กระบวนการทำให้นักศึกษากลายเป็น “เด็ก”

กระบวนการทำให้นักศึกษากลายเป็น “เด็ก”

ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านแปลกใจบ้างหรือไม่ ที่ในปัจจุบันนี้การปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ในมหาวิทยาลัย

จะต้องเชิญผู้ปกครองนักศึกษาเข้าร่วมงานด้วย โดยบรรดาอาจารย์ฝ่ายบริหารก็จะบรรยายถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัย การศึกษาในมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองให้มาก ไม่ใช่เหมือนการเรียนในมัธยม ฯลฯ ซึ่งให้ผมเดาก็จะเดาว่านักศึกษาและผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ฟังๆ กันไป ไม่ได้คิดอะไรมากมายนัก อาจจะมีผู้ปกครองบางท่านที่ซีเรียสกับบางเรื่องหน่อย ก็อาจจะลุกขึ้นถามบ้าง (หากการปฐมนิเทศของมหาวิทยาลัยนั้นเปิดโอกาสให้ซักถาม)

ที่ผมถามว่าแปลกใจกันหรือไม่ ก็เพราะคนแก่รุ่นราวคราวเดียวกับผมที่เข้ามหาวิทยาลัยในช่วงทศวรรษ 2510/2520 จะจำกันได้ว่ารุ่นเรา (แก่แล้ว) ไม่มีประเพณีนำผู้ปกครองมาเข้าปฐมนิเทศด้วย มีแต่นักศึกษาเท่านั้นที่เข้าร่วมงาน แต่ทำไมปัจจุบันนี้ ถึงต้องมีผู้ปกครองด้วย ผมยังค้นไม่พบอย่างชัดๆ ว่า การนำเอาผู้ปกครองมาร่วมงานปฐมนิเทศนี้เกิดขึ้นเมื่อไร แต่เท่าที่ถามๆ อดีตนักศึกษาหลายๆ รุ่น ก็เดาว่าน่าจะเริ่มประมาณทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา

คำถามง่ายๆ ก็คือ แล้วทำไมมหาวิทยาลัยต้องปฐมนิเทศผู้ปกครองด้วย

ผมคิดว่าการจัดงานปฐมนิเทศผู้ปกครอง เกิดขึ้นจากพลังความปรารถนาของสังคมไทย ที่ต้องการทำให้ “เด็กเป็นเด็ก” อยู่ตลอดไป พลังความปรารถนาเช่นนี้ ประกอบขึ้นมาจากเงื่อนไขปัจจัยหลายด้านหลายระดับด้วยกัน

ด้านแรก ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปแบบของครอบครัว ครอบครัวไทยกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ที่พ่อและแม่เป็นชนชั้นกลาง ที่ทำงานบนฐานความชำนาญเฉพาะด้าน ครอบครัวขนาดเล็กนี้จะมีลูกจำนวนน้อยเพียงคนหรือสองคน การเลี้ยงดูลูกของครอบครัวเดี่ยวจึงเน้นการ “ทำแทน” ลูกทุกอย่าง การเลี้ยงแบบนี้ไม่ใช่ตามใจจนเสียคนอย่างเดียวนะครับ หากแต่การทำแทนลูกนี้ทำให้ลูกไม่มีทางมองเห็นปัญหา เพราะไม่เคยประสบปัญหาเอง หากมีอะไรเกิดขึ้นก็จะเรียกพ่อแม่ให้ช่วยเหลือทันที เมื่อเด็กมองไม่เห็นปัญหา ก็จะไม่มีทางที่จะมองหาทางคิดแก้ไขสถานการณ์ใดๆ ได้เลย พูดง่ายๆ คือ การเลี้ยงลูกของครอบครัวเดี่ยวชนชั้นกลางในสังคมไทย กำลังทำให้ลูกเป็น “เด็ก” ตลอดกาล

หากนึกเปรียบเทียบระหว่างการเลี้ยงดูของคนก่อนก็จะพบว่า สังคม/ชุมชน จะแบ่งแยกว่าอายุระดับใดเป็นเด็ก หากโกนจุกก็หมายความว่าพ้นความเป็นเด็กแล้ว และต้องมาช่วยพ่อแม่ทำงาน ซึ่งก็จะเรียนรู้ปัญหาและการแก้ปัญหาพร้อมๆ กันไป แต่ปัจจุบัน การเลื่อนชั้นการศึกษาในโรงเรียน ไม่ได้แสดงถึงการข้ามพ้นความเป็นเด็ก กลายเป็นว่าจะพ้นความเป็นเด็ก ก็ต่อเมื่อจบการศึกษาและเข้าสู่การทำงานเฉพาะด้าน เลี้ยงตนเองแล้วเท่านั้น ในระหว่างเรียนอยู่ต้องเป็น “เด็ก” ตลอดไป คำพูดของพ่อแม่ที่นิยมกันมากที่สุดที่ว่า “ลูกมีหน้าที่เรียน ก็เรียนไป เรื่องอื่นพ่อกับแม่จัดการให้” ซึ่งกลับกลายเป็นส่วนของกระบวนการทำให้ “เด็ก” เป็น “เด็ก” ตลอดไป

