หน้าต่างแห่งโอกาส ?

หน้าต่างแห่งโอกาส ?

ทุกครั้งที่ปรากฏการณ์ธรรมดาทางโหราศาสตร์ เช่น ดาวยกข้ามราศี ได้กลายเป็นข่าวใหญ่

มันสะท้อนสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้ของบ้านเมือง รวมถึงสภาวะจิตที่สับสนกังวลของผู้คน

กลางกรกฎาที่ผ่านมา ข่าวดาวพฤหัสยกเข้าสิงห์และมฤตยูยกเข้าเมษ กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนจำนวนมากสนใจ อันที่จริง มฤตยู (Uranus) โคจรถึงปลายราศีมีนแล้ว แต่จะวิกลคติพักร์ (Stationary-retrograde : หยุดนิ่งเพื่อถอยหลัง) ก่อนในวันที่ 26 กรกฎา ที่ 26 องศา 26 ลิปดา ไม่ได้ยกเข้าเมษแต่อย่างใด ที่ว่ามฤตยูยกนั้นเป็นไปตามปฏิทินแบบโบราณที่ไม่ได้ปรับแก้ และถ้าว่ากันถึงที่สุดแล้ว คัมภีร์สุริยยาตรเอง ก็ไม่ได้บอกสูตรคำนวณวิถีโคจรของมฤตยูเสียด้วย เพราะเป็นดาวที่ค้นพบทีหลัง

ส่วนพฤหัสยกเข้า (Ingression) ราศีสิงห์จริงในวันที่ 14 กรกฎา 58 เวลา 7:53 น. พฤหัสจะเดินหน้าจนถึง 29 องศา 9 ลิปดา ช่วงต้นมกรา 59 จากนั้นจะถอยหลัง (เมื่อมองจากโลก) จนถึง 19 องศา 10 ลิปดา ช่วงต้นพฤษภา แล้วจะเดินหน้าเป็นปกติอีกที และจรจนสุดราศีในวันที่ 11 สิงหา 59

โหราศาสตร์ถือพฤหัสเป็นดาวประธานฝ่ายศุภเคราะห์ เพราะคุณสมบัติแห่งการเติบโต ขยายตัว และเพิ่มพูน อันที่จริงเราต้องเข้าใจก่อนว่า ธรรมชาติของดาวเป็นกลางๆ ไม่เข้าข้างใครฝ่ายใด ที่ว่าเป็นศุภเคราะห์ดาวดี ก็เพราะธรรมชาติดาวสอดคล้องกับความต้องการของเรา ธรรมชาติดาวที่เราไม่ชอบ เช่น หดตัว ขาดแคลน ล่าช้า (เสาร์)  เราก็ว่าเป็นบาปเคราะห์ดาวร้ายไปเสีย

การเติบโตขยายตัวไม่ใช่ไม่มีข้อเสีย ถ้ามันมากเกินไป ก็ทำให้ใฝ่สูงเกินกำลัง ไม่ติดดิน จมไม่ลง  คาดหวังสูง เล็งผลเลิศ มั่นใจเกินไป กล้าเสี่ยง ลงทุนมากเกิน ฯลฯ ขณะที่การหดตัว-ขาดแคลน-ล่าช้า ก็มีด้านดี  มันทำให้รอบคอบ ระมัดระวัง ไม่สุ่มเสี่ยง ไม่ทุ่มหมดตัว รู้จักบริหารทรัพยากรที่มี อดทน ฯลฯ 

ดาวให้คุณหรือไม่ จึงขึ้นกับปัจจัยหลายประการ พฤหัสที่ยกเข้าราศีสิงห์ก็เช่นเดียวกัน นักโหราศาสตร์จำนวนมากยกย่องกันเสียเลิศลอย แน่นอน ถ้าเลือกมองแต่ด้านดี ก็จะเห็นด้านที่ดี เช่น เข้าราศีคู่มิตร จรเป็น 9 แก่ตัวเอง อยู่ภพที่ 5 ซึ่งหมายถึงโชคลาภ ตรีโกณลัคน์-อาทิตย์เดิม ตรีโกณพฤหัส-เสาร์เดิม

