ทบทวนความหมายเสรีภาพสื่อในสังคมไทย

ทบทวนความหมายเสรีภาพสื่อในสังคมไทย

สัปดาห์ที่แล้ว มีปรากฏการณ์บางอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้ผู้เขียน ซึ่งเป็นครูผู้สอนเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชน เริ่มเกิดอาการพะวักพะวนว่า...

...อาจต้องทบทวนความเข้าใจของตัวเองเสียใหม่เกี่ยวกับข้อกฎหมายและสภาพบังคับใช้ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน

เพราะเท่าที่ลองวิเคราะห์ดูเบื้องต้น ความเข้าใจเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อของผู้เขียนน่าจะแตกต่างจากความเข้าใจของหลายๆ ท่านที่กำลังมีบทบาทในการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวในปัจจุบัน และสื่อมวลชนบางส่วนอย่างมีนัยสำคัญ

ในระดับพื้นฐาน เสรีภาพกับสิทธิเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันและเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย แต่ทั้งสองมีนัยอันแตกต่างกันอย่างชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อมาอยู่ในบริบทของกฎหมาย

สิทธิ หมายถึง ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แก่บุคคลในอันที่จะกระทำการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือบุคคล

สิ่งใดที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นสิทธิ หมายความว่า รัฐให้สิทธิแก่ประชาชนโดยรัฐมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามหรือต้องทำให้ประชาชนได้รับสิทธินั้น เช่น สิทธิในการเลือกตั้งของพลเมืองชาวไทยทุกคน สิทธิที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับของเด็กและเยาวชน และสิทธิของคนพิการและทุพพลภาพที่จะได้รับความช่วยเหลือและการดูแล เป็นต้น

ส่วนเสรีภาพ หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของผู้อื่น มีอิสระที่จะกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ

สิ่งใดที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นเสรีภาพ หมายความว่า ประชาชนมีเสรีภาพเช่นนั้น โดยรัฐมีหน้าที่ทั่วไปที่จะงดเว้นที่จะขัดขวางการใช้เสรีภาพนั้นของประชาชน แต่รัฐไม่มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะจัดหาสิ่งที่เป็นเสรีภาพ เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นเสรีภาพโดยสมบูรณ์ซึ่งรัฐจะแทรกแซงมิได้เลย เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆ มา จะแทรกแซงได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะของสงคราม หรือเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยเท่านั้น

นอกจากสิทธิและเสรีภาพแล้ว รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดก็ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อวางกรอบไม่ให้การกระทำใดๆ ของรัฐในอันที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนต้องคำนึงถึงการให้ความเคารพความเป็นมนุษย์ของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก

ทั้งนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หมายถึง คุณค่าอันมีลักษณะเฉพาะที่ผูกพันอยู่กับความเป็นมนุษย์ ซึ่งบุคคลในฐานะที่เป็นมนุษย์ทุกคนได้รับคุณค่าดังกล่าวโดยไม่ต้องคำนึงถึง เพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัย หรือคุณสมบัติอื่น ๆ ของบุคคล การดำเนินการใด ๆ ของรัฐ หากรัฐไม่ให้ความสำคัญแก่มนุษย์ ทำให้ถูกลดคุณค่าลงมาเป็นเพียงวัตถุของการกระทำของรัฐ ถือว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำที่ทำให้คุณค่าของความเป็นคนถูกลดลงต่ำกว่าจารีตที่พึงจะปฏิบัติต่อกัน เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะเกาหัวว่า ผู้เขียนจะมาพูดถึงสิทธิ เสรีภาพ และ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมไทยตอนนี้ทำไม ราวกับไม่รู้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเว้นวรรคทางประชาธิปไตย อยู่ในสถานการณ์พิเศษของการปฏิรูปประเทศ ที่เสมือนอยู่ในสุญญากาศแห่งเวลา ที่เงื่อนไขแห่งประชาธิปไตยใดๆ ยังไม่สามารถใช้การได้

