'สงครามเย็น' ยุคใหม่

'สงครามเย็น' ยุคใหม่

ปลายปี 2552 รัฐบาลกัมพูชาส่งชายชาวอุยกูร์ 20 คน ให้รัฐบาลจีน โดยคนเหล่านี้หลบหนีออกจากจีน

หลังเหตุจลาจลในซินเจียง ครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปีของจีน

รัฐบาลปักกิ่งกล่าวหา ชาวอุยกูร์ 20 คนนี้เป็น “อาชญากร” ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐสะเทือนใจอย่างที่สุดจากการกระทำของรัฐบาลกัมพูชา และแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของชาวอุยกูร์ จะได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องสมควรในจีน

แล้ว “หนังม้วนเก่า” กลับมาฉายอีกครั้ง เมื่อไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับจีน ท่าทีของสหรัฐฯ และยุโรปก็เหมือนเดิม

เวลานี้ คนไทยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายที่เชียร์ คสช. เข้าใจในการกระทำของจีนต่อชาวอุยกูร์ ส่วนฝ่ายที่ต้านทหาร ก็ด่ารัฐบาลไทยที่ส่งชาวอุยกูร์ไปให้จีนเชือด

สำหรับผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ ย่อมเข้าใจได้ว่าเหตุใด ชาวอุยกูร์ จึงลุกขึ้นมาต่อสู้กับ ชาวฮั่น

ร้อยกว่าปีที่แล้ว เติร์กอุยกูร์ ถูกราชวงศ์ชิงกดขี่ข่มเหงมายาวนาน จนราชวงศ์ชิงล่มสลาย และเกิดสาธารณรัฐนำโดย ดร.ซุนยัดเซ็น จีนไม่ได้เข้าไปจัดการกับอุยกูร์ เพราะมีสงครามภายในหมู่ขุนศึกแต่จีนได้ยืนยันกับนานาชาติว่า เขตที่ชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ เป็นดินแดนของจีน

ปี ค.ศ.1942 พรรคคอมมิวนิสต์จีน สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่รวมเป็นหนึ่งเดียว โดยประธานเหมาเจ๋อตง ส่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ไปยึดดินแดนทิเบต และซินเจียง

ตอนแรก จีนยึดแนวการปกครองมาจากสหภาพโซเวียต คือให้มี “เขตปกครองตนเอง” สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งให้ประกอบพิธีกรรม ความเชื่อในศาสนาได้

กระทั่งเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมปี ค.ศ.1966 ขบวนการ เรดการ์ดถูกส่งออกไปทั่วประเทศ รวมถึงซินเจียงและทิเบต ศาสนสถานถูกทำลาย นักบวชแต่ละศาสนาก็ถูกลงโทษ

ปี ค.ศ.1976 การปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง เติ้งเสี่ยวผิง จึงรื้อฟื้นแนวนโยบายเดิมสมัยที่พรรคอมมิวนิสต์จีนเถลิงอำนาจใหม่ๆ ให้มีการนับถือศาสนาเหมือนเดิม พร้อมกับยึดระบอบสมัชชาผู้แทนประชาชน เปิดทางให้ตัวแทนชนชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ

ครั้นมาถึงยุค หูจิ่นเทา ที่เคยเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำทิเบต ได้นำเสนอแนวนโยบายนำเอาชาวฮั่นเข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ของชนชาติพันธุ์

นัยว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เมื่อชาวฮั่นเข้าไปทำมาค้าขายในพื้นที่ “เขตปกครองตนเองอุยกูร์แห่งซินเจียง” มากขึ้น และได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์กับชาวฮั่น

กระทั่งความขัดแย้งทางเชื้อชาติมันถึงจุดระเบิด เกิดการจลาจลระหว่างชาวอุยกูร์และชาวฮั่น และการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีน กับชาวอุยกูร์ในเขตปกครองพิเศษซินเจียง เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

ด้านขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวอุยกูร์ ที่ปฏิบัติการอย่างเอาจริงเอาจังมีอยู่ 2 ขบวนการ คือ องค์กรปลดปล่อยเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Liberation Organization: ETLO) กับ ขบวนการอิสลามิกเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkestan Islamic Movement: ETIM)

สองกลุ่มนี้ ต้องการสร้าง สาธารณรัฐอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก ที่ถูกมองว่าเป็นเครือข่ายขบวนการก่อการร้ายสากล

รัฐบาลจีนเชื่อว่า การก่อเหตุจลาจล หรือต้านชาวฮั่น เป็นฝีมือของผู้ก่อการร้าย ที่ต้องการแยกดินแดนเป็นรัฐอิสระ ดั่งเช่นชาวอุยกูร์ 109 คน ที่จีนขอให้ไทยส่งตัวกลับไป โดยจีนชี้ว่ามีชาวอุยกูร์ 13 คนเป็นสมาชิกขบวนการก่อการร้าย

ขณะที่ สภาอุยกูร์โลก ที่รณรงค์เรียกร้องสิทธิ์ของชาวอุยกูร์พลัดถิ่น ได้เคลื่อนไหวอยู่ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ออกมาเรียกร้องให้จีนเคารพในกฎบัตรแห่งสิทธิมนุษยชน

สงครามเย็นยุคใหม่ ระหว่าง วอชิงตัน กับ ปักกิ่ง ยังดำรงอยู่และดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น โดยมีชาวอุยกูร์ผู้น่าสงสาร เป็นเบี้ยบนกระดานมหาอำนาจเกมนี้

ไทยเราตกอยู่ในหว่างเขาควายแบบนี้ มาตั้งแต่สงครามเย็นยุคเก่าจนถึงยุคใหม่ และคนไทยก็ยังทะเลาะกันเอง เพราะมหาอำนาจสองขั้ว