หัวหน้างานชนะใจทีมงานได้อย่างไร?

หัวหน้างานชนะใจทีมงานได้อย่างไร?

การทำงานในวันหนึ่งๆ “หัวหน้างาน” จะมี ”การสื่อสาร” และ “การปฏิสัมพันธ์” กับลูกน้อง ลูกพี่

ตลอดจนหัวหน้างานอื่นๆ ในระดับเดียวกันเกือบตลอดเวลา ส่งผลให้ต้องเผชิญกับข้อขัดแย้ง ปัญหา อุปสรรค ภาวะคับข้องใจ ตลอดจนความเค้น (stress) มากๆ ในงานอยู่บ่อยๆ

“หัวหน้างาน” จึงอาจบังเกิดความไม่มั่นใจว่า งานจะสัมฤทธิผลตามมุ่งหมายหรือไม่ เมื่องานมีอันต้องล้มเหลวไป ก็ไม่แน่ใจว่าใครจะเป็น “หม้อดิน” ที่จะระเบิดแตกเสียก่อน ทำให้ผลงานอันพึงประสงค์ อยู่สูงเกินเอื้อมออกไปทุกที

ถ้าจะออกแบบสอบถาม ให้พนักงานทั้งสี่กลุ่มดังกล่าว ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า ขณะนี้ ตนกำลังมีภาวะจิตเช่นใดอยู่กับงาน โดยเฉพาะในหน่วยงานที่มีงานเร่งด่วน เสียงส่วนใหญ่น่าจะออกมาในเชิงลบว่า “เครียด” “อารมณ์เสีย” “เหนื่อยใจ” “คุยกันไม่รู้เรื่อง” ตลอดจน "เซ็ง"

แล้วเราจะมียุทธศาสตร์สำหรับจัดการกับภาวะเชิงลบดังกล่าวได้อย่างไร?

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีอยู่ที่ “วิธีสื่อสาร” และ “วิธีปฏิสัมพันธ์” ต่อกันในทีมงานดังกล่าว คือ ให้แต่ละคนสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กันตาม “ธรรมชาติ” ของแต่ละคน พูดง่ายๆ คือ ให้แต่ละคนพยายามอ่าน “จิตใจ” ของผู้อื่น โดย "การฟัง" และให้ห้ามทำการใดๆ ที่เป็นการ “ย้อนศร” ต่อ “จิตใจ” ผู้อื่น มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดบรรยากาศในทำนอง “ไม่ค่อยราบรื่น” “ตึงเครียด” หรือ “ขุ่นข้องหมองใจ” ในงานได้

“จิตใจ” ในที่นี้หมายถึง “อุปนิสัยใจคอ” ของแต่ละคนในทีมงาน หัวหน้างานเองก็ดี ลูกน้องก็ดี ลูกพี่ก็ดี ตลอดจนหัวหน้างานอื่นๆ ก็ดี ต่างมี “อุปนิสัยใจคอ” ที่เป็น “เอกลักษณ์” ของตน ซึ่งพอจะจัดแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม โดยแต่ละคนจะมีส่วนผสมของ “อุปนิสัยใจคอ” ทั้ง 4 กลุ่ม ในลักษณะที่เป็น “เอกลักษณ์” คือ ไม่เหมือนใครเลย ผู้ใดมีส่วนผสมที่มาจากกลุ่มหนึ่งใดมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ผู้นั้นก็จะมี “อุปนิสัยใจคอ” เด่นชัดของกลุ่มนั้นๆ

“อุปนิสัยใจคอ” 4 กลุ่ม มีดังนี้ คือ (1) กลุ่มใจร้อน (2) กลุ่มใจอ่อน (3) กลุ่มใจเย็น (4) กลุ่มใจห่วงงาน

1.กลุ่มใจร้อน กลุ่มนี้ถนัดนึกคิดใน “ตัวบุคคล” เป็นหลัก คือมุ่งสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยคำนึงถึง “วัยวุฒิ” “ตำแหน่งสูงต่ำในตำแหน่งงาน” “ประโยชน์ที่ตนจะได้หรือเสีย” ตลอดจน “จุดอ่อนจุดแข็ง” ของผู้อื่น

