เมื่อยักษ์ใหญ่ก่อสร้างไทยประกาศศักดาในแดนภารตะ

เมื่อยักษ์ใหญ่ก่อสร้างไทยประกาศศักดาในแดนภารตะ

พูดถึงอินเดีย คนไทยส่วนใหญ่จะส่ายหน้ากันหมด เพราะยังยึดติดอยู่กับความเชื่อเก่าๆ ทำให้มองข้ามโอกาสดีๆ

ไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่ใจถึงจากประเทศไทย ที่มองต่างมุม และสามารถเข้าไปยืนผงาดประกาศศักดาประเทศไทยได้อย่างสมศักดิ์ศรีน่าชื่นชมยิ่ง บริษัทที่ว่านี้ก็คือ บริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด หรือที่คนไทยเราคุ้นเคยกับชื่อ อิตัลไทย หรือ ITD นั่นเอง

 ITD บุกเข้าไปในอินเดียตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งนับถึงวันนี้ก็ปาเข้าไป 15 ปีแล้ว โดย ITD เริ่มเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทก่อสร้างท้องถิ่นคือ บริษัท Somdatt Builder Company Limited ประมูลงานถนนและรถไฟฟ้าที่กรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดีย แล้วไปประสบความสำเร็จประมูลได้งานถนนสายหนึ่งที่เมือง Ganpur รัฐอุตระประเทศมูลค่างาน 2,983 ล้านรูปี ซึ่งในขณะนั้นค่าเงินรูปีอยู่ที่ 1 รูปีต่อ 0.95 บาท หลังจากนั้น ก็ลุยเดี่ยวไปได้งานก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่รัฐหิมาจัล ประเทศทางตอนเหนือของอินเดียในปี 2546

กลางปี 2547 บริษัท Skanska International ซึ่งขณะนั้นถือเป็นบริษัท Top 5 ของโลกสัญชาติสวีเดน ตัดสินใจขายบริษัทลูกในอินเดียชื่อ Skanska Cementation India limited (SCIL) ให้กับ ITD เนื่องจากบริษัทแม่ที่สวีเดน มีนโยบายที่จะมุ่งเฉพาะตลาดยุโรปและอเมริกาเท่านั้น ITD จึงได้ซื้อกิจการ SCIL และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ITD Cementation India Limited หรือ ITDCem จนถึงปัจจุบัน

โดย ITDCem เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มุมไบ มีมูลค่าตลาดในปัจจุบันประมาณ 12,389 ล้านรูปี หรือประมาณ 6,200 ล้านบาท โดยในช่วงแรกที่ ITD เข้าไปบริหาร ITDCem ใหม่ๆ ITDCem ยังเป็นบริษัทก่อสร้างที่เน้นไปทางด้านงานฐานราก และงานปรับปรุงคุณภาพดิน รวมทั้งงานก่อสร้างท่าเรือและถนน

หลังจากที่ ITD เข้าไปบริหารงานบริษัท ITDCem แล้ว ก็เริ่มขยายงานก่อสร้างไปยังสาขาอื่นๆ โดยเริ่มต้นจากงานถนนอีกหลายสาย งานรถไฟฟ้ายกระดับและใต้ดิน สนามบิน งานวางท่อส่งน้ำด้วย Trenchless Technology งานสร้างเขื่อนพลังน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า งานชลประทาน และงานก่อสร้างอาคาร จนขณะนี้ ITDCem ถือเป็นบริษัทก่อสร้างเพียงไม่กี่รายในอินเดีย ที่มีคุณสมบัติสามารถประมูลโครงการขนาดใหญ่ต่างๆครอบคลุมเกือบทั้งหมดแล้ว โดยในปี 2558 ITDCem ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมด้วยรายได้ 28,000 ล้านรูปี หรือประมาณ 14,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 ที่จะถึงนี้ บริษัทฯ จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านรูปี หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยประเมินจากงานที่มีอยู่ในมือขณะนี้

ที่น่าปลื้มใจกว่านั้นก็คือ บริษัท ITDCem ของไทยเราได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ผ่านโครงการใหญ่ๆ ในอินเดียหลายโครงการ อาทิ

    งานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าและสถานีรถไฟใต้ดิน กรุงเดลี ระยะที่ 2 มูลค่า 9,000 ล้านรูปี งานก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าและสถานีรถไฟใต้ดิน กรุงเดลีระยะที่ 3 มูลค่า 9,000 ล้านรูปี งานก่อสร้างส่วนขยายสนามบินนานาชาติกอลกัตตามูลค่า 20,000 ล้านรูปี งานถมและขุดลอกทะเล เพื่อก่อสร้างท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่า 21,000 ล้านรูปี ที่เพิ่งได้มีการลงนามสัญญาจ้าง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย เป็นสักขีพยานไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ณ เมืองมุมไบ

ถ้านับจนถึงเดือนมิถุนายน 2558 บริษัท ITDCem มีงานที่ประมูลได้อยู่ในมือแล้วเป็นมูลค่า 64,000 ล้านรูปี และคาดว่าจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2558 ITDCem จะได้งานประมูลเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 90,000 ล้านรูปีเลยทีเดียว โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 50 โครงการ ซึ่งต้องถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียวสำหรับยักษ์ใหญ่ก่อสร้างของไทย ที่ไปประกาศศักดาไกลถึงอินเดีย ปัจจุบัน สำนักงานบริษัท ITDCem ตั้งอยู่ที่เมืองมุมไบ ในรัฐมหาราษฏระ โดยมีทีมผู้บริหารไทยประจำอยู่ที่นั่น 6 ท่าน นำโดย คุณอดุลย์ สารบัญ กรรมการผู้จัดการคนเก่ง ที่ต้องบริหารพนักงานอินเดียจำนวน 2,363 คน และคนงานอินเดียอีก 14,030 คน

