จับตาสถานการณ์ SME ไทย

 จับตาสถานการณ์ SME ไทย

เมื่อเดือนเมษายนผมได้เสนอความเห็นถึงบทบาทของเอกชนในการช่วยเหลือ SME โดยขอให้ภาคเอกชนจัดตั้งVenture Capital เพื่อสนับสนุนทางด้านเงินทุนกับSME

เนื่องจากมาตรการของภาครัฐที่มีออกมาเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือ เนื่องจากมาตรการส่วนใหญ่ของรัฐบาล จะผ่านสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎระเบียบเข้มงวดทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของ SME ได้

ผ่านมาหลายเดือน สถานะการณ์ของผู้ประกอบการ SME ยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำ และมีแนวโน้มที่แย่ลงทุกขณะ ดูตัวเลขจาก NPL ของธนาคารพาณิชย์แล้วก็น่าเป็นห่วง ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่เชี่ยวชาญเรื่อง SME อย่าง กสิกรไทย คุณพัชระ สมลาภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้สัมภาษณ์เมื่อต้นเดือนว่า NPL ของธนาคาร ได้เพิ่มจาก 2.48 % เป็น 2.92 ในเดือนมิถุนายน 2558 แต่ละเดือนผู้ประกอบการ จะเข้ามาขอความช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท

ในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ 4% เกิดจากการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อเดิม เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องของธุรกิจเป็นหลัก ในขณะที่สินเชื่อใหม่ติดลบถึง 6% นั่นหมายความว่า ลูกค้า SME ไม่สามารถพึ่งพาธนาคารพาณิชย์ได้ เพราะความกังวลเรื่อง NPL ทำให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อมากยิ่งขึ้น ขณะนี้มีเพียง SME BANK ที่ คุณสาลินี วังตาล พยายามผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อให้วงเงิน Policy Loan 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4 % ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มากที่สุด ซึ่งผมไม่มั่นใจว่า จะสามารถช่วยเหลือ SME ให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้หรือไม่

จำได้ว่าหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ผมยังทำงานอยู่ธนาคารกรุงไทย ตอนนั้นธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งหยุดปล่อยสินเชื่อ ถ้าหากไม่มี โครงการอัศวินม้าขาว ที่อัดสินเชื่อเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงนั้นหลายแสนล้านบาท เศรษฐกิจก็คงไม่ฟื้น แต่โครงการอย่างนี้คงไม่มีอีกแล้ว เพราะพวกอัศวินทั้งหลายต่างก็เจ็บปวดกันทั่วหน้า และบางคนก็ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและศาลกำลังจะตัดสินคดี ในวันที่ 26 สิงหาคม นี้

ปัญหาเฉพาะหน้าของ SME วันนี้คือ ยอดขายที่ตกต่ำจากกำลังซื้อที่ลดน้อยลงทั้งจากคนจนมีหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย คนรวยก็ระมัดระวังในการใช้เงิน ซึ่งผมกล้ายืนยันได้ว่า เป็นความจริง เพราะลูกสาวผมที่ลาออกจากงานมาเปิดร้านอาหารที่ อตก. ซึ่งเป็นตลาดที่คนรวยไปใช้บริการกันมาก ตอนนี้ก็เงียบเหงาเหมือนกัน เรื่องที่เป็นวิกฤติเฉพาะหน้าของผู้ประกอบการ SME ตอนนี้คือ การขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน SME ที่มีศักยภาพอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นสถาบันการเงินได้

ผมลองทบทวนไปถึงอดีต ตอนเริ่มทำงานธนาคาร จำได้ว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเล็กที่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ได้ จะได้รับการช่วยเหลือเงินทุนจากเกษตรกรรายใหญ่ในรูปของ เงินเกี๊ยว โดยธนาคารจะปล่อยสินเชื่อผ่านโรงงานน้ำตาลก่อนจ่ายให้กับลูกไร่ ในรูปของเช็คลงวันที่ล่วงหน้าที่เรียกว่า เช็คเกี๊ยว เพื่อนำไปขายลดให้กับธนาคาร ลำพังธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอย่างเดียวคงไม่พอครับ ต้องช่วยกันมากกว่านี้ ถ้าเราจะใช้ระบบนี้กับผู้ประกอบการ SME หรือระบบอื่นที่จะช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ผ่าน Sponsor รายใหญ่ที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งก็น่าจะช่วย SME ได้ นอกจากนี้ภาครัฐจะต้องไปสำรวจโครงการต่างๆ ที่ออกมามากมายแต่ยังไม่ได้เบิกจ่าย ว่าติดขัดตรงไหน แล้วรีบเร่งแก้ไขโดยเร็ว ระยะปานกลาง ระยะยาว ก็ต้องมีแผนพัฒนา SME เหมือนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้ SME เข้มแข็งช่วยเหลือตัวเองได้

สมัย ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีข้อกำหนดให้ธนาคารต้องเปิดสาขาในชนบท ต้องปล่อยสินเชื่อเกษตรไม่ต่ำกว่า 20 % ถ้าเราจะปัดฝุ่นกลับมาใช้ สำหรับ SME รายย่อย เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อกับ SME แล้วเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง มากกว่าการแข่งขันปล่อยสินเชื่อการบริโภคอย่างปัจจุบัน ก็น่าจะเป็นคุณูปการต่อผู้ประกอบการ SME ที่สำคัญ คือ ต้องทำให้ SME เข้มแข็งด้วยการพัฒนาความรู้ความสามารถ ผมว่าโครงการฝึกอบรมผู้ประกอบการที่ภาครัฐทำอยู่ปัจจุบันยังไม่ได้ผล ลองไปศึกษาหลักสูตรที่ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำจัดให้กับลูกค้า ทำไมคนถึงสนใจกันมาก ตอนอยู่ที่กรุงไทยริเริ่มทำโครงการฝึกอบรมผู้ประกอบการร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์ ได้ผลมาก ขณะนี้ผ่านมาแล้วหลายรุ่น มีลูกค้าเข้าคิวรอไม่แพ้หลักสูตร วตท

ภาวะวิกฤต SME ตอนนี้หนักหน่วง และน่าเป็นห่วง ต้องช่วยกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะใช้นักวิชาการที่เชี่ยวชาญทฤษฎีทางวิชาการอย่างเดียวคงไม่ได้ผล ต้องระดมคนที่มีประสบการณ์คลุกคลีกับผู้ประกอบการอย่างแท้จริงมาร่วมด้วย