อย่างไรก็ตาม ต่อให้มองด้านดี แต่โอกาสที่พฤหัสจะพลิกบ้านเมืองกลับเป็นดีนั้น ก็แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะ (1) ภพ 5 ได้แสงจากพฤหัส แต่ก็ได้เกณฑ์ 10 จากเสาร์จรพิจิกด้วย โชคลาภ-การลงทุนโครงการขนาดใหญ่อย่าไปหวังมาก (2) พฤหัสตรีโกณลัคน์-อาทิตย์เดิมในเมษ แต่อังคารเดิม-ดาวเจ้าราศีเมษ ถูกเสาร์จรเล็งอยู่ หักล้างผลซึ่งกันและกัน (3) พฤหัสตรีโกณพฤหัส-เสาร์เดิมในภพ 9 การส่งออกยังดีขึ้นยาก เพราะเสาร์จรในภพ 8 ชี้ว่าเศรษฐกิจคู่ค้ายังซบเซาชะลอตัว

ถ้าเรามองพฤหัสอย่างเป็นกลาง จะพบดาวสำคัญที่สัมพันธ์ด้วย 2 ดวง คือ เสาร์และเนปจูน เสาร์จรพิจิกเป็นเกณฑ์ 4 แก่พฤหัส ทั้งคู่มีคุณสมบัติตรงข้ามกันและเข้าทำมุมร้าย 90 แก่กัน นี่คือสัญญาณไม่ดี พฤหัสขยายตัว เสาร์หดตัว ตำแหน่งและความเร็วของทั้งคู่ก็ไม่เท่าเทียมกัน เกิดความผันผวนสูงและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือเนปจูน เนปจูนหมายถึงความคลุมเครือ ภาพลวงตา การหลอกลวง ความลุ่มหลง ฯลฯ เนปจูนอยู่กุมภ์ ส่งแสงถึงพฤหัสสิงห์ตลอด ทั้งมีโอกาสเข้ามุมเล็ง 180 สนิทด้วย ทั้งคู่มีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน พฤหัสคือการขยายตัว เนปจูนคือการทำให้เกินจริง ทั้งคู่ทำให้วัตถุเรื่องราวที่เข้าไปสัมพันธ์ด้วย มีอาการเหมือนกันคือ “ใหญ่เกินกว่าขนาดที่แท้จริงของตน”

พฤหัสจึงหมายถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) และเงินเฟ้ออย่างอ่อนๆ แต่เนปจูนหมายถึงเงินเฟ้อมหาศาล การลงทุนที่ล้นเกิน และราคาสินทรัพย์ที่สูงมาก (เกินกว่าศักยภาพที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจ)

ในจิตวิทยาการลงทุน พฤหัสคือการแสวงหาโอกาส การเสี่ยงโชค เก็งกำไร ฯลฯ  ขณะที่เนปจูนคือความลุ่มหลงเพ้อฝัน เสี่ยงอย่างไร้สติ เสพติดการพนัน ฯลฯ  ถ้าทั้งคู่กุม-เล็งกัน ผลที่เกิดขึ้นคือการมองโลกในแง่ดีสุดๆ กระแสการลงทุนอย่างบ้าคลั่ง รวมถึง “ฟองสบู่” ของสินทรัพย์ต่างๆ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะทำความเข้าใจอิทธิพลทั้งคู่อย่างแท้จริง  เราไม่ควรมองแค่ “มุมดาว (Aspect)” ซึ่งจะให้ภาพที่แคบ แต่ควรมองทั้ง “วัฏจักรดาว (Cycle)” ที่ให้ภาพครบถ้วนสมบูรณ์กว่า

