มองลอดหน้าต่างการเมืองอินเดียในปัจจุบัน

มองลอดหน้าต่างการเมืองอินเดียในปัจจุบัน

วันที่ 26 พ.ค. 2558 เป็นวันที่นายนเรนทรา โมดี จากพรรค BJP (Bharatiya Janata Party) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียครบรอบ 1 ปี

บรรดาสื่อมวลชนอินเดียต่างนำเสนอข่าวผลงานของนายโมดีในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ให้คะแนนนายโมดีว่าสอบผ่าน แม้กระแสความนิยมจะลดลงไปบ้างเมื่อเทียบกับวันที่มีการเลือกตั้ง ยกเว้นเสียงจากบรรดาขุนพลของพรรคคองเกรส ที่ตกกระป๋องไปเป็นฝ่ายค้าน ต่างออกมาสวนกระแสวิจารณ์ว่ารัฐบาลนายโมดีไม่ได้ทำอะไรใหม่ นอกจากขโมยเอานโยบายที่พรรคคองเกรสริเริ่มไว้มาตกแต่งใหม่และนำเสนอ (repackage) ขายแก่ประชาชน


ในวันนั้น มีการลงโฆษณาภาพของนายโมดีใน นสพ. รายวันเป็นพื้นที่ 1 ใน 4 หน้า กล่าวขอบคุณประชาชนที่เลือกเขาเข้ามาและสัญญาจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อนำอินเดียไปสู่วันที่ดีขึ้น (Achhe din) และในวันเดียวกันนั้นก็มีการตีพิมพ์โฆษณาในหน้า นสพ. ชั้นนำจำนวน 4 หน้าเต็ม ประชันความสำเร็จของนางชัยลลิตา (Mrs. J. Jayalalithaa) มุขมนตรีแห่งรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งอยู่ทางใต้ของอินเดีย


ผมดูแล้วก็เห็นภาพความแตกต่างที่ไปกันคนละทาง (contrast) ระหว่างการเมืองระดับประเทศกับการเมืองระดับรัฐของอินเดีย จึงขอเล่าสู่กันฟังแบบเปรียบเทียบ ดังนี้
ความสำเร็จที่ผมชื่นชมต่อนายโมดีในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 3 ประการ (1) การทำให้คนอินเดียรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นชาวภารตะมากขึ้น สังเกตจากผลการพบปะหารือกับผู้นำต่างประเทศที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน และทำให้อินเดียเป็นที่สนใจยอมรับมากขึ้นในเวทีโลก (2) การขับเคลื่อนกลไกของรัฐบาลได้เต็มที่ ซึ่งต่างจากนายมานโมหัน สิงห์ ที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่สามารถขยับเขยื้อนนโยบายอะไรได้เลย (policy paralysis) เพราะอำนาจที่แท้จริงยังอยู่ในมือนางโซเนีย คานธี หัวหน้าพรรคคองเกรส และ (3) เป็นช่วง 1 ปีที่ยังปลอดข้อครหาในเรื่องทุจริต คอร์รัปชัน รัฐมนตรีทุกคนที่ได้รับการแต่งตั้งในวันแรกของการเป็นรัฐบาลก็ยังอยู่ครบ ไม่มีใครถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชันและต้องเปลี่ยนตัว นี่แหละครับที่เขาบอกว่า ถ้าหัวเดินอย่างไร หางก็ต้องเดินตาม ไม่ส่ายออกนอกลู่นอกทางแน่


ภาพที่ออกมาในระดับประเทศคือ อินเดียกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่พอมาดูในระดับรัฐ ก็เห็นภาพที่ค่อนข้างจะไปกันคนละทาง


รัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) มีนางชัยลลิตา (Mrs. J. Jayalalithaa) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันง่ายๆ ว่า นางชัย (Jaya) หรือ อัมมา (Amma) ที่แปลว่าแม่ เป็นมุขมนตรี นางเป็นอดีตดาราภาพยนตร์มีชื่อ แต่ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรค All India Anna Dravida Munnetra Kazhagam (AIADMK) ซึ่งอาจแปลว่า พรรคเพื่อความก้าวหน้าของชาวดราวิเดียน (ซึ่งเป็นคนที่อยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย) นางอัมมาได้รับเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลของรัฐเมื่อปี 2534 จนกระทั่งปี 2539 นางอัมมาพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ถูกกล่าวหาว่าใช้เงินของรัฐบาลไปในการแต่งงานลูกเลี้ยงของตนเป็นเงินกว่า 60 ล้านรูปี (หนังสือกินเนสส์บันทึกว่าเป็นงานแต่งงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีคนมาร่วมงานมากที่สุดในโลก) แต่นางอัมมาก็อ้างว่าเงินค่าใช้จ่ายมาจากครอบครัวฝ่ายหญิง


