Euro และ EU

Euro และ EU

เมื่อหลายปีก่อนน่าจะประมาณปี 2554 ผมเคยเขียนบทความหัวข้อเรื่อง ยูโรจะรอดมั๊ย มาครั้งหนึ่งแล้ว

ผมลองไปพลิกๆ ดูก็เห็นว่าที่ได้เคยคุยกันตอนนั้นมันก็ใกล้เคียงความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ ก็เลยมีแนวความคิดที่จะนำมา "ปัดฝุ่น” และเพิ่มเติมด้วยเหตุการณ์ปัจจุบันซึ่งกำลังเป็นเรื่องฮอตสุด ๆ ในตอนนี้นะครับ และอยากจะเรียนไว้ตอนนี้เลยว่าการวิเคราะห์ของผมครั้งนี้เป็นความเห็นส่วนตัว และโปรดใช้วิจารณญาณด้วยครับ ไม่ได้มีเจตนาจะ "ตีกระทบ”ใครทั้งสิ้น และครั้งนี้ถ้าได้อ่านพร้อมกับบทความอันก่อนข้างต้นก็จะดีมากเลยครับ 


ข้อแรก ผมคิดว่าสุดท้ายกรีซก็คงต้องออกจากระบบการเงินของอียู ค่อนข้างแน่นอน คงจะไม่ได้ใช้เงินยูโร แต่จะกลับไปใช้เงินสกุลเดิมที่เรียกว่า Drachma หรือตั้งชื่อใหม่อันนี้ไม่รู้จริง ๆ แต่ชื่อนั้นสำคัญไฉน ที่สำคัญกว่าคือจะกำหนดเงินของตัวเอง(อันใหม่)ไว้ตรงที่เท่าไร เพราะผมเชื่อว่าเงินสกุลนี้ก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือ และทางการกรีซเองก็คงจะต้อง "ฟื้นฟู”ความเชื่อมั่น มิฉะนั้นก็คงจะไม่ต่างจากสถานะเศษกระดาษนะครับ แนวทางที่น่าจะเป็นไปได้คงต้องไปหาใครสักคนที่แข็งแกร่งเพียงพอมาช่วย "อุ้ม” กรีซ ใครคนนั้นต้องกระเป๋าหนักพอสมควร ในทางทฤษฎีแล้วคงจะมีไม่กี่ระบบเศรษฐกิจที่สามารถอุ้มได้ และไม่แน่ใจว่าอยากจะมาอุ้มหรือไม่ เพราะเข้ามาอาจจะเปลืองตัวเข้าไปอีก

ข้อที่สอง การออกจากระบบการเงินของอียู อาจจะไม่จำเป็นต้องออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป เพราะเรื่องสมาชิกภาพเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่นอกเหนือจากเรื่องการเงินไปพอควร หากเป็นเช่นนั้นจริงการที่ต้องทำความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของกรีซก็คงจะสำคัญมากถึงมากที่สุด

ข้อที่สาม ทางด้านสหภาพยุโรปเอง ผมเชื่อว่าเขาไม่แคร์หรอกที่จะไม่เอากรีซไว้ ไม่ว่าจะเป็นแบบเฉพาะเจาะจงเรื่องระบบการเงินหรือแบบทั้งพวงรวมถึงสมาชิกภาพ ผมเชื่อว่าทางสหภาพยุโรปเองกังวลใจเรื่องโรคติดต่อ(Contagion effect) มากกว่าเพราะว่าหากคุมไม่ได้ เอาไม่อยู่ มันอาจจะหมายถึงการแตกกระจาย(Disintegration) ของ Euro Zone ซึ่งหมายถึงอียูเองต้องถอยหลังกลับไปเยอะ และคงต้องใช้เวลาแก้ไขอีกนาน ผมเชื่อว่าอียูคงไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์การแตกกระจายได้ ทำอย่างไรหรือครับ เขาก็ต้องทำให้สมาชิกยูโรที่อ่อนแออื่น ๆเข้มแข็งขึ้นอย่างน้อยก็ในระยะสั้น จำคำย่อ PIIGSได้ไหมครับ(Portugal , Italy ,Ireland, Greece ,Spain) หากอียูสามารถขีดวงให้ความเสียหายเกิดขึ้นเพียงที่กรีซ และ "เตะ” กรีซออกไป ก็น่าจะเป็นผลดีต่ออียูในระยะยาว อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ จัดการประเทศอ่อนแอเหล่านี้ในคราวเดียวกัน อันนี้ออกจะค่อนข้าง "ซาดิสม์” และอาจมี “Collateral Damage” เกิดขึ้นได้ แต่หากสำเร็จกลุ่มอียูก็จะแข็งแกร่งขึ้น และในระยะยาวก็จะสามารถจัดการเรื่อง Fiscal Union หรือ สหภาพทางการคลังที่อยากทำมานานได้สำเร็จ เพราะเหลือระบบเศรษฐกิจแบบวงในซึ่งสามารถจะปรับตัวให้ได้ง่ายกว่ากัน และเมื่อ Fiscal Union ประสบความสำเร็จ เมื่อผนวกกับ monetary union ซึ่งสามารถพิสูจน์ตนเองได้ดีแล้วว่าสามารถทนแรงเสียดทานและอุปสรรคต่าง ๆ ในสถานการณ์โลกได้เป็นที่น่าพอใจ แล้วก็จะทำให้สหภาพยุโรป หรือ อียู สามารถก้าวเข้าสู่ยุคเข้มแข็งอย่างยั่งยืนได้แน่นอน

ข้อที่สี่ บทเรียนและผลกระทบต่อตลาดการเงิน ข้อนี้อาจจะยาวนิดหน่อย และอาจจะเกิดข้อโต้แย้งจากหลายๆ ท่านได้ ซึ่งไม่เป็นปัญหาอะไร แล้วแต่ดุลพินิจและวิจารณญาณของท่านนะครับ ผมเชื่อว่าในภาพกว้างการรวมตัวแบบเป็นประชาคมเช่นนี้ต้องยกย่องว่ายุโรปมีประวัติที่ยาวนาน และมีความต่อเนื่อง ดังนั้นการสะดุดบ้าง ถอยหลัง (ทั้งก้าวเล็ก ก้าวใหญ่) ก็คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าเราจะทำให้มันดำเนินต่อไป (Keep going) ได้อย่างไร

ย้อนหลังไปประมาณปี 1988 ถึงปี 1993 ผมจำไม่ได้ถนัด ในการสัมมนาประจำปีของชมรม ฟอร์เร็กซ์ (ปัจจุบันคือชมรม เอซีไอ) สมาคมธนาคารไทยได้เชิญธนาคาร BBL(Banque Bruxelles Lambert) มาพูดเรื่องเงินตราสกุลเดียวสำหรับยุโรป ผมยังจำได้ว่าผมได้ถามคำถามไปว่าการมีเงินตราสกุลเดียวสำหรับทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (ในขณะนั้น) หรือ EEC จะทำได้อย่างไรเพราะแต่ละระบบเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันอย่างมากบ้างน้อยบ้าง ตัวแทน BBL ได้ตอบคำถามบอกว่าทำได้ และมีความมั่นใจมาก แต่ไม่ได้ตอบคำถามของผมที่ถามว่าอย่างไร จนถึงปัจจุบันก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าเงินสกุลเดียวนั้นทำได้ แต่อาจจะถูกเพียงครึ่งเดียวเพราะสมาชิกที่เหลืออยู่อาจจะน้อยลงเรื่อย ๆ หากการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้จบออกมาแบบ "ไม่สวย”

เมื่อมองให้แคบเข้า ในขณะนี้คงจะหนีไม่พ้นที่เงินยูโรคงจะอ่อนตัวลงได้อีก เมื่อ 4 ปีก่อนตอนที่เขียนบทความเกี่ยวกับยูโรตามที่กล่าวข้างต้นนั้นค่าของเงินยูโรอยู่ที่ประมาณ 1.2330 ดอลลาร์/ยูโร ขณะนี้ก็อ่อนลงมาอีกอยู่ที่ 1.1080 ดอลลาร์/ยูโร อย่างไรก็ตามยังคงมีค่าสูงกว่าระดับอ่อนที่สุดที่ระดับประมาณ 0.8230 ดอลลาร์ เมื่อปลายปี 2000 ซึ่งหมายความว่า monetary union และ currency union นั้นยังมี "room” ที่จะพิสูจน์การคงอยู่ได้อีกพอควร และน่าจะเพียงพอที่จะผ่านวิกฤตนี้ได้ ผลข้างเคียงที่มีต่อตลาดอื่น ๆ เช่น หุ้น และดอกเบี้ย ซึ่งมีความอ่อนไหวมากนั้นคงเลี่ยงได้ยาก คงไม่ต้องพูดซ้ำ หากมองแบบ "สวนกระแส” น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการช้อนหุ้น และพันธบัตร แต่คงต้องตั้งสติและมีความกล้าหาญพอควร

อีกบทเรียนที่ผมคิดว่าพวกเราต้องนำมาเป็นประสบการณ์และสร้างแผนเผชิญเหตุ หากเกิดกรณีคล้าย ๆ กับที่กรีซ ก็คือ จะบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องอย่างไร จะทำอย่างไรหากตู้ ATM แห้งแล้งไม่มีเงิน จะทำอย่างไรที่จะทำให้การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบให้เพียงพอ เพื่อที่จะระงับความตื่นตระหนกของผู้คนได้ในระดับที่น่าพอใจ เช้าวันนี้ (29/6) ข่าวที่กรีซสั่งปิดธนาคารเพราะธนาคารต่าง ๆ ไม่มีเงินเพียงพอให้คนฝากเงินถอนนั้นเป็นภาพและเรื่องราวที่ไม่สวยงามนัก คงไม่มีใครอยากให้เกิดในบ้านเรา ซึ่งจะสามารถป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรงของปัญหาได้ด้วย แผนเผชิญเหตุ และแผนฉุกเฉินที่ดีมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ (practical) สำคัญตรงนี้ครับคือ practical แผนที่ดีต้องมีการซ้อมและซักซ้อมกันเป็นครั้งคราวนะครับ และอย่าประมาทว่าจะไม่เกิดขึ้นที่บ้านเรานะ เพราะไม่มีอะไรที่จะ guarantee ได้หรอกครับ

บทเรียนสุดท้าย ก็คือ การมีวินัยนั้นสำคัญที่สุด ผมเชื่อว่าวินัยทางการคลังที่หย่อนยานเป็นมูลเหตุที่สำคัญที่สุดในวิกฤตครั้งนี้ ดังนั้นการมีวินัยการคลังที่หย่อนยานจะทำให้ปัญหาไปปูดในระยะยาว และยาวเพียงพอที่บรรดาผู้ก่อให้เกิดความย่อหย่อนนั้นไปเสวยสุขหมดแล้ว และผู้คนก็จะหลงลืมไป ดังนั้นการทำอะไรแบบสุดโต่งเพียงเพื่อหวังคะแนนเสียงเป็นเรื่องที่โทษใครไม่ได้ แต่ต้องโทษคนไปเลือกเองนะครับ สวัสดี