วัฏจักรพฤหัส-เนปจูน (Jupiter-Neptune Cycle) นี้ ผู้เขียนอธิบายไว้แล้วในงานสัมมนา “นักเศรษฐศาสตร์ปะทะโหราจารย์ 58: อนาคตบนทางแยก”  ซึ่งจัดโดย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 16 มกรา 58  ขอนำความบางตอนมากล่าวอีกครั้งในที่นี้

วัฏจักรพฤหัส-เนปจูน เริ่มต้นตั้งแต่กุมกันสนิท แยกจาก จนกลับมากุมสนิทอีกครั้ง (Synodic Period) ซึ่งกินเวลา (ประมาณ) 13 ปี วัฏจักรปัจจุบันเริ่มตั้งแต่ 28 พฤษภา 52 ที่ 2 องศา 29 ลิปดาราศีกุมภ์

คุณสมบัติสำคัญคือ การสร้างความหวัง การมองโลกแง่ดีสุดขั้ว การสร้างภาพลวงตา ฯลฯ  นับแต่ 15 กันยา 51 ที่เลห์แมนบราเดอร์ล้มละลาย กลายเป็นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่อเมริกาไม่แก้ปัญหาที่โครงสร้าง กลับพิมพ์เงิน (QE) จากอากาศ และอัดฉีดเข้าระบบแทน QE นี้เองคือผลของพฤหัส (ความมั่งคั่ง/เงิน)-เนปจูน (ปลอม)

ทำไมอเมริกาเป็นตัวหลักของ QE?  เพราะพฤหัส-เนปจูนกุมกันสนิท ทับจันทร์เดิมในดวงเมืองพอดี เงินปลอมนี้เอง ที่ผลักดันราคาสินทรัพย์ทั่วโลกฟื้นตัวและพุ่งแรง โดยเฉพาะตลาดหุ้น  มันคือภาพลวงตาอย่างแท้จริง เพราะเหตุนี้ ธนาคารกลางทั้งหลายจึงไม่กล้าดึงเงิน QE กว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ นี้ออกจากระบบ มิฉะนั้น มันจะพังทลายอย่างสมบูรณ์

ในเมืองไทย SETIndex ทำจุดต่ำสุดที่ (ประมาณ) 400 จุด ช่วงต้นมีนา 52 แกว่งตัวชั่วคราวจากจลาจลและพุ่งขึ้นชัดเจนเดือนพฤษภา อันเป็นผลจากพฤหัสกุมเนปจูนในภพลาภะดวงเมือง

วัฏจักรกินเวลา 13 ปี บัดนี้ผ่านมาครึ่งทางแล้ว วัฏจักรกำลังเข้าสู่ “ขาลง” แปลว่า (1) ไม่ต่อเวลาเงินปลอม เช่น อเมริกาหยุด QE และขึ้นดอกเบี้ย (2) เงินปลอมเสื่อมประสิทธิภาพลงเรื่อยๆ การอัดเงินเข้าระบบค่อยๆ ไร้ผล เศรษฐกิจจะกลับสู่สภาพที่แท้จริงของมัน

พฤหัสสิงห์เล็งเนปจูนกุมภ์ เป็นช่วงสุดท้ายก่อนวัฏจักรขาลง มีโอกาสสูงที่ราคาสินทรัพย์จะพุ่งแรงอีกครั้ง แต่พฤหัสโคจรเร็ว-เนปจูนโคจรช้า ทั้งคู่ยังมีจังหวะเดินหน้าถอยหลังที่ไม่เท่ากันอีก ที่สำคัญคือเสาร์ การแทรกแซงของเสาร์จะทำให้เกิดความผันผวนอย่างมาก มันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะคำนวณช่วงเวลาที่ถูกต้องเหมาะสมในการเข้า-ออกจากตลาด

หน้าต่างแห่งโอกาสนี้จึงเต็มไปด้วยความเสี่ยง  ถ้าคุณจะเสี่ยง  ตรวจดวงดูก่อนว่า โชคยังอยู่ข้างคุณ!

----------------

ชูศักดิ์ จงธนะพิพัฒน์

[email protected]