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า แม้ใน “ภาวะพิเศษ” นี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ก็ยังให้ความคุ้มครองกับสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุไว้ว่า

“ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

ที่น่าสนใจมากก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ไปไกลกว่า รัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมาเพราะครอบคลุมไปถึง กฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศใดๆ ที่ประเทศไทยเคยไปลงนามไว้ด้วย

ในแง่มุมอันเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพ กฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่ทางรัฐไทยในอดีตได้ไปมีข้อผูกพันไว้ก็เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งในบทบัญญัติข้อ 19 ของกฎหมายทั้งสองฉบับก็พูดชัดเจนเกี่ยวกับ เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น ไว้ดังนี้

“ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเชื่อ และในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในข้อนี้ หมายรวมถึงสิทธิในการยึดถือความเชื่อและความคิดเห็นโดยไม่ถูกแทรกแซงใดๆ และรวมถึงสิทธิในการแสวงหา รับ และถ่ายทอดความคิดและข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ โดยไม่จำกัดประเภทและไม่จำกัดพรมแดนทางภูมิศาสตร์”

แม้ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีการออกประกาศ คสช.หลายฉบับที่ให้อำนาจในการควบคุมการแสดงออกและการสื่อสารในระดับสาธารณะของประชาชนและสื่อมวลชน แต่ตามลำดับศักดิ์ของกฎหมายแล้ว หลักของรัฐธรรมนูญถือว่าสูงที่สุด ใหญ่ที่สุด และขัดแย้งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็ถือว่าหลักของUDHR และ ICCPR ยังเป็นกรอบในทางปฏิบัติที่ยังคงมีผลอยู่ และอยู่เหนือประกาศฉบับใดๆ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการเรียกนักข่าวคนหนึ่งไปปรับทัศนคติข้ามวันข้ามคืนในห้องปิด สืบเนื่องจากที่นักข่าวผู้นี้ชอบเขียน ชอบโพสต์ และทวีตความคิดเห็นอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์คสช.และรัฐบาลปัจจุบัน โดยจบลงด้วยการให้นักข่าวลงชื่อว่าจะไม่แสดงออกทางการเมืองในลักษณะดังกล่าวอีก ทางองค์กรระหว่างประเทศทั้งที่เป็นองค์กรภาครัฐและองค์กรในภาคประชาสังคมที่ใส่ใจและเคลื่อนไหวในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกจึงให้ความสนใจต่อกรณีดังกล่าวกันกว้างขวาง เพราะคงพิจารณาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่สอดคล้องกับ UDHR และ ICCPR ซึ่งรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้

ขณะที่กลุ่มดังกล่าวซึ่งน่าจะห่างไกลจากแวดวงของนักข่าวผู้นี้แสดงความห่วงใย กลุ่มนักวิชาชีพข่าวบางคนที่อยู่ใกล้ตัวนักข่าวในองค์กรเดียวกันเองกลับรณรงค์เพื่อกดดันให้นักข่าวคนดังกล่าวลาออกจากองค์กร ซึ่งท้ายที่สุดก็มีข่าวว่านักข่าวคนดังกล่าวจะลาออกโดยมีผลในปลายเดือนนี้

แม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ของเพื่อนร่วมงานที่เป็นสื่อมวลชนเหมือนกันกับนักข่าวผู้นี้ แต่ผู้เขียนก็ต้องเคารพในเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา ไม่ใช่เพียงเพราะเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน แต่เพราะเชื่ออย่างจริงใจว่า แม้ความคิดเห็นนั้นจะไม่ตรงตามหลักการที่ถูกใจเรา แต่การปรากฏของมันต่อสาธารณะ ย่อมจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ได้ถูกจารึกไว้เพื่อสอนคนรุ่นหลังต่อไปว่าการได้มาซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกในสังคมไทยนั้น ไม่ง่ายเลยจริงๆ