จะเอาเงินไปทำอะไรดี

จะเอาเงินไปทำอะไรดี

ไม่ได้กวนท่านผู้อ่านนะครับ และก็ไม่ต้องการให้เกิดอาการหมั่นไส้อะไร แต่เป็นคำถามที่ผมได้รับบ่อยมาก

และคงจะเป็นกรณีเดียวกันที่บรรดา fund manager ต่าง ๆ ต้องประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน การนำเงินคนอื่นเขามาลงทุนกับการบริหารการลงทุนเงินของตนเองนั้นที่เหมือนกันก็มีมาก และที่แตกต่างกันก็มีอยู่เช่นกัน เพียงแต่ในเดือนนี้ผมจะยังไม่คุยเรื่องความเหมือนหรือความต่างนะครับ จะขอเล่าให้ฟังแบบสบาย ๆ ได้ความรู้ในเรื่องที่จะนำเงินไปทำอะไรดี 


ท่านที่มีการออมเงินอยู่เป็นประจำนั้นย่อมจะพบกับปัญหาเรื่องนำเงินออมนั้นไปลงทุนอะไรดี ถึงจะได้ผลตอบแทนที่ดีน่าพอใจ ผลตอบแทนอาจจะมีตั้งแต่ 20% ต่อเดือน หากคุณเป็นนายทุนเงินกู้ หรือเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่อัตราดอกเบี้ยแสนจะต้อยต่ำ การทำการลงทุนไม่ว่าจะเป็นแบบปล่อยเงินกู้หน้าเลือดหรือเก็บในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ตามตัวอย่างข้างต้น สิ่งที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจเป็นลำดับแรกก่อนลงมือก็คือ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนนั้น ๆ นะครับ

ฝรั่งเขามีคำกล่าวที่ว่า No Free Lunch คนไทยแปลเอาแบบได้ใจความก็คือ ของฟรีไม่มีในโลก ดังนั้นหากเขาจะทำตัวเป็นนายทุนเงินกู้หน้าเลือด เพื่อหวังอัตราดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นก็น่าจะได้แก่โอกาสที่ลูกค้าของท่านจะ”ชักดาบ” ก็มีอยู่สูงถึงสูงมาก การบริหารจัดการความเสี่ยงเรื่องชักดาบนี้ก็อาจทำได้หลายทางเช่น มีทีมตามหนี้ (Collection) ที่มีประสิทธิภาพ(ส่วนจะโหดไม่โหดก็คงต้องพิจารณาเอาเอง) หรือหากจะไม่อยากมีความเสี่ยงเลยเอาเงินไปฝากออมทรัพย์ เงินของท่านก็จะหดหายไปทุกวัน เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ได้ไม่มีทางที่จะตามอัตราเงินเฟ้อได้ เพียงแต่ท่านจะมีความเสี่ยงที่ต่ำถึงต่ำมาก(ก็ไม่ใช่ไม่มีนะครับ)

หากจะพูดให้เป็นวิชาการเท่ ๆ หน่อย ก่อนการลงทุนอะไรต้องพิจารณาความเสี่ยงอยู่ 3 อย่าง เป็นพื้นฐานเลยนะครับ ความเสี่ยงที่ว่าได้แก่ 1.)ความเสี่ยงทางด้านเครดิต(Credit Risk) 2.)ความเสี่ยงทางด้านราคา(Price Risk หรือบางทีเรียกว่า Market Risk) และ 3.)ความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง(liquidity Risk)

เงินออมของเราเป็นเงินที่อยู่นอกเหนือจากการใช้จ่าย ดังนั้น เงินออมจะเป็นหลักประกันอนาคตสำหรับการดำรงชีวิตในยามที่เราไม่มีรายได้ ดังนั้นการพิจารณาว่าจะนำเงินออมไปลงทุนอะไรแล้วให้ผลตอบแทนที่ดีถูกใจเรา ตัวเราเองต้องรู้ก่อนว่าตัวเราเองมีระดับการท้าทายความเสี่ยง(Risk Preference) อยู่ในระดับใด การ”รู้ตัวตน” ของตนในเรื่อง Risk Preference นี้ จะเป็นดัชนีบ่งชี้ได้ว่าความเสี่ยง 3 อย่างดังกล่าวข้างต้นนั้น ตัวตนของตนเองจะสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากนั้นก็จะสามารถจัดการการลงทุนได้

หากเป็นคนที่มี Risk Preference อยู่ในเกณฑ์สูง ง่าย ๆ คือ เป็นพวกชอบเสี่ยง และทราบเป็นอย่างดีถึงผลที่ตามมาหากไปเสี่ยงแล้วมันไม่เป็นไปตามคาด การจัดการลงทุนก็จะเป็นไปในลักษณะที่ให้ผลตอบแทนสูง ในทางตรงกันข้ามหากไม่ชอบเสี่ยง ก็จะได้อัตราผลตอบแทนที่ต่ำ ดูเหมือนฟังแล้วมันง่ายจังเลย แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วมันอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เหตุผลหลักที่มันไม่ง่ายก็เพราะว่ามันมีไอ้วายร้ายมาชักชวน ตัวร้ายตัวนั้นก็คือ ความโลภ(Greed) ในการลงทุนความโลภจะมีคำตรงข้ามอยู่คำหนึ่งคือ ความกลัว(Fear) ความโลภจะทำให้เรากล้าในสิ่งที่อาจจะเกินเลยไป แต่ความกลัวจะทำให้เราไม่กล้าทำอะไรเลย ทั้งสองสิ่งเลยต้องได้รับการบริหารจัดการด้วย

