รัฐธรรมนูญกับทฤษฎีสัญญาประชาคม

รัฐธรรมนูญกับทฤษฎีสัญญาประชาคม

ในช่วงนี้คงไม่มีประเด็นทางการเมืองเรื่องใด จะร้อนแรงยิ่งไปกว่า กรณีร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดทำและส่งมอบให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา และก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งในแง่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะชี้ขาดก็คือประชาชนทั้งประเทศ ที่จะร่วมกันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากว่าร่างนี้ผ่านความเห็นชอบของ สปช.ในฐานะที่รัฐธรรมนูญนั้นเป็น “สัญญาประชาคม” ร่วมกันของคนในสังคม

แนวคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลมาจากเจตนารมณ์เสรีปรากฏชัดเจนขึ้นในราวกลางศตวรรษที่ 18 โดยผู้มีบทบาทสำคัญคือ นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่ง ชื่อ ฌอง จาค รุสโซ (ค.ศ.1712-1778) ที่พยายามอธิบายและทำให้เข้าใจว่า อำนาจในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญย่อมมีศักดิ์สูงกว่าการตรากฎหมายทั่วไป ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “ทฤษฎีสัญญาประชาคม”

จุดเริ่มต้นแนวคิดสัญญาประชาคมนั้น มาจากแนวคิดเรื่อง “สัญญาสวามิภักดิ์” ในหนังสือ Leviathan ของ โทมัส ฮอบส์ (ค.ศ.1588-1679) ซึ่งมุ่งอธิบายถึงธรรมชาติของมนุษย์ และโครงสร้างสังคม แม้ว่าฮอบส์จะปฏิเสธหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย และสอนให้ประชาชนสวามิภักดิ์ต่อระบอบกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม ถือว่าเขาเป็นผู้บุกเบิกแนวคิด เรื่องอำนาจปกครองสูงสุดนั้น มีรากฐานมาจากการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของคนในสังคม

นักปรัชญาการเมืองอีกท่านหนึ่ง ที่มีบทบาทในการพัฒนาทฤษฎีสัญญาประชาคมคือ จอห์น ล็อค (ค.ศ.1632-1704) เขามีทัศนะว่า การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เกิดขึ้นก็เพื่อพิทักษ์ความมั่นคงของชีวิต เสรีภาพและความอยู่ดีมีสุข อย่างไรก็ตาม ล็อคก็ยังเห็นว่า ข้อตกลงที่ทำสัญญากับรัฐบาลนี้สามารถทำลายลงได้ เมื่อมนุษย์มีเหตุผลในการต่อต้านอำนาจของรัฐบาล เมื่อผู้ปกครองทำตัวเป็นทรราช ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองตามภาวะธรรมชาติ เหมือนก่อนที่จะตกลงสร้างสังคมขึ้นมา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อรัฐบาลไม่ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ทำตัวเป็นปรปักษ์กับผลประโยชน์ของประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิที่จะต่อต้านอำนาจผู้ปกครอง โดยล้มสัญญาประชาคมแล้วเข้าสู่กระบวนการสร้างสังคมการเมืองขึ้นมาใหม่

อย่างไรก็ตาม ฌอง จาค รุสโซ เป็นผู้ที่อธิบายทฤษฎีสัญญาประชาคมได้ชัดเจน และถือเป็นรากฐานของการอธิบายความแตกต่าง ระหว่างอำนาจในการออกกฎหมายและอำนาจในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ และได้รับการยอมรับมาจนถึงยุคปัจจุบัน  โดยอธิบายว่ารัฐธรรมนูญเกิดจากการเปลี่ยนสภาพแนวความคิดของทฤษฎีสัญญาประชาคม นี่เองที่ทำให้อำนาจรัฐธรรมนูญหรืออำนาจก่อตั้งเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน ก็ได้ทำลายเอกภาพของอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17

