Gig Economy

Gig Economy

Gig Economy มิได้หมายถึง Digital Economy หรือแม้แต่ ‘เศรษฐกิจเกี่ยวกับกิ๊ก’ ของไทย

หากเกี่ยวพันกับปรากฏการณ์ใหม่ที่สอดคล้องกับรสนิยม และความปรารถนาของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีทั้งจุดแข็งจุดอ่อน

Digital Economy นั้นมีชื่ออื่นว่า New Economy หรือ Web Economy หรือ Internet Economy ซึ่งหมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของ IT (IT เรียกเล่นๆ ว่าเป็นลูกที่เกิดจากการแต่งงานระหว่าง computer กับโทรศัพท์) เช่น การซื้อขาย on-line / Digital TV / social media ฯลฯ ซึ่งบางส่วนเกี่ยวเนื่องกับ Gig Economy

ส่วน ‘เศรษฐกิจเกี่ยวกับกิ๊ก’ นั้น เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นเรื่องศีลธรรม คำว่า ‘กิ๊ก’ ฟังดูน่ารัก เป็นมิตร หากใครมีกิ๊กก็ไม่ผิดศีลธรรมเพราะมันดูคิกขุ ไร้เดียงสา ไม่ผิดศีลธรรม (มันแค่กิ๊กยังไม่ถึง gigabyte เลย) ทั้งๆ ที่จริงแล้ว ‘กิ๊ก’ ก็คือการนอกใจ การทรยศ ฯลฯ ใครเห็นว่า ‘กิ๊ก’ เป็นเรื่องธรรมดาก็คือ ‘การเห็นกงจักรเป็นดอกบัว’

เมื่อปฏิเสธไปแล้วว่า Gig Economy ไม่ใช่ทั้งสองอย่างข้างต้น คราวนี้ก็ต้องขยายความว่ามันคืออะไร ขอเริ่มที่คำว่า Gig ในภาษาอังกฤษซึ่งมีหลายความหมาย เช่น รถสองล้อที่ ม้าลาก เรือลำยาวแคบๆ สำหรับพาย งานแสดงดนตรี แต่ในที่นี้เป็นคำสแลงอเมริกันหมายความถึง ‘งาน’

Gig Economy หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยงานชนิดที่เป็น part time / ชั่วคราว / freelance / self-employed หรืองานที่รับมาจากคนอื่นอีกต่อเป็น outsource กล่าวโดยสรุปก็คือ ไม่ใช่งานประจำแบบเป็นลูกจ้างดังที่เคยเป็นกันมา

Adam Smith บิดาวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 18 ไว้ในหนังสือคลาสสิกชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations (ค.ศ.1776) ว่าแต่ละคนค้าขายกันและเกิดเป็นระบบตลาดเสรี และต่อมาในอีก 2 ช่วงศตวรรษหลังการเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18 ก็มีบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก มีนายจ้างและลูกจ้างทำงานรับเงินเดือน ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน และมีผู้ประกอบการอิสระ มีผู้รับจ้างงานอิสระด้วย

ในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา เราเห็นปรากฏการณ์ในโลกตะวันตกที่ผู้คนจำนวนไม่น้อย กำลังกลับมาค้าขายตัวต่อตัวดังที่ Adam Smith บรรยายไว้ โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง digital revolution ตัวอย่างได้แก่ การซื้อขาย on-line โดยถึงตัวระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอยู่ใน Gig Economy อย่างไรก็ดี โลกใหม่ที่เรากำลังเห็นแตกต่างไปจากระบบกลไกตลาดแบบ พื้นๆ ที่ Adam Smith มองเห็น

เราเห็น Uber (ระบบบริหารแท็กซี่ที่รถยนต์เอกชนร่วมรับจ้างเป็นบางครั้ง) Airbnb (ระบบการให้เช่าที่พักส่วนตัวทั่วโลก) Etsy (ระบบซื้อขายสินค้าทำด้วยมือแนวศิลปะ) TaskRabbit (ระบบจ้างเพื่อนบ้านช่วยทำธุระ) การรับงาน freelance รับงาน outsource รับจ้างงาน ชั่วครั้งชั่วคราว ฯลฯ โดยไม่มีลูกจ้างทำงานประจำของบริษัท

งานส่วนใหญ่ใน Gig Economy ผู้รับเงินเป็นรายได้มิใช่ลูกจ้าง หากมีตัวกลางเป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ดังเช่นกรณีของ Uber (คนขับแท็กซี่ซึ่งเป็นคนทำงานอิสระตามใจชอบ รับเงินโดย Uber เป็นตัวกลาง) Airbnb (เจ้าของได้รับค่าเช่าผ่านคนกลาง) Etsy และ Task Rabbit ก็เช่นเดียวกัน คนกลางที่สร้างระบบเครือข่าย digital ขึ้นเป็นผู้จับผู้ซื้อผู้ขายมาพบกัน โดยตนเองได้เงินเช่นเดียวกับผู้ร่วมกิจกรรม