เด็กในยุคร่วมสมัยที่ถูกเลี้ยงเช่นดังกล่าว จึงไม่ต้องการการคิดอะไร หากแต่พร้อมที่จะทำตามที่พ่อแม่/ครูบาอาจารย์บอกให้ทำ และอาจจะทำตามคำสั่งได้ดีด้วยซ้ำ แต่ไม่สามารถคิดอะไรเองได้เลย ผมสอนวิชาที่พยายามผลักดันให้นักศึกษาคิดคำถามเพื่อทำรายงาน นักศึกษาจำนวนหนึ่งจะหงุดหงิดมาก และโพล่งมาว่าอาจารย์จะให้ทำอะไร บอกมาเลย(หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า) หนู/ผมทำได้ แต่ให้คิดคำถาม/ปัญหา หนู/ผมทำไม่ได้ นานๆ ผมถึงจะพบนักศึกษาที่พยายามคิดและคิดได้ในที่สุด ซึ่งมีน้อยมาก

ด้านที่สอง ได้แก่ การเมืองวัฒนธรรมของรัฐไทยที่ต้องการที่จะใช้อำนาจควบคุมผู้คนให้เด็ดขาดขึ้น หลังทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ระบอบการเมืองของสังคมการเมืองไทย เคลื่อนเข้ามาสู่ระบบอำนาจนิยมมากขึ้นๆ โดยเฉพาะหลังจากชัยชนะเหนือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วงต้นทศวรรษ 2520 การกระจุกตัวของชนชั้นนำไทยที่เพิ่มอำนาจตนเองควบคู่ไปกับอำนาจเศรษฐกิจ ทำให้ไม่ต้องการให้เกิดกลุ่มทางสังคมใดโผล่ขึ้นมาท้าทายอำนาจตนเอง จึงได้ให้ความพยายามในการควบคุมพลเมือง ทางระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดมากขึ้น เพื่อให้พลเมืองสยบอยู่ภายใต้อำนาจตนเอง 

ความต้องการใช้อำนาจควบคุมผู้คนทางด้านระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด จึงสอดคล้องพอดีไปกับการขยายตัวของความรู้สึกที่เป็น “เด็ก” ของนักศึกษา เพราะบรรดานักศึกษาที่เข้าใหม่ ก็ไม่ได้อยากพ้นจากความเป็น “เด็ก“ เพราะไม่อยากเผชิญปัญหา และไม่ปรารถนามองเห็นปัญหาอย่างที่เป็นจริง

 ดังนั้น กลไกอำนาจรัฐที่สำคัญ ได้แก่ มหาวิทยาลัย จึงทำหน้าที่ควบคุมด้วยการทำให้ “นักศึกษา” กลายเป็น “เด็ก” ไปเสียในทุกมิติ เริ่มต้น ได้แก่ การทำให้ผู้ปกครองต้องมารับรู้การเคลื่อนมาสู่การเป็นนักศึกษา และสามารถกำกับความรู้สึกนักศึกษาด้วยว่า เห็นไหมพวกคุณไม่ได้เปลี่ยนสถานภาพอะไรเลยนะ ทุกอย่างก็เหมือนกับตอนพวกคุณมอบตัวเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษานั้นแหละ (ฮา)

จึงไม่น่าแปลกใจที่ การนิยามตนเองของนักศึกษาในสมัยก่อนที่ว่าตนเองเป็น “ปัญญาชน” จึงหายไปในทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา นักศึกษาในวันนี้จึงสำราญเริงร่าอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะนิยามตนเองชัดเจนแล้วว่าเป็น “เด็ก” จึงไม่ต้องแบกรับอะไรทั้งสิ้น และก็ไม่น่าแปลกใจอีกเช่นกัน ที่นักศึกษาปีหนึ่งจะยอมสยบรับการ “ว๊าก” จากรุ่นพี่ได้เป็นเทอมหรือเป็นปี เพราะการสยบยอมเช่นนี้ ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกพึงพอใจกับความเป็น “เด็ก” ของพวกเขามากขึ้น

การศึกษาเรื่องกระบวนการทำให้ “เด็ก” เป็น “เด็ก” ของสังคมไทย เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งนะครับ เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป สังคมไทยจะไปไม่รอดนะครับ คนในมหาวิทยาลัยจะต้องเริ่มคิดอะไรเพื่อช่วยให้ “เด็กนักศึกษา” กลายมาเป็น “ปัญญาชน” กันบ้าง เพราะจะหวังการแก้ไขจากทางครอบครัวเดี่ยวก็คงลำบาก เพราะภาระของพวกเขาก็หนักหน่วงเต็มที่แล้วครับ