ตลาดหุ้น สปป.ลาว : 4 ปี กับ 4 หุ้น

ตลาดหุ้น สปป.ลาว : 4 ปี กับ 4 หุ้น

นักลงทุนไทย เริ่มมองหาโอกาส เมื่อโลกขยับเปิดรั้วเศรษฐกิจ จากเดิมที่ค้าขายกันได้ ตอนนี้เริ่มคุยกันถึงเรื่องการเข้าไปซื้อหุ้นในละแวกเพื่อนบ้าน

จากเดิมอาจมีเพียงบางกลุ่มที่ติดปลายนวมจากการเข้าไปค้าขาย พอมีจังหวะก็มีของแถม แวะตลาดหุ้นซะหน่อย แต่ตอนนี้นักลงทุนแสวงหาโอกาสทางการลงทุนเช่นเดียวกับที่พวกเขาลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั่นแหละ


สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จึงเปิดสถาบันวิทยาการผู้ลงทุนไทย ด้วยหลักสูตรนักลงทุนผู้ทรงคุณวุฒิให้พวกเขามาเล่า มาแชร์ประสบการณ์ให้เพื่อนๆ อันเป็นมุมที่น่าสนใจมาก และเมื่อจบหลักสูตรไปแล้ว ก็ยังมีกิจกรรม Networking ต่อ เจอกัน ทานข้าวกัน ไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน รวมทั้ง มีทริปเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน ในละแวก AEC นี้อีกด้วย


ทริปแรกเมื่อปลายปี 2557 สมาคมฯ พาคณะนักลงทุนของสถาบันฯ เดินทางไปเยี่ยมชม ตลาดหุ้นมาเลเซีย และบริษัทจดทะเบียนของที่นั่นอีกหลายแห่ง


มาปีนี้ ทริปแรกของปี 2558 เล็งการลงทุนไปที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีบรรยากาศสบาย ผู้คนน่ารัก ดูว่าชีวิตจะช้าลงไปบ้างอย่างมีความสุข คือ การไปเยี่ยมชมตลาดหุ้นที่ สปป.ลาว เมื่อต้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา


กระแสทุนนิยมที่กระจายโรยตัวไปทั่วโลก ทำให้ สปป.ลาว เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เตรียมการรองรับ ด้านตลาดเงิน ตลาดทุน จนสามารถเปิดตลาดหุ้นได้สำเร็จ เมื่อ 4 ปีก่อน โดยมีตลาดหุ้นไทยเป็นทั้งที่ปรึกษา เป็นทั้งพี่เลี้ยง นับเป็นความภาคภูมิใจของทั้งสองประเทศ


สองปีแรกของการเปิดตลาดหุ้น สปป.ลาว มีสินค้าเพียงสองบริษัทจดทะเบียน คือ หุ้น BCEL เป็นแบงก์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาล และ หุ้น EDL ย่อมาจาก คำว่า Electric De Lao เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ รัฐบาลถือหุ้นใหญ่ เช่นกัน


ในปีถัดๆ มา จึงมีหุ้น Lao World เข้ามาเพิ่มเติม บริษัทนี้มีเอกชนชาวไทยเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย จากนั้นมีหุ้นน้องใหม่ล่าสุด คือ Petro Trade เจ้าของปั๊มน้ำมันที่ขายทั้งน้ำมันและมีร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ใช้สีเหลืองคาดน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ มองเด่นแต่ไกลเชียว ทำให้ดิฉันคิดถึง คุณชัยฤทธิ์ สิมะโรจน์ CEO หนุ่มของค่าย SUSCO หากพวกเขาได้มีโอกาสพบกัน น่าจะเกิดมิติใหม่ได้บ้างล่ะ


ทั้ง 4 แห่งนี้ พวกเราโชคดีที่ได้เข้าพบ CEO ของทุกแห่ง มีการเล่าเรื่อง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน อย่างใกล้ชิด สนุก คล่องปาก เพราะไม่ต้องมีล่าม


เราเดินทางไปเยี่ยมชมถึงสันเขื่อนน้ำงึม สปป.ลาว มีภูมิประเทศที่เป็นแอ่งลึก สันเขากว้าง ในบริเวณตอนกลางของประเทศ ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี คือ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก นครเวียงจันทน์ ที่อยู่ทางตอนใต้ของสันเขา น้ำท่วมนานถึง 3 เดือน เป็นประจำทุกปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่น้อย การวางแผนป้องกันในระยะยาวจึงเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน จนเกิดเขื่อนน้ำงึม ผลิตไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ เพราะเขามีประชากรทั้งประเทศเพียง 6 ล้านคน จึงต่อสายส่งไฟฟ้ามาขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยด้วย ว่ากันว่า มีน้ำงึม สามารถสร้างเขื่อนได้มากถึง 5 เขื่อน ขณะนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 2 แห่ง กำลังก่อสร้าง 1 แห่งและกำลังศึกษาอยู่อีก 2 แห่ง เรื่องนี้จึงเป็นที่มาของฉายา “Battery of Asia”


