ค่าเฉลี่ยคะแนน AGM-ต้านโกงดีขึ้น แจกของชำร่วยลดลง

ค่าเฉลี่ยคะแนน AGM-ต้านโกงดีขึ้น แจกของชำร่วยลดลง

ผลคะแนนโครงการ การประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2558- AGM Checklist

ที่หลายท่านถามถึง ปีนี้พิเศษตรงที่ว่า ดิฉันมีข้อมูลเชิงลึกจากภาคสนาม ของพี่น้องอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้นมาฝาก ให้อึ้งๆ ทึ่งๆ กันว่าแบบนี้ก็มีด้วย

ก่อนจะพูดกันถึงผลคะแนน ขอย้อนเล่าถึงกรอบการทำงานหรือข้อกำหนด คล้ายเป็นสมมุติฐานของงานวิจัย เพื่อความสมบูรณ์ และทำความเข้าใจร่วมกัน ดังนี้

1.แบบประเมิน :เป็นแบบที่ทำกันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2549  ตามที่เห็นชอบร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ก.ล.ต. สมาคมบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ก่อนการประชุม 50 คะแนน วันประชุม 40 คะแนน และหลังการประชุม 10 คะแนน

2.จำนวนบริษัทจดทะเบียน : ทุกบริษัทที่มีรอบบัญชีสิ้นสุด 31 ธันวาคม และมีการซื้อขายตามเกณฑ์ปกติ จำนวน  575 บริษัท เป็นฐานในการคำนวณคะแนนค่าเฉลี่ย

3.ผู้ทำหน้าที่ภาคสนาม: อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น ทำหน้าที่ประเมินคะแนนภาคสนาม ของทุกบริษัท ที่จัดประชุม AGM

4.เกณฑ์ของการสอบเช็คข้อมูล: ใช้ 2 ใน 5 ข้อหลัก ตามเกณฑ์ของการนำไปสู่การคำนวณธรรมาภิบาลของตลาดทุนไทย คือ ด้านการเปิดเผยข้อมูล และการให้ความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น (อีก 3 ข้อ จะมีหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง นำไปประเมิน ได้แก่ ด้านบัญชี ด้านกฎหมาย และด้านธรรมาภิบาล)

5.หน่วยงานที่นำคะแนนไปใช้งาน: ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย, CG  Center, ก.ล.ต. โดยเป็นการรวบรวมจนครบทั้ง 5 เกณฑ์ และนำไปคำนวณเป็นดัชนีธรรมาภิบาลของตลาดทุนไทย โดยหน่วยงานระดับสากล เป็นลำดับไป

เรื่องราวที่น่าสนใจยิ่งนัก เสิร์ฟกันเลยค่ะ มีดังนี้

ค่าเฉลี่ย คะแนน AGM ดีขึ้น

ปี 2558 เป็นปีที่ 10 ของโครงการ การประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นพบว่า ค่าเฉลี่ยของทุกบริษัทจดทะเบียน อยู่ที่ร้อยละ 92.68  สูงขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.35 และเป็นการยกระดับสูงขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมา นับจากที่ดำเนินโครงการฯ นี้ ในรอบ 10 ปี การประเมินมีความเข้มข้นขึ้นมาก ทั้งทางฝั่งผู้ประเมินคือ อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น มีกิจกรรม “ติดอาวุธทางปัญญา” และการให้ความรู้ “อาสาฯ Visit”  เตรียมตัวให้พร้อมกับการทำหน้าที่อย่างสมาร์ท รวมทั้งจะกลายเป็นความรู้ติดตัว ในการเป็นนักลงทุนคุณภาพ ของตัวเองได้อีกด้วย 

ส่วนทางฝั่งของผู้ถูกประเมินคือ เลขานุการบริษัท ผู้ที่มีหน้าที่ดูแล รับผิดชอบการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ก็มีกิจกรรม “ติวเข้มให้เต็มร้อย” คือการกางแบบประเมินมาติวกันเป็นรายข้อ หากทำหรือเตรียมข้อมูลครบถ้วน รับคะแนนเต็มร้อยไปเลย และพบว่าคะแนนแยกตาม ก่อน/ระหว่าง/หลังการประชุม ก็ยกระดับดีขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้  ยังมีหุ้นน้องใหม่ไฟแรงที่เพิ่งจะเข้าจดทะเบียนในปี 2557 และสามารถทำคะแนนได้เต็มร้อย จำนวน 5 บริษัท คือ BRR, TSR, TAE, SUTHA และ LIT (ตัวหลังคือหุ้นใน mai)