กลุ่มใจร้อนมีความสันทัดใน “การจับผิด” ผู้อื่น โดยไม่จำต้องจับผิดได้อย่างแม่นยำเสมอไป นิยม “คำชื่นชม” หรือ “ยาหอม” มี “อัตตา” สูง มี “ความก้าวร้าว” อยู่ในใจ ซึ่งเป็น “ดาบสองคม” คือ หากก้าวร้าวเพื่อส่วนรวมก็เป็นคุณ แต่หากเพื่อส่วนตัวก็เป็นโทษ ชอบเอาชนะผู้อื่น ไม่ยอมอ่อนข้อให้ใครง่ายๆ มักพูดสวนออกไปกลางคันในขณะที่ผู้อื่นยังพูดไม่จบ ไม่ถนัดที่จะรับฟังผู้อื่น ยืนหยัดในความถูกต้องของตน ฯลฯ

วิธีสื่อสารปฏิสัมพันธ์ต่อกลุ่มใจร้อน คือ ให้เข้าหาตัวบุคคลโดยตรง แบบสองต่อสอง พูดให้ตรงประเด็น ไม่ “ชักแม่น้ำทั้งห้า” ไม่วกไปวนมา มีความชัดเจนแจ่มแจ้ง และให้เน้นพูดเรื่องงาน กลุ่มนี้ชอบ “คำสั่ง” ที่ชัดเจน และ “งานท้าทาย” ที่ใช้ความสามารถตนได้อย่างเต็มที่ ในช่วงท้าย ให้สรุปสาระและทบทวนความเข้าใจทั้งหมดให้ถูกต้องไว้เสมอ

2.กลุ่มใจอ่อน กลุ่มนี้ถนัดนึกคิดใน “ตัวบุคคล” เป็นหลักเช่นเดียวกับกลุ่มใจร้อน มุ่งสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย “มิตรจิตมิตรใจ” เอาใจใส่ต่อโลกรอบตัว รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ชอบสมาคมสังสรรค์ ถนัดที่จะเข้าร่วมกลุ่ม ชอบมีกิจกรรมกลุ่ม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น จิตใจอ่อนไหว ฯลฯ

กลุ่มใจอ่อนนี้มีอารมณ์สร้างสรรค์ ยอมเสียสละเพื่อส่วนรวม สุภาพเรียบร้อย สามารถรับรู้และเข้าใจผู้อื่นตลอดจนมีพรสวรรค์ในการชักชวนผู้อื่นให้คล้อยตาม

วิธีสื่อสารปฏิสัมพันธ์ต่อกลุ่มใจอ่อน คือ ให้แสดงท่าทางและน้ำเสียงแบบมีชีวิตจิตใจ หมั่นเจียดเวลาทักทายสังสรรค์ตามควร เปิดโอกาสให้ใช้พรสวรรค์ในการโน้มน้าวชักจูงผู้อื่น เมื่อมีผลงานดี ให้แสดงความชื่นชมอย่างเปิดเผย

3.กลุ่มใจเย็น กลุ่มนี้ถนัดนึกคิดใน “ตัวงาน” เป็นหลัก มีแรงจูงใจมาจากการได้ทำงานมากกว่าจากการคบหาสมาคมอย่างกลุ่มใจอ่อน โดยปกติชอบทำตัวสบายๆ ไม่ชอบทำอะไรแบบเร่งรีบ ใช้เหตุใช้ผลวิเคราะห์ปัญหา ชอบสร้างสรรค์รักษาระบบโครงสร้างของงานที่ทำอยู่ ตลอดจนเน้นที่วิธีทำงานเป็นหลัก ผลงานเป็นรอง ฯลฯ

วิธีสื่อสารปฏิสัมพันธ์ต่อกลุ่มใจเย็นคือ ให้วางตัวในลักษณะสบายๆ อาจต้องใช้ความอดกลั้นให้มากเท่าที่จะทำได้ จัดให้มีเวลาสำหรับกลุ่มนี้ได้ทบทวนงานและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงาน ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย หรือกำหนดเวลาในการทำงาน ให้ชี้แจงต่อกลุ่มนี้อย่างไม่เร่งรีบรวบรัดตัดความ เพื่อให้มีความเข้าใจถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน

4.กลุ่มใจห่วงงาน กลุ่มนี้ถนัดนึกคิดใน “ตัวงาน” เป็นหลักเช่นเดียวกับกลุ่มใจเย็น ต่างกันตรงที่เน้น “ความถูกต้องแม่นยำ” ของผลงานหรือบริการ คือ เน้นผลงานเป็นหลัก วิธีทำงานเป็นรอง ปกติมีระบบระเบียบและใช้ความละเอียดรอบคอบในการทำงาน ชอบพิถีพิถันในบรรทัดฐานจำเพาะของผลผลิตหรือบริการ ฯลฯ