เริ่มจากการที่รุสโซพรรณนาตามลำดับ ตั้งแต่ประโยคแรกในหนังสือ “สัญญาสังคม (Contrat Social)” ของเขาว่า “มนุษย์เกิดมาเสรี แต่มนุษย์ถูกพันธนาการอยู่ทั่วทุกแห่งหน”  โดยอธิบายถึงที่มาในการจัดตั้งสังคมการเมืองว่า เกิดจากการตกลงร่วมกันของมนุษย์ ในสภาวะที่ยังไม่มีรัฐหรือสภาวธรรมชาติ ทุกคนในสังคมยินยอมสละสิทธิ์บางอย่างให้แก่ผู้ปกครอง เพื่อทำหน้าที่ดูแลปกครองและจัดตั้งสังคมการเมืองขึ้นมา ทฤษฎีสัญญาประชาคมนี้ ความหมายตามหลักกฎหมายธรรมชาติคือ การคำนึงถึงจิตสำนึกและจริยธรรมของผู้ปกครอง ที่ควรตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพ ที่ผู้อยู่ใต้ปกครองได้ยอมสละเพื่อความปลอดภัยของตน

แนวคิดนี้เองที่เป็นพื้นฐานของการกำเนิดรัฐปัจจุบัน และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เพราะแท้จริงแล้ว อำนาจของผู้ปกครองนั้นมาจากประชาชน ดังนั้น ประชาชนควรจะเป็นผู้ที่ใช้สิทธิของตนเลือกผู้ปกครองขึ้นมา

ย้อนกลับมาประโยคที่ยกมากล่าวข้างต้น ซึ่งตามทรรศนะของรุสโซแล้ว เมื่อทุกคนในสังคมยินยอมสละสิทธิ์บางอย่างให้แก่ผู้ปกครอง เพื่อทำหน้าที่ดูแลปกครองและจัดตั้งสังคมการเมืองขึ้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่วนที่เหลืออยู่ สังคมการเมืองในที่นี้ก็คือ “รัฐ” หมายความว่า สิทธิและเสรีภาพที่ทุกคนในสังคมได้สละมารวมกัน จึงกลายเป็นอำนาจการเมือง แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ แล้วจะเอาอำนาจการเมืองนี้ไปไว้ที่ไหน คำตอบก็คือ โดยการสร้างรัฐขึ้นมาเพื่อค้ำจุนอำนาจการเมือง และอำนาจการเมืองกลายสภาพเป็นอำนาจรัฐ

ปัญหาที่ตามมาอีกก็คือ ในเมื่อรัฐไม่มีตัวตนเป็นแต่เพียงสิ่งสมมติ ใครเล่าจะทำหน้าที่แทนรัฐ?  ทางออกก็คือ การจัดให้มีเครื่องมือสำคัญๆ เพื่อทำหน้าที่แทนรัฐ หนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดก็คือกฎหมาย ซึ่งในที่นี้ก็คือรัฐธรรมนูญ และเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว จำต้องมีการแบ่งแยกองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงรัฐเผด็จการ โดยแยกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ และสำหรับรุสโซแล้ว ในบรรดาอำนาจทั้งสาม อำนาจที่สำคัญที่สุดได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ เพราะถือว่าเป็นอำนาจดั้งเดิม โดยถือว่ามาจากเจตนารมณ์ร่วม ส่วนรัฐธรรมนูญมาจากสัญญาประชาคม

อนึ่ง ประโยคที่ว่า “มนุษย์เกิดมาเสรี แต่มนุษย์ถูกพันธนาการอยู่ทั่วทุกแห่งหน”  รุสโซหมายถึงมนุษย์ควรจะยอมถูกพันธนาการโดยอำนาจของมนุษย์เองซึ่งมอบให้กับรัฐ ก็คือถูกพันธนาการโดยอำนาจรัฐ แต่ไม่ควรยอมให้ถูกพันธนาการ โดยอำนาจของผู้ปกครองคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งใช้อำนาจรัฐโดยปราศจากการยึดโยงกับประชาชน ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญก็ดี หรือกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญก็ดี จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการเคารพในเจตจำนงเสรีของประชาชน อันเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ ได้รับการยอมรับจากทุกๆ ฝ่ายในฐานะเป็น “สัญญาประชาคม” ของคนในสังคมอย่างแท้จริง

-------------------

ดร.มานพ พรหมชนะ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์