Cash is King

Cash is King

ก่อนจะเข้าเรื่องของเดือนนี้ ผมต้องขอประทานโทษท่านผู้อ่านที่กรุณาติดตามงานของผมท่านหนึ่ง(หรืออาจจะหลายท่าน)

ที่ผมสัญญากับท่านว่าผมจะเขียนเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนบ้านเรา ผมคงต้องใช้เวลาทำการบ้านอีกเล็กน้อยแล้วจะกลับมาเขียนให้อ่านตามที่สัญญากันไว้นะครับ 


จากบทความของผมในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้กล่าวถึง Fed และการตัดสินใจของ Fed และผลกระทบที่ตลาดการเงินของโลกได้รับผลกระทบและมีปฏิกิริยาต่าง ๆ ออกมา ในเดือนนี้ผมก็ยังคงจะกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวต่อไปนะครับ ข้อเท็จจริงก็คือ มันเป็นคำถามที่ยอดฮิตมาก (และคงไม่ใช่มีมาถึงผมคนเดียว) ว่าจะทำอย่างไรดีในสภาวะตลาดเช่นนี้ คำถามบางคำถามก็ดูออกจะขำ ๆ แต่หากพิจารณาในความขบขันนั้น ๆ ก็จะรู้เลยว่าจริงแล้วมันแฝงอยู่ด้วยความกังวลใจและลังเลใจไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ขนาดของปัญหาอาจจะเริ่มต้นที่เงินเพียง 5,000 บาทไปจนถึงหลายร้อยหลายพันล้านบาทนะครับ

Cash is King หรือเงินสดดีที่สุดในที่นี้เราจะจำกัดขอบเขตการพิจารณาในแง่ของการตัดสินใจในตลาดการเงินเท่านั้นนะครับ ไม่ได้หมายรวมถึงการทำธุรกิจพิเศษสีเทาที่ต้องใช้เงินสดมาก ๆ เท่านั้น ต้องออกตัวไว้ก่อนนะครับ ในสภาวะที่ราคาของสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) มีการลดลงของมูลค่าอย่างต่อเนื่อง เร็วบ้างช้าบ้าง การเข้าไป "ช้อน” ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไปกู้หนี้ยืมสิน (Leverage) มาลงทุน การที่จะหาและรอจังหวะในการลงทุนดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และถึงแม้ว่าจะหลวมตัวเข้าไปช้อนเอาไว้แล้วก็ตาม การหยุดพักสักนิดหาจังหวะเฉลี่ยก็น่าจะเป็นทางออกที่ฉลาดอยู่นะครับ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในลักษณะที่หุ้นลง , ตราสารนี้ลง ,ทองลง ,น้ำมันลง และอะไร ๆ ก็มีค่าลดลง ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนะครับ มองย้อนไปในอดีตก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง มันมักจะตามมาด้วยความเฉื่อยของตลาดผู้คนดูเหมือนจะไม่อยากทำอะไร ปริมาณการซื้อ/ขายก็ลดลง จนถึงจุดๆ หนึ่ง ที่ตลาดจะตีกลับ และคนที่มองเห็นมันก่อนก็จะเป็นผู้ที่ชนะอยู่เสมอ แต่เขาจะมองเก่งอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาต้องมีให้พร้อมและพอก็คือกระสุนหรือเงินสดนั่นเอง

การถือครองเงินสดในสภาวะที่กล่าวข้างต้นสามารถที่จะ guarantee ได้ว่ามูลค่าของเงินสดที่ถืออยู่จะไม่ด้อยค่าลงไปเท่าใดนัก (เพราะเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำ) เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ชนิดอื่น ๆ เงินสดที่ถือครองอยู่จะทำให้เจ้าของมีอำนาจสูงไม่ว่าจะเป็นเพื่อการจับจ่ายใช้สอย (Transaction Demand for Money) หรือการลงทุน(Speculative Demand for Money) เพราะตลาดอยู่ในภาวะซบเซา การมี demand ในสินค้าหรือบริการเพียงน้อยนิดย่อมทำให้ "ผู้ขาย” อยากขายมากเพื่อเอาเงินสดของเรา ผมก็เลยอยากจะเรียนแนะ trick สักเล็กน้อยกับเงินสดที่ถือครองอยู่นะครับ