วิธีสื่อสารปฏิสัมพันธ์ต่อกลุ่มใจห่วงงาน คือ ให้ตระเตรียมตัวเลขข้อมูลทั้งปวงเกี่ยวกับงานไว้แสดงอย่างพรักพร้อมที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของข้อเท็จจริงกับตัวเลข ให้คิดพูดแต่เรื่องงาน พยายามไม่ใช้สุ้มเสียงดังเกินไป และไม่ทำให้เกิดเสียงอึกทึกปึงปัง

ในเชิงทฤษฎี อาจมีบางคนที่ถนัดคิดแบบทั้งสี่กลุ่มได้พอๆ กันหมด แต่ก็คงหาได้ยากมาก และน่าจะเป็นผู้ที่มี "สมรรถนะภาพ" สูงเป็นพิเศษ

นอกจากวิธีสื่อสารและปฏิบัติสัมพันธ์กับทีมงานดังกล่าวแล้ว “หัวหน้างาน” พึงระลึกไว้เสมอว่า ทีมงานไม่จำต้องนิยมชมชอบอุปนิสัยใจคอของตนเสมอไป เพราะเป็นเรื่องของ “นานาจิตตัง”

ด้วยเหตุนี้ “หัวหน้างาน” พึงพยายามปรับเปลี่ยนบทบาทของตนให้ไม่ “ย้อนศร” ความรู้สึกในจิตใจของทีมงาน คือ ให้คู่ขนานสอดคล้องกับ “จิตใจ” ของแต่ละคนในทีมงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แบบ “ปอกกล้วยเข้าปาก” คือ ให้อ่านดูก่อนว่า ทีมงานผู้ใดมีเครื่องรับ-ส่ง “คลื่นวิทยุ” เป็นแบบใด หากเป็นเอเอ็ม หัวหน้างานก็ส่งเป็นเอเอ็มออกไป หากเป็นเอฟเอ็ม ก็ส่งเอฟเอ็มออกไป ทั้งนี้ เพื่อให้มีการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเข้าใจกันและมีผลดี

ในขณะเดียวกัน “หัวหน้างาน” ก็ทำหน้าที่เป็นผู้รับการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์จากผู้อื่นด้วยเช่นกัน จึงน่าจะเปิดเผยเปิดใจตน ให้ทีมงานได้รับรู้เข้าใจอุปนิสัยใจคอของตนไว้ เมื่อเปิดใจได้สำเร็จ ก็เท่ากับได้เปิดเผยให้ทีมงานได้ทราบโดยทั่วกันว่า ตนถนัดรู้สึกนึกคิดใน “ตัวบุคคล” หรือ “ตัวงาน” เป็นหลัก ถนัดอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในงานอย่างดีที่สุด

สรุป “ไม้ลำเดียวยังต่างปล้อง พี่และน้องยังต่างใจ” คือคติพจน์เตือนสติอยู่แล้วว่า “หัวหน้างาน” จักต้องไม่มองว่าทีมงานทุกคนมี “จิตใจ” ที่เหมือนกันหมด แบบหุ่นยนต์

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือกุญแจไขประตูสู่ทางออก ที่สามารถจัดการกับประเด็น “นานาจิตตัง” ได้อย่างมีผลดี เมื่อหัวหน้างาน ลูกน้อง ลูกพี่ ตลอดจนหัวหน้างานอื่นๆ ต่างทำงานด้วยกันแบบมีการสื่อสาร และปฏิสัมพันธ์ต่อกันดังกล่าวแล้ว การไม่เข้าใจกัน การเข้าใจผิด ตลอดจนภาวะคับข้องใจในงานก็จะเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด และต่างก็จะรู้สึกว่า ตนกำลังทำงานอยู่กับทีมงานที่มีวุฒิภาวะ มีความเข้าอกเข้าใจกัน ไม่มีใครหยิบยื่นมลพิษให้ต่อกัน

ทั้งนี้ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกมั่นใจมั่่นคงในงาน มีการบูรณาการพลังความสามารถของทีมงาน ให้ก้าวไปพร้อมกัน คือ มีการทำงานเป็นหมู่คณะ ไม่มากก็น้อย สันติสุขในการทำงานก็จะเกิดขึ้นตามมา และทีมงานก็จะสามารถก้าวสู่การเพิ่มผลผลิตได้ในที่สุด

----------------

ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
[email protected]