ดังนั้น น่าจะเป็นเรื่องไม่ยากเย็น หากมีความตั้งใจที่จะตั้งเป้าหมายให้เต็มร้อย ปัญหาที่พบมักจะเกิดจากสองข้อหลักคือ ความให้ความสำคัญของผู้บริหาร และการขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้เป็นการเฉพาะ (ผลคะแนน ดูได้จาก WWW.thaiinvestors.com)

แจกของชำร่วย ลดลง

เรื่องการแจกของชำร่วยให้กับผู้ถือหุ้นที่มาเข้าร่วมประชุม AGM งานเข้าเลยล่ะ เพราะสมาคมฯ ออกแถลงการณ์รณรงค์ งดแจกของชำร่วย อันเนื่องมาจากการพบภาพว่า มีผู้ถือหุ้นบางคน บางกลุ่มแปลงร่าง เป็น “มนุษย์ลุง-มนุษย์ป้า” เดินสายไปแย่งชิงทวงสิทธิ ตระเวนรับของแจก แตกหุ้น ซอยเป็นจำนวนน้อยลง เพื่อใช้อ้างการสิทธิของการเป็นผู้ถือหุ้นจนปั่นป่วน เจ้าหน้าที่ของบริษัทจดทะเบียนฉกชิงกันซึ่งหน้า ด่าทอกันเสียหาย แทบจะร้องไห้ลาออกกันตรงนั้น ผิดวัตถุประสงค์ของการเชิญชวนให้ไปเข้าร่วมประชุม แถมยังส่งผลเสียเรื่องการบริหารจัดการ กลายเป็นต้นทุน สมาคมฯ จึงรณรงค์ว่าควรงดแจก โดยอาจจะพิจารณาเป็นการจ่ายเงินปันผล ที่ผู้ถือหุ้นได้รับทั่วถ้วนกันทุกคน

บางรายเหมือนถูกขัดใจ ขัดลาภ ลุกขึ้นด่าทอผู้บริหาร เป็นการใช้เวลาในที่ประชุมนอกวาระ และถูกมองว่านักลงทุนควรจะมีพัฒนาการด้านการศึกษาข้อมูลของบริษัทที่ตัวเองถือหุ้นอยู่ และมาซักถามอย่างสร้างสรรค์กับผู้บริหารที่มีนัดเจอกันปีละครั้ง จะเป็นประโยชน์กว่า

บางบริษัทอ่านหรือประกาศแถลงการณ์ของสมาคมฯ ที่รณรงค์งดแจกของชำร่วย ในที่ประชุม AGM ก็ต้องขอขอบคุณที่ให้เกียรติ แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการรณรงค์ สมาคมฯ ไม่มีสิทธิที่จะไปห้ามบริษัทจดทะเบียนใดเลย ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหาร

พบว่าบริษัทจดทะเบียนที่งดแจกของชำร่วยในการประชุม AGM ประจำปี 2558 มี จำนวนมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ถึงร้อยละ 36 คือจำนวน 309 บริษัท หรือร้อยละ 54 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ในขณะที่เดิมมีเพียง 95 บริษัท หรือเพียงร้อยละ 18 และมีแนวโน้มว่าจะมีนโยบายงดแจกของชำร่วยมากขึ้นในปีต่อๆ ไป โดยอาจจะมีการแปรงบประมาณ ไปใช้กับกิจกรรมที่มีประโยชน์แนว CSR หรืออื่นใดที่ผู้ถือหุ้นจะได้กุศลร่วมกัน

ต้านโกงดีขึ้น 

เรื่องคำถามที่อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้นเพียรมานะไปถามผู้บริหาร เรื่องการตื่นตัวเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collection Action Coalition-CAC) ที่มีผู้บริหารบางแห่ง อาจจะมีอารมณ์รำคาญ ขัดเคืองใจ เหมือนถูกจับผิดมาถามอยู่ได้ ปีที่แล้วก็ถาม ปีนี้ยังมาถามอีก ผมโปร่งใส ทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมาอยู่แล้วนะ หรือผู้ถือหุ้นบางคนก็พลอยผสมโรง หาว่าเสียเวลา ถามเรื่องไร้สาระ อยากให้ถามว่าผู้บริหารจะเลี้ยงข้าวไหมจะดีกว่า (ฮา)