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอดุลย์ สารบัญเมื่อเร็วๆ นี้ และได้แง่คิดที่ดีมากๆ จากคุณอดุลย์ เกี่ยวกับการเข้าไปทำงานในอินเดียให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนักธุรกิจไทย ที่สนใจไปลงทุนที่นั่น ผมขอสรุปสิ่งที่คุณอดุลย์ได้กรุณาเล่าให้ฟังตามนี้เลยครับ

-      ถ้าต้องการทำงานในอินเดียให้สำเร็จ จำเป็นต้องใช้ความพยายามและความอดทนสูง เนื่องจากอินเดีย เป็นประเทศใหญ่ ประชากรมาก ต่างเชื้อชาติและภาษา เหมือนกับมี 29 ประเทศรวมอยู่ในประเทศเดียวกัน แถมคนในชาติสวนใหญ่ก็ยังมีความเป็นอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยเฉพาะความรู้และจิตสำนึก จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจในเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้คนส่วนใหญ่เข้าใจตรงกันได้

-      หากต้องเลือกคนเพื่อไปปฏิบัติงานในอินเดีย คุณสมบัติอันดับแรกคือ ต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดี

ใจเย็น และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ “ความเก่ง” เป็นคุณสมบัติรองลงมา เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีคนเก่งมากมายที่ไม่สามารถสร้างความสำเร็จในอินเดียได้ เพราะเขาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอินเดียหลายๆ อย่างได้

-      ยึดถือแนวทาง 3P หรือ PPP ในการทำงานคือ   Pursuing หมายถึง ต้องติดตาม คำสั่งใดๆ อย่าคิดว่าสั่งไปแล้วจะสำเร็จ จะต้องมีการติดตามเสมอ Persisting หมายถึง ต้องอึด ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ และ Patient หมายถึง ต้องอดทน อดกลั้น จะต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้ คนอินเดียมีร้อยเหตุผล ที่จะทำให้เขาไม่สามารถรักษาคำพูดได้ เขาคิดว่านั่นคือสาเหตุ แต่เราคิดว่านั่นคือคำแก้ตัว บางครั้งก็ต้องทนฟัง หากเราเป็นผู้บังคับบัญชา เราอาจจะสั่งการให้คนอินเดียทำตามความเห็นของเราได้ แต่หากเป็นคู่ค้า มีทางเดียวคือ จะต้องอธิบายและโน้มน้าวให้เขายอมรับเหตุผลของเราให้ได้ เขาจึงจะยอมทำตามที่เราต้องการ

-      ธุรกิจก่อสร้างเป็นธุรกิจที่โหดที่สุดเมื่อเทียบกับหลายๆ ธุรกิจ เพราะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากทุกระดับ ตั้งแต่กุลียันดอกเตอร์ ในแต่ละวันงานที่ทำจะไม่ซ้ำกัน สภาพแวดล้อมก็ต่างกันไป แถมคนทำงานก็ต่างกัน ไม่เหมือนงานโรงงานหรือธุรกิจอื่น ที่แนวทางดำเนินการมีกรอบการดำเนินงานชัดเจน

-      บริษัทจะต้องมีระบบการตรวจสอบและรายงานผลงานของแต่ละแผนก แต่ละโครงการ หรือแต่ละ

Business Unit ที่ดี เมื่อผู้รับผิดชอบเห็นรายงานการปฎิบัติงานของหน่วยงานตัวเอง ก็จะสามารถรู้ได้ว่าเกิดความผิดพลาดตรงไหน ด้วยวิธีนี้ กระบวนการแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นด้วยความตระหนักรู้ด้วยตัวเขาเอง แทนที่เราจะต้องสั่ง ซึ่งคนอินเดียไม่ชอบ

-      ใน ITDCem มีการสร้างระบบ Balance Scored Card และมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ให้

พนักงานระดับหัวหน้าทุกคนปฏิบัติ ตั้งแต่ระดับโครงการ รวมศูนย์ไปถึง Business Unit และต่อไปยังระดับ Corporate ทุกคนจะรู้เป้าหมายของตัวเอง และรู้ว่าในแต่ละเดือนตนทำงานเข้าเป้ามากน้อยแค่ไหน ใครมีผลงานดีกว่าใคร

-      ทุกๆ องค์กรมักมีปัญหาเสมอ และปัญหาก็จะมีอยู่ 2 อย่างคือ ปัญหาจริงและปัญหาเทียม ปัญหาประเภทหลังในอินเดียจะมีมากกว่าปกติ เนื่องจากอินเดียเป็นชาติที่หยิ่งในศักดิ์ศรีคือ มีอีโก้ (EGO) สูง ความสามารถเฉพาะตัวคนอินเดียสูงมาก แต่พอทำงานเป็นทีมมักมีปัญหา และปัญหาใหญ่ก็คือ EGO ที่ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ถือเป็นปัญหาเทียมที่ใหญ่มากของคนอินเดีย การตำหนิคนอินเดียให้เขายอมรับผิด แทบเป็นไปไม่ได้เลย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จิตวิทยาในการบอกเขาเพื่อไม่ให้เขาเสียหน้า

ผมเล่าเรื่องนี้มาทั้งหมดด้วยความภาคภูมิใจในความสามารถของบริษัทไทย ที่มองการณ์ไกล และใจถึง ก็หวังว่าเรื่องราวดีๆ ของกลุ่มบริษัทอิตาเลียนไทย น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้นักธุรกิจไทยบุกเข้าไปแสวงหาโอกาสที่มีอยู่อย่างมหาศาลในอินเดียกันมากขึ้นนะครับ