หลังจากต่อสู้คดีมา 5 ปี นางอัมมาได้รับการยกฟ้องและกลับมาชนะการเลือกตั้งได้เป็นมุขมนตรีอีกครั้งในปี 2545 หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินนโยบายประชานิยมต่างๆ อาทิ แจกข้าวสารแก่คนยากจนเดือนละ 20 กก/ครอบครัว แจกทองจำนวน 4 กรัมหรือไม่เกิน 50,000 รูปีสำหรับหญิงยากจนเพื่อเอาไว้แต่งงาน แจกพัดลม เครื่องบดสับอาหารแก่ครอบครัว แจกอุปกรณ์การศึกษา (คอมพิวเตอร์พกพา รองเท้า ชุดนักเรียน) แจกแพะแก่เกษตรกร และในเดือน ก.พ. 2556 นางอัมมาได้เปิดตัวโครงการที่ชื่อว่า “ร้านอาหารของแม่ (Amma Unavagams)” กว่า 360 สาขา เพื่อจำหน่ายอาหารในราคาอุดหนุนตั้งแต่ 1-5 รูปี แก่ประชาชนในเขตเมือง (มีข่าวว่าต้องใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลของรัฐปีละไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านรูปี) ที่หน้าร้านก็จะมีรูปโปสเตอร์ขนาดใหญ่ของนางติดไว้เพื่อเตือนให้คนที่มารับประทานอาหารเลือกเธอในครั้งต่อไป นางจึงกลายมาเป็นขวัญใจของคนในรัฐทมิฬนาฑูจำนวน 72 ล้านคน


ต่อมาเมื่อเดือน ก.ย. 2557 นางอัมมาก็ถูกรื้อฟื้นคดีทุจริตเอาเงินของรัฐบาลไปใช้โดยมิชอบกว่า 1 พันล้านรูปี และถูกศาลสูงของรัฐสั่งถอดถอนออกจากตำแหน่ง (impeachment) ด้วยความที่เป็นนักการเมืองระดับสูง จึงกลัวกันว่านางจะใช้อิทธิพลทางการเมืองบีบบังคับผู้พิพากษา ศาลฎีกาของอินเดียจึงยอมให้ยกเอาคดีฟ้องร้องนางไปพิจารณากันที่ศาลสูงของรัฐกรณาฏกะ (Kanataka) ที่เมืองบังกาลอร์ ซึ่งเป็นรัฐติดๆ กัน หลังจากใช้เวลามากว่า 7 เดือน ในที่สุดศาลสูงของรัฐกรณาฏกะ ก็พิพากษายกฟ้องคดีทุจริตของนางเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2558


ในช่วงที่นางอัมมาถูกถอดถอนแต่พรรคของนางยังคงคุมเสียงข้างมากในสภาของรัฐ ก็เลยมีการเลือกนายปันนีเซลวัม (Panneerselvam) ลูกน้องของนางอัมมาขึ้นมาเป็นมุขมนตรีแทน นายปันนีเซลวัมเองก็ยอมรับว่าตัวเองเป็นเพียงหุ่นเชิดของนางอัมมา ไม่ได้มีอำนาจอะไร ในที่สุดเมื่อศาลสูงรัฐกรณาฏกะตัดสินยกฟ้องนางอัมมา นายปันนีเซลวัมก็ลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้เลือกนางอัมมากลับมาเป็นมุขมนตรีตามเดิมเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2558


หลังจากได้เก้าอี้คืนมา นางอัมมาก็ลงโฆษณา 4 หน้าเต็มใน นสพ. รายวัน หลายฉบับเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2558 ประกาศย้ำนโยบายประชานิยมของนางในรัฐทมิฬนาฑูต่อไป มิไยที่จะมีข่าวแสดงความห่วงใยว่าโครงการประชานิยมของนางจะทำให้ฐานะการคลังของรัฐทรุดลงอีก


อ่านแล้วก็พิศวง แต่ก็นั่นแหละครับ อินเดียเป็นประเทศใหญ่ที่มีภาพแบบสุดขั้วให้เราเห็นได้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน ทั้งซ้ายสุดจนถึงขวาจัด ดีเลิศจนถึงแย่สุด ในภาพใหญ่ระดับประเทศ เรากำลังเห็นอินเดียที่มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ มีการเปลี่ยนความคิดของคนอินเดียให้มีศักดิ์ศรีของตนเอง ลดนโยบายอุดหนุนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรั่วไหลเงินงบประมาณจำนวนมาก มาเน้นการสร้างโอกาสและงานจากโครงการต่างๆ แต่ในอีกภาพหนึ่ง ก็ยังมีนักการเมืองระดับรัฐพยายามให้ประชาชนเสพติดกับนโยบายประชานิยมเพื่อหวังผลการเป็นผู้นำต่อไป โดยไม่ต้องสนใจว่าเมื่อใช้งบประมาณเพื่อการนี้แล้ว รัฐจะเอาเงินจากไหนมาลงทุนในโครงการอื่นที่จะเป็นประโยชน์มากกว่า และสร้างงานอย่างยั่งยืนสำหรับลูกหลานในอนาคต


มองลอดหน้าต่างการเมืองอินเดียในวันที่มีรัฐบาลใหม่ครบรอบ 1 ปี อย่างนี้แล้ว เลยไม่รู้ว่าตกลงคนอินเดียจะเลือกเดินไปทางไหนดี