ขั้นตอนแรกเราต้องพิจารณาตัวตนของเราก่อน เอาแบบไม่โกหกตัวเองนะครับ เวลาท่านเดินไปซื้อกองทุนที่มีอยู่ขายโดยทั่วไป คงได้ยินเรื่องการทำแบบทดสอบความเหมาะสม (Suitability Test) หากทำแบบจริงจังท่านก็จะทราบว่าท่านเหมาะหรือไม่เหมาะกับการลงทุนในกองทุนนั้น ๆ หรือไม่อย่างไร แบบSuitability Test นั้น ปัจจุบันผมมีความเห็นว่ายังเป็นแบบง่าย ๆ ที่ผลการทดสอบออกมาอาจจะไม่บ่งชี้หรือคัดกรองจัดระดับ Risk Preference ได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าความรู้ความเข้าใจของผู้ออมหรือนักลงทุนยังไม่สลับซับซ้อนก็เป็นได้ ส่วนตัวผมเองผมอยากให้แบบทดสอบยากกว่านี้ และต้องทำกันจริงจัง ไม่ใช่ให้คนอื่นทำให้นะครับ เมื่อผ่าน Suitability แล้ว เราก็จะทราบว่าตัวเราเองมี Risk Preference อยู่ในระดับใดของสิ่งที่เราเรียกว่า Risk Spectrum หากทำอย่างจริงใจจริงจัง เราก็จะบริหารจัดการความโลภและความกลัวไปได้อย่างเป็นระบบ 


ผมขอขยับลงมาให้แคบอีกสักเล็กน้อยนะครับ เพราะมาถึงตอนสำคัญว่าจะไปลงทุนอะไรดี ปัจจุบันทางเลือกในการออมมีความหลากหลายมากกว่าสมัยก่อนมากชนิดที่เรียกว่าหากคุณ”หาย”ไป จากตลาดการเงินเมืองไทยสัก 20 ปี เมื่อท่านกลับมาใหม่ท่านจะไม่นึกเลยว่านี่เคยเป็นที่ที่ท่านเคยอยู่เคยทำงานหรือเคยลงทุน ทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำ Suitability Test ให้รู้ว่าตัวเราเองนั้น “อยู่ตรงไหน” ของ Risk Spectrum หากเราจะไม่พูดถึงการฝากเงินแบบทั่วไป ซึ่งหมายรวมถึงการซื้อสลากออมสินหรือสลากของ ธกส.ด้วยแล้ว การลงทุนโดยตรงในตลาดหุ้นหรือการลงทุนโดยการซื้อกองทุนผ่านบรรดา บลจ. ต่าง ๆ ก็เป็นที่นิยมในยุคปัจจุบัน ผมเคยได้เรียนท่านผู้อ่านถึงความเสี่ยงในการซื้อกองทุนไว้แล้ว จะไม่กล่าวถึงในที่นี้อีก เพียงแต่จะมองมุมมองทางด้าน “Buy side” คือเป็นนักลงทุนหรือจะเรียกว่านักออมก็คงจะได้นะครับ

ลักษณะของกองทุนที่มี”ขาย” อยู่ในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ 1.)กองทุนหุ้น (Equity Fund) 2.)กองทุนตลาดเงิน(Money Market Fund) และ 3.)กองทุนตราสารหนี้ (Bond Fund) ทั้งสามลักษณะก็เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปแล้วนะครับ เมื่อพิจารณาความเสี่ยง 3 ด้าน ที่เราได้กล่าวถึงไปเมื่อตอนต้นแล้ว Equity Fund ก็น่าจะมีความเสี่ยงทางด้านตลาด(Market Risk) สูงที่สุด โดยมี Bond Fund ตามมา ส่วนความเสี่ยงทางด้าน Credit นั้น กองทุน Bond Fund และกองทุนตลาดเงินน่าจะมีความเสี่ยงด้านนี้สูงกว่า Equity Fund อย่างไรก็ตามการซื้อกองทุนที่ว่าจะเป็นในลักษณะไหนนั้น ความเสี่ยงทางด้าน Market Risk ก็เป็นความเสี่ยงที่เป็นที่รู้มากกว่าและเคย”โดน” กันมาโดยตลอดมีความคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดี กองทุน Bond Fund ของบ้านเรานั้น หากเป็นตราสารหนี้ภาครัฐก็น่าจะอุ่นใจกว่าตราสารหนี้ภาคเอกชนนะครับ ตราบใดก็ตามตลาดรองของตลาดตราสารหนี้ยังพัฒนาได้ช้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความสลับซับซ้อนจะเกิดขึ้นได้อีกสำหรับพวก”แก่กล้า” คือรับ Risk ได้มาก ก็จะมีการใส่”ท่ายาก”เข้าไปในบรรดากองทุนต่าง ๆ เช่นไปลงทุนในต่างประเทศ(ทำให้มีอีก “Risk” หนึ่งต้องจัดการคือ FX Risk) หรือ “ใส่”อนุพันธ์ทางการเงินเข้าไปในกองทุนเพื่อ”enhance” ผลตอบแทนให้สูงขึ้น ทั้งนี้ผมมีกฎอยู่ข้อหนึ่งในการลงทุนเป็นกฎส่วนตัวนะครับ ไอ้พวกใส่อนุพันธ์เข้าไปนั้นผมไม่ค่อยสนใจ เพราะผมเชื่อว่าไม่มีของฟรีในโลกหรอกครับ

สุดท้ายผมคิดว่าเดือนนี้น่าจะเป็นบทความที่บอกทางท่านได้พอควร หากมัน”ง่าย”เกินไปสำหรับบางท่าน ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ และทั้งหมดเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญานด้วยครับ