ในความหมายทั่วไป Gig Economy คือระบบเศรษฐกิจที่ผู้ทำงานรับงานเป็นครั้งๆ ตามความต้องการ (on demand) ซึ่งหมายความถึงความชั่วคราวไม่เต็มเวลา ความเป็นอิสระ ทำงานตามความสมัครใจโดยหลุดออกไปจากระบบดั้งเดิมของการเป็นลูกจ้างบริษัท

คนไทยในชนบทส่วนใหญ่นั้นจะว่าไปแล้วอยู่ใน Gig Economy มานานแล้ว เพราะไม่มีคนจ้างให้ทำงานประจำ ต้องทำงานอย่างเป็นอิสระอย่างไม่สมัครใจ เมื่อว่างจากงานเกษตรกรรมก็วิ่งรับจ้างหางานสารพัดอย่างมาเสริม เพราะไม่อาจอยู่รอดได้จากรายได้จากภาคเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงทำงานไม่เต็มเวลา ชั่วคราว เป็น freelance ซึ่งตรงกับคำจำกัดความของ Gig Economy เพียงแต่ไม่ได้สมัครใจ อย่างไรก็ดี Gig Economy ในที่นี้มีนัยยะว่า เลือกที่จะทำงานประจำแบบดั้งเดิมได้แต่ไม่ต้องการทำ

การรับงานชนิด Gig Economy อย่างสมัครใจและเต็มใจของคนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับรสนิยมในการต้องการความเป็นอิสระ สามารถเป็นนายตนเอง ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ได้คล่องตัว และประการสำคัญมั่นใจว่าสามารถรวยได้ในอนาคต

สิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” นั้นจริงเสมอ เพราะสิ่งที่ได้มาต้องเอาไปแลกกับความไม่แน่นอนและไม่สม่ำเสมอของรายได้ การขาดสวัสดิการและความเสี่ยง

สิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่ซึ่งชื่นชอบ Gig Economy จะต้องเผชิญอย่างเจ็บปวดก็คือ ความไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอนของรายได้ การได้เงินสม่ำเสมอไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตามที เป็นการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้ชีวิตในระดับหนึ่ง

ประเด็นที่คนรุ่นใหม่พึงพิจารณาก่อนเลือกเส้นทางใหม่นี้ก็คือ การตระหนักถึงด้านลบต่างๆ ที่จะต้องเผชิญก่อนที่จะประสบความสำเร็จ (หากสามารถประสบความสำเร็จ) เพื่อประกอบการตัดสินใจอันได้แก่ การขาดความคุ้มครองจากการทำงาน ซึ่งแตกต่างจากการเป็นลูกจ้างขององค์การ

ผลิตภาพ (productivity) ในการทำงานของผู้เลือกเส้นทาง Gig Economy เป็นปัจจัยสำคัญที่ตัดสินว่า ตนเองจะอยู่รอดหรือไม่ และเศรษฐกิจโดยส่วนรวม (ประเทศชาติ) จะดำเนินไปได้อย่างดีหรือไม่ ในปัจจุบันดีกรีของความเป็น Gig Economy ในบ้านเรายังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เริ่มมีโมเมนตั้มในการเคลื่อนไหวเข้าสู่ Gig Economy อยู่ไม่น้อย อันเห็นได้จากการประกอบธุรกิจ SME’s โดยเฉพาะใน digital economy

ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งยากหนักหนาที่ภาครัฐจะควบคุมดูแลให้เดินอยู่ในเส้นทางที่เหมาะสมได้ จำเป็นที่จะต้องมีอีกฟากหนึ่งที่เข้มแข็งมาคานไว้โดยธรรมชาติ การเป็น Gig Economy ในดีกรีที่เข้มข้นขึ้น จะเป็นอีกหนทางในการช่วยคานอำนาจ และให้โอกาสแก่คนรุ่นใหม่ในการเข้าร่วม

ผู้คนใน Gig Economy เผชิญความเสี่ยงและการขาดหลักประกัน ซึ่งการทำงานประจำสามารถให้ได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีบทบาทในการช่วยเหลือเสริมจุดอ่อนเหล่านี้ หากเห็นความสำคัญของมัน

อย่าลืมว่าการห่วงอาทรชีวิตและความสุขของพลเมืองทุกคน คือเป้าหมายแรกและเป้าหมายเดียวของรัฐบาลที่ดี