หวังอะไรได้บ้าง จาก 4 เดือนสุดท้ายของปี

หวังอะไรได้บ้าง จาก 4 เดือนสุดท้ายของปี

ธุรกิจเดินทางมาเข้า “โค้งสุดท้าย” ของปี

ปีแห่งความ “เหน็ดเหนื่อย” จากการเร่งปั๊มยอดขาย ประคองรายได้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก 

ที่กระทบลามเป็น “โดมิโน” มาสู่เศรษฐกิจไทย ที่ก่อนหน้านี้ต้องบอกว่า.. ยังขาด มาตรการรับมือ ปัญหาที่ถาโถมมาจากหลายสารทิศ ที่ดีพอ

โดยเฉพาะ ปัญหาการส่งออกติดลบ การลงทุนภาครัฐและเอกชน ที่ชะงักงันยาวนาน  

เมื่อเป็นเช่นนี้  กำลังซื้อของผู้บริโภคจึงหดหาย จากเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบที่น้อยลง  

ไม่นับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้น กดดันกำลังซื้อไม่หยุดหย่อน

แม้ภาคธุรกิจจะ เริ่มเห็นแสงรางๆ ที่รอวันสุกใส ของมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ที่เริ่่มออกมาเป็น“ระลอก” หลังรัฐเลือกที่จะ เปลี่ยนม้ากลางศึก  ด้วยการดึง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาคุมทีมเศรษฐกิจ ในตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคาพยพของเขา

กับหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เข็นออกมาเป็นเฟสๆ แต่ละเฟสว่ากันด้วยเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเป็น แสนล้าน  

เริ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของผู้มีรายได้น้อย วงเงินรวม  1.36 แสนล้านบาท โดยเฉพาะการปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท โดยเม็ดเงินตรงดิ่งถึงประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 

ตามมาด้วยมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม” (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะการปล่อยกู้ อัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 4% เป็นเงินทุนหมุนเวียน วงเงิน 1 แสนล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ โดยมีธนาคารออมสินเป็นแกนนำ ร่วมกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่เพิ่งลงนามร่วมกับบรรดาสถาบันการเงินไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สเต็ปต่อไปคือ “มาตรการกระตุ้นการลงทุน” ที่เน้นไปที่ ผู้ประกอบการายใหญ่ ที่น่าจะเห็น “เค้าลาง” ในสัปดาห์นี้ เพื่อเข็นบางโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ออกมาในส่วนของโครงการภาครัฐ ทำให้เงินหมุนไปสู่ระบบเศรษฐกิจสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้าง 

ส่วนการเร่งการลงทุนของภาคเอกชน จะดำเนินการผ่าน “มาตรการส่งเสริมการลงทุน” ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่ผ่านมามีการพูดถึง “การยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล จากเพดานยกเว้นสูงสุด 8 ปี เป็น 13 ปี ซึ่งต้องคอยจับตาดูความเป็นไปได้ของมาตรการ

ล่าสุด บอร์ดบีโอไอยังอนุมัติ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับโครงการที่ลงทุนจริงและเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2560 ตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม

โดยในส่วนของกิจการที่ลงทุน “ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” จะได้ร้บการยกเว้นภาษีเงินไดนิติบุคคลเพิ่มอีก 2  ปีแต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี หรือหากเป็นกิจการที่ไดร้ับยกเว้น 8 ปีอยู่แล้ว จะได้รับการลดหย่อน 50 % อีก 5 ปี (ในปี ที่ 9-13)  

ส่วนกลุ่มกิจการที่ตั้ง “นอกเขตพัฒนาศรษฐกิจพิเศษ” จะได้รับการยกเวน้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1  ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี

ทว่า.. มาตรการเหล่านี้ จะเห็นผลเป็นรูปธรรมต่อกำลังซื้อ และเศรษฐกิจไทยเมื่อไหร่

จากการสอบถาม ผู้ประกอบการหลายราย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กว่ามาตรการจะเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ส่วนใหญ่น่าจะผ่านช่วงสุดท้ายของปีไปแล้ว เพราะล้วนมีขั้นตอนในการดำเนินงาน และต้องรอผลลัพธ์ของมาตรการอีกระยะ

ช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ทำได้ดี คือ การเรียกคืนความเชื่อมั่น กระตุกกำลังซื้อกลับมาบ้าง แต่ไม่ถึงกับตื่นเต้น

เมื่อเทียบกับ ปีหน้าซึ่งน่าจะเป็นฟ้าใหม่ ที่สดใสกว่าเดิม..