รัฐบาล กู้โดยตรง

-           ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐบาลรับภาระ

-           กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

-           กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

-           กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

-           งบรายจ่ายผูกพันของกระทรวงกลาโหม

 

รายจ่ายลงทุนที่ไม่สามารถตัดลดได้ ประกอบด้วย

-           งบลงทุนผูกผันของส่วนราชการ

-           เงินอุดหนุนเพื่อการลงทุน

เงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ

-           หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง

-           เงินกู้ต่างประเทศ

-           เงินกู้ในประเทศ

-           หนี้ที่รัฐบาลชดเชยให้แก่รัฐวิสาหกิจ

-           เงินกู้ต่างประเทศ

-           เงินกู้ในประเทศ