EDL คือ บริษัท ที่ผลิต-ขายไฟฟ้า พลังงานน้ำ จากเขื่อนน้ำงึม นี่แหละ CFO ของเขาให้ข้อมูลว่าสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดการเงินของไทย เมื่อราวปลายปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จมาก เป็นพันธบัตรที่ขายพรึ่บเดียวเกลี้ยง พวกเขาระดมทุนได้ไปราวเงินบาท ได้ไป 6,500 ล้านบาท


BCEL เป็นแบงก์ที่ใหญ่ที่สุด CEO นายแบงก์ของค่ายนี้มาพร้อมกับทีมงาน เล่าว่า เงินฝากเป็นตื้อล้านกีบ หมายถึงล้านล้านกีบ ส่วน NPL มีบ้างเป็นธรรมชาติราวร้อยละ 4


Lao World เป็นศูนย์การแสดงสินค้าให้เช่า คล้ายเมืองทองธานี หรือไบเทค ช่วงจังหวะที่คณะของพวกเราไปเยี่ยมชมนั้นพบว่า ทางกรมส่งเสริมการส่งออกของไทยเพิ่งจะไปจัดแสดงสินค้าไทย แบบนี้น่าจะขายดี


Petro Trade บริษัทนี้น่าสนใจ ตรงที่ว่าผู้บริหารเป็นคนหนุ่ม หัวทันสมัย วัย 39 เขาเป็นเขยของตระกูล “วงศ์สวรรค์กรุ๊ป” เป็นเจ้าของที่ดินประเภทแลนด์ลอร์ด และอีกหลายกิจการ โดยวางแผนว่าจะทยอยนำบริษัทในเครืออีกหลายแห่งเข้าตลาดหุ้นของ สปป.ลาว อีก ในเร็วๆ นี้ จึงกลายเป็นบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวที่สร้างสีสันให้ตลาดหุ้น คึกคัก ด้วยวอลุ่มเทรดที่มากที่สุดในแต่ละวัน เขาเล่าอย่างภาคภูมิใจว่าเมื่อเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้น เขาได้เงินไปลงทุนมากถึง 1,000 ล้านบาท (บาท จริงๆ ไม่ใช่กีบ) ในไม่ช้า ปั๊มน้ำมันของเขาจะกระจายตัวเปิดให้บริการในทุกเมืองของ สปป.ลาว


ที่ตลาดหุ้น สปป.ลาว อาจยังไม่คึกคักนัก ท่านวันคำ วรวง CEO ของ ตลาดหุ้น สปป.ลาว ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อราว 3-4 เดือนก่อน ท่านเป็นนายแบงก์ ที่ BCEL มาก่อน เล่าให้พวกเราฟัง ว่า “ตลาดหุ้นของประเทศข้าพเจ้า มีฤกษ์เปิดทำการเมื่อวันที่ 11 เดือน 11 ปี 2011 ยังมีหุ้นน้อยตัว จึงค่อยๆ พัฒนา เปิดซื้อขายวันละ 3 ชั่วโมง คือ 08.30-11.30 น. วันไหนมีซื้อขายวันละแสนหุ้น ก็ดีใจกันแล้ว และก็ต้องขอขอบคุณ ตลาดหุ้นไทย ที่ช่วยให้คำแนะนำเสมอมา เราจะพยายามหาหุ้นมาเพิ่มขึ้น”


ส่วนโบรกเกอร์ที่นี่ก็เช่นกัน เป็นความร่วมมือจากโบรกเกอร์ไทย ตอนนี้ KTZIMICO เข้าไปทำธุรกิจตั้งแต่ก่อนตลาดหุ้นเปิด จึงกลายเป็นเบอร์หนึ่ง โดยมีการส่งผู้บริหารคนไทยเข้าไปประจำการแบบมืออาชีพและมีเจ้าหน้าที่ชาวลาวคนหนุ่มสาวทำงานอย่างคล่องแคล่ว พวกเขาเข้าใจตลาดหุ้นได้เป็นอย่างดี ที่น่าสนุก ลุ้นเล็กๆ และเปิดโอกาสให้ตัวเองไว้ คราวเมื่อมีโอกาสมาถึง สมาชิกในคณะของพวกเขาตัดสินใจทันทีที่จะเปิดบัญชีซื้อขายไว้ที่ตลาดหุ้น สปป.ลาว ด้วยเงินเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อใช้เป็นฐานในการโอนชำระซื้อ-ขาย เป็นเงิน 200 บาท และค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ 40 บาท ราคาหุ้นที่แพงที่สุด คือ EDL ตัวละ 8,500 กีบ หรือราว 34 บาท ซื้อไปคราวละ 1 หุ้นขึ้นไป


นอกจากนี้ในทริปนี้ พวกเรายังมีโอกาสไปเยี่ยมชม พบปะ ซีอีโอ ของบริษัท ลาว เทเลคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหลานของ บมจ.ไทยคม ตอนนี้แซงคู่แข่ง ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดการสื่อสารใน สปป.ลาว ไปแล้ว


ที่พลาดไม่ได้ คือ การไปเยี่ยมชม โรงงานผลิตเบียร์ “เบียร์ลาว” คอนเซปต์การตลาดของการขายเบียร์ เป็นเส