ข้อแรก คือ ไม่ต้องรีบ ที่ว่าไม่ต้องรีบไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไรเลยนะครับ ดังที่ได้เรียนไว้เมื่อเดือนที่แล้ว ปัจจัยสำคัญก็คือมูลค่าที่ "โดน”(right valuation) บางคน "โดน”เร็ว แต่บางคนก็ช้า แต่จะช้าหรือเร็วก็ต้องเข้าไป”เก็บ”นะครับ

เทคนิคของผมส่วนตัวในสถานการณ์เช่นนี้ผมจะลดและหรือชะลอการเข้าไป "ช้อน” เช่นเคยซื้อเดือนละ 10,000 บาท อาจจะเหลือ 6,000 หรือ 7,000 บาท และทุก ๆ 45 วันเป็นต้น 


ข้อที่สอง ดูให้ดี อย่างที่เรียนคือ valuation is the Key ผมเมื่อไม่ต้องรีบก็จะมีเวลา "เลือก”ได้ ทำการบ้านมากขึ้นเล็กน้อย ทบทวนความจำสักเล็กน้อยว่าสินทรัพย์ตัวไหนที่อยากได้เอาไว้ในรอบที่แล้ว แล้วผิดหวัง ก็ตามให้ดี ๆ พิจารณาจังหวะแล้วหาโอกาสเข้าไปเก็บได้เลย

ข้อที่สาม มีวินัย เงินออมของเรา เราต้องดูแลให้เป็นไปตามที่เราตั้งใจนะครับ หากเราตั้งใจที่จะลงทุนก็คงต้องนำไปลงทุนจะไม่นำไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น เพราะมันจะมีสิ่งยั่วยวนท่านมากมายต่าง ๆ นานา ให้ท่านควักเงินส่วนนี้ออกไป และในท้ายที่สุดท่านก็จะเสียโอกาสอีกครั้งหนึ่ง

ปัญหาที่จะพบอยู่เสมอ ๆ สำหรับคนที่มีการถือครองเงินสดก็คือ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ตลาดจะกลับมาดี แล้วยังไม่ทันได้ซื้อหรือลงทุนอะไรและอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ทำใจไม่ได้กับผลตอบแทนที่ต่ำถึงต่ำมากของการถือครองเงินสด ผมมีข้อแนะนำดังนี้นะครับ คือ ต้องทำใจให้ได้ และตอนนี้เป็นโอกาสทองของการถือครองเงินสดที่จะได้เลือกลงทุนในสิ่งที่ตนเองพอใจไม่ต้องไปแย่งกับใคร และมีเวลาในการวิเคราะห์แบบไม่ต้องรีบ ส่วนอีกปัญหาหนึ่งเรื่องการตีกลับของตลาด (Market Reversal) ปัญหาเรื่องนี้ยากที่จะตอบ แต่หากเราทำตามข้อแนะนำของผมข้างต้น ก็รับรองว่าไม่ตกรถไฟแน่นอน เพียงแต่บางท่านอาจจะช้อนเร็วไปหน่อย หรือซื้อแพงไปนิดเท่านั้น หากจะให้ฟันธงผมเชื่อว่าตลาดจะไม่ตีกลับก่อนสิ้นปีนี้แน่นอน ดังที่ได้เรียนไว้ก่อนหน้านี้ว่าผมเชื่อว่า Fed จะปรับดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม หากเป็นไปตามนั้นมกราคมปีหน้า (2559) น่าจะเป็นเดือนที่น่าสนใจและมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าฝุ่นน่าจะตลบแล้วจะค่อย ๆ จางลง มุมมองก็จะชัดขึ้น และผมก็ยังเชื่อว่า Fed จะนำเศรษฐกิจอเมริกากลับมาดีอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งในที่สุดสินทรัพย์ทางการเงินก็จะมีราคาสูงขึ้น ค่าของเงินดอลลาร์ก็จะสูงขึ้นด้วย ดังนั้นเราคงต้องเตรียมตัวสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ไว้นะครับ สุดท้ายทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมและโปรดใช้วิจารณญาณด้วยนะครับ