หรืออาจจะมีบางกลุ่มคอยสกัดบท ฉกนำถามก่อนปาดหน้าเค้กให้ได้เครดิตตัวเอง พูดจาดีมีหลักการ แต่เบื้องหลังฉากคือ อาจจะรับจ๊อบเป็น “อาสาพิทักษ์ผู้บริหาร” หรืออาจตั้งตัวเป็น “ดาวสภา” รับสมอ้างว่า ตัวเองเป็นที่ปรึกษาอยู่หลายสิบแห่ง ไปประชุม AGM มาแล้วนับร้อยๆ บริษัท แต่เบื้องหลังคือ การชอบเล่นหุ้นอภินิหาร ทุกท่านคิดต่อได้เองนะคะ

ความตื่นตัวของบริษัทจดทะเบียน เกิดขึ้นเมื่อเกิดคำถามนี้ รายที่ยังไม่เคยรู้ข่าวนี้มาก่อน ในปี 2557 ก็มีการสอบถามกันว่า อะไร อย่างไร แล้วต้องทำอย่างไร ตัวเลขสถิติจึงปรับระยะขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ  กล่าวคือ ในปี 2558 มีบริษัทจดทะเบียนได้รับวุฒิบัตรจากโครงการฯ แล้วจำนวน 39 บริษัท มากขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่ได้รับวุฒิบัตรเพียง 12 บริษัท ตลอดจนมีบริษัทที่แสดงเจตจำนงลงนามในการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 277 บริษัท เมื่อเทียบกับปี 2557 มีเพียง 107 บริษัท

นับว่าเป็นการทำงานเชิงรุกที่เห็นผลสองปีซ้อน ที่สมาคมฯ ทำหน้าที่ในการส่งคำถามนี้ให้กับอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น นำไปถามในที่ประชุม และให้ทำการบันทึกไว้เป็นหลักฐานในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่จะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในเว็ปไซต์ของบริษัทเองด้วย

และขอแจ้งว่า หลังจากที่โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต เป็นภาคสมัครใจใน 2 ปีที่ผ่านมา บัดนี้การรณรงค์แบบถอนรากถอนโคนของปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย เกิดขึ้นแล้ว และในปี 2559 เป็นต้นไป โครงการฯ นี้จะกลายเป็นภาคบังคับสำหรับทุกบริษัทจดทะเบียน

กรรมการอิสระ 639 คน นั่งเกิน 9 ปี

เรื่องถัดมาที่เป็นข้อมูลเชิงลึกแต่ไม่ใช่เรื่องลับ เพราะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยและบรรจุในวาระที่ต้องให้ผู้ถือหุ้นลงมติเห็นชอบคือ เรื่องการเลือกตั้งกรรมการของบริษัทและค่าตอบแทนกรรมการ

กรรมการของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กรรมการบริษัท-เป็นผู้มีส่วนได้เสียชัดเจน เช่น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ก่อตั้ง หรือบริษัทในเครือ และกรรมการอิสระ-มีระบุนิยามไว้ว่า ต้องเป็นผู้ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 5สมมุติฐานว่า ไม่ใช่กลุ่มของผู้มีส่วนได้เสีย ทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นรายบุคคล ในการสอดส่องดูแล ถ่วงดุลให้บริษัทบริหารงานอย่างโปร่งใสมีธรรมาภิบาล หรือหากเป็นไปได้กรรมการอิสระไม่ควรถือหุ้นเพื่อให้มีความอิสระ และควรใช้ความรู้ ประสบการณ์มาช่วยให้การบริหารเจริญรุดหน้า ปราศจากการถูกแทรกแซงจากผู้มีส่วนได้เสีย

กรรมการอิสระจึงถูกมอบหมายให้เป็นกรรมการชุดย่อย เช่น กรรมการตรวจสอบ กรรมการพิจารณาค่าตอบแทน กรรมการพิจารณาความเสี่ยง เป็นต้น

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า กรรมการของทุกบริษัทจดทะเบียนรวมกัน มีจำนวน 6,296 คน เป็นกรรมการบริษัท 3,892 คน คิดเป็นร้อยละ 62 และกรรมการอิสระ 2,404 คน คิดเป็นร้อยละ 38 จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ ตามแนวปฏิบัติที่ระบุว่า ควรมีกรรมการอิสระอย่างน้อยสักหนึ่งในสามของกรรมการของบริษัท

นอกเหนือจากการต้องบรรจุวาระการเลือกตั้งกรรมการ ให้อยู่ในวาระของการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว ยังต้องมีวาระการอนุมัติเรื่องค่าตอบแทนกรรมการอีกด้วย ทีมงานตามไปรวบรวมค่าตอบแทนจากหนังสือเชิญประชุม และบันทึกรายงานการประชุม ทั้งกว่าหกร้อยแห่งรวมกัน ราว 2,767 ล้านบาท หรือเทียบเคียง คิดเป็นร้อยละ 0.40 จากกำไรสุทธิ ของทุกบริษัทรวมกันในปี 2557 (ราว 687,850 ล้านบาท) แบ่งสัดส่วนเป็นของกรรมการอิสระ 539 ล้านบาท หรือร้อยละ 20

ลึกลงไปกว่านั้นพบว่า ระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระที่เกินกว่า 3 วาระ วาระละ 3 ปีนั้น มีจำนวน 639 คน หรือร้อยละ 27 ของจำนวนกรรมการอิสระที่มีอยู่ เห็นตัวเลขแล้วบางท่านอาจตกใจ ว่า มาได้อย่างไรกันเยอะขนาดนี้ เรื่องนี้เป็นไก่กับไข่ที่ถามกันไปมาว่า อะไรเกิดก่อนกัน คือจำนวนตัวเลขในถังข้อมูลของชื่อผู้ที่พร้อมจะทำหน้าที่กรรมการอิสระ และบริษัทที่ยังมีเก้าอี้ว่าง ต่างคนต่างไม่มั่นใจกัน แล้วจะทาบทามมาช่วยงานกันอย่างไร ธรรมเนียมไทยๆ ยังไม่ค่อยกล้าที่จะแสวงหามืออาชีพแบบเพียวๆ ไม่งั้นอาจกลายเป็น “แกะดำ” หรืออาจเป็น “ตกกระไดพลอยโจน” ทำงานกันไม่สนุก หวาดระแวง กลับมาล้วงความลับทางการค้า หรือไม่ก็เข้าข่ายติดร่างแหสมรู้ร่วมคิด เสียชื่อเสียงที่สะสมมาตลอดชีวิต หรือหนักข้ออาจพลาดไปนอนมุ้งสายบัวในวัยหลังเกษียณ แทนที่จะได้มีเวลาเลี้ยงหลานเพลินๆ

เข้าประชุมเพียงร้อยละ  5

วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ลงทุนภาคสนามแล้ว สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย มีข้อสังเกตบางประการที่พบว่า มีจำนวนผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี 2558 ราว 212,831 คน หรือเพียงราวร้อยละ 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุม ที่มีมากถึง 4.1 ล้านคน

ด้านบริษัทจดทะเบียนพบว่า มีจำนวน 40 แห่ง ที่ประธานกรรมการบริษัทไม่ได้เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น และจำนวน 26 แห่ง ที่ประธานกรรมการตรวจสอบ ไม่เข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ขอรณรงค์ให้ประธานกรรมการ/ประธานกรรมการตรวจสอบ เข้าร่วมประชุม ให้เป็นบรรยากาศของการสร้างสรรค์ กล่าวคือ ผู้บริหารมีความตั้งใจในการนำเสนอ-เปิดเผยข้อมูล ตลอดจนผู้ถือหุ้นตั้งใจในการมาร่วมรับฟังข้อมูล อันเป็นประโยชน์ ในฐานะของการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ที่เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน  

หากเป็นดังนี้แล้ว เวทีของการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น จะเป็นเวทีแห่งการสร้างสรรค์ และเป็นแนวปฏิบัติ ที่มีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืน บนหลักการของการมีธรรมาภิบาลที่ดีของตลาดทุนไทยได้อีกทางหนึ่ง

ขอขอบคุณ 8 องค์กรพันธมิตร ที่เป็นแนวร่วมในการร่วมสร้างธรรมาภิบาลที่ดีให้กับตลาดทุนไทย ได้แก่ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

 ----------------

สิริพร สงบธรรม

เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย