PAINFUL RECOVERY

PAINFUL RECOVERY

ปี 2015 เป็นอีกหนึ่งปีที่ราคาหลักทรัพย์ทุกประเภทมีความผันผวนอย่างมาก

สาเหตุหลักมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐบาลและธนาคารกลางของแต่ละกลุ่มเศรษฐกิจเลือกใช้ในแต่ละช่วงเวลานั้นส่งผลต่อตลาดการเงินและสินทรัพย์เสี่ยง (Risky assets) ในลักษณะที่แตกต่างกันไป Classic case คือ เป้าหมายที่จะกระตุ้นการส่งออกมักกระทำผ่านนโยบายที่สนับสนุนให้ค่าเงินอ่อน ซึ่งสุดท้ายหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ส่งผลลบต่อราคาสินทรัพย์/หลักทรัพย์เมื่อพิจารณาในสกุลเงินอื่น (ในมุมของนักลงทุนต่างชาติ) หรือที่เรียกกันว่า “หยิกเล็บ เจ็บเนื้อ” นั่นเอง 

เรามักคุ้นเคยกับความผันผวนของหลักทรัพย์ที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ราคาสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภทมีการปรับตัวอย่างรุนแรง ในทุกวิกฤตเศรษฐกิจย้อนหลังไปตั้งแต่ Great depression ในปี 1930 และวิกฤต Saving and Loan (S&L) Crisis ของสหรัฐฯ ในปี 1980 ที่สร้างความเสียหายกว่า 150,000ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก Asset-Liability Mismatch ทางฝั่งเอเชียมิได้น้อยหน้าแต่อย่างไรเพราะได้ส่ง “ต้มยำกุ้ง Crisis” ที่เกิดขึ้นจากการลดค่าเงินบาทในปี 1997 เข้าประกวด แต่ผลของมันไม่สามารถเทียบเคียงได้กับความเสียหายที่เกิดจาก Lehman Crisis จากยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ในปี 2008 ได้เลย

ในปีนี้ ความผันผวนของตลาดการลงทุนได้เกิดขึ้นแล้วอีกครั้ง แต่มิได้มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจดังที่เคยเป็น หากแต่เกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากล้มลุกคลุกคลานมากว่า 6ปี ... กล่าวได้ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้ Fund Manager ต้องใช้กลยุทธ์ Asset Rebalancing และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ทำให้ Fund Manager ต้องทำการ Rebalancing portfolio เช่นกัน รอบนี้ ผมคิดว่า Fund Manager เตรียมตัวรับมือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาตั้งแต่กลางปี 2014 เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจทั้งด้านการจ้างงาน การผลิต และภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีการฟื้นตัว แต่ FED ได้เน้นย้ำว่า การฟื้นตัวที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อ Slack หรือ ตะกรัน ในตลาดแรงงานหมดไป กล่าวคือ FED อยากเห็นการปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างก่อนจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย


FED ทราบดีว่า นอกจากกระบวนการพิจารณา EXIT จาก “นโยบายผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ย” อย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว (เพราะ QE ทำให้ Balance sheet ของ FED เต็มไปด้วยตราสารหนี้ทั้ง Mortgage-backed securities และ US Treasury) วิธีการสื่อสารของ FED มีความสำคัญอย่างมากของนักลงทุนและผู้ประกอบการต่อการเตรียมพร้อมต่อการตึงตัวของตลาดการเงินและต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

เมื่อพิจารณา Cycle การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ในปี1994 และปี 2004 นั้น FED มีแนวทางการสื่อสารกับนักลงทุนในตลาดที่แตกต่างกันไป โดยการสื่อสารที่ดีสามารถวัดได้จาก การปรับตัวขึ้น หรือการกระชากของ 10 Year US Treasury Yield แบบค่อยเป็นค่อยไป .... ก่อนการขึ้นดอกเบี้ยในปี 1994 Yield (เส้นสีเหลือง) มิได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่กลับมีการกระชากขึ้นรุนแรงมากหลังจากการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก เพราะนักลงทุนไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนจึงไม่สามารถเตรียมพร้อมต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย ในทางกลับกัน เมื่อพิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2004 แล้ว พบว่า Yield ค่อยๆ ปรับขึ้นล่วงหน้าก่อนการประชุม สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนได้รับทราบสัญญาณล่วงหน้าและทยอยปรับพอร์ทการลงทุนก่อน First-Rate Hike เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า FED เตรียมตัวดีมากในปี 2004 เพราะไม่อยากให้ตลาดเกิดภาวะตื่นตระหนกดังที่เกิดขึ้นในปี 1994 ซ้ำรอยอีก


การปรับตัวขึ้นของ US Treasury yield 25-30bps สู่ระดับสูงสุดในรอบ 8เดือน ที่ 2.41% สอดคล้องกับ yield ของ BUND หรือพันธบัตรรัฐบาลประเทศเยอรมัน ที่ไล่ขึ้นจาก 0.48% แตะ 0.97% ภายในเวลาเพียง 3วัน และค่าเงิน EURO ที่แข็งค่าขึ้นจาก 1.09 เป็น 1.12 เพียงข้ามวันหลังจากมีสัญญาณของเงินเฟ้อในแดนบวกนั้น ย่อมบ่งชี้ถึงสัญญาณการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินออกจากพันธบัตรสู่ asset class อื่นอย่างชัดเจน …ในกรณีของบ้านเรานั้น หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งติดต่อกัน พร้อมมีมาตรการสนับสนุนให้มีเม็ดเงินออกนอกประเทศ ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าจากระดับ 32.30 ในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม สู่ 33.91บาท/ดอลลาร์ ในวันที่ 4 มิ.ย.

ล่าสุดท่านรมต.คลังฯ และท่านปลัดคลังฯ กล่าวในวันที่ 3 มิ.ย.ว่าค่าเงินบาทในระดับปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก นั่น ไม่เพียงลดความคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุมกนง.ในวันพุธหน้า (10 มิ.ย.) แต่ส่งให้อัตราผลตอบแทน หรือ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลไทย ดีดตัวอย่างแรงถึง 10-20bps ในเวลา 24 ชม. ประหนึ่งว่า ดอกเบี้ยนโยบายกำลังจะปรับขึ้นในเร็วนี้

ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของตลาด ถ้าเงินบาทอ่อนค่ามากไป ผู้ประกอบการฝั่งนำเข้าจะออกมาเรียกร้องอย่างแน่นอน ตลาดเงินตลาดทุนคงจะผันผวนต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยจนกว่า FED จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งแรก หรือ First-Rate Hike และนั่นจะเป็นอีกครั้งที่เราเห็นการทำ Asset Rebalancing ครั้งใหญ่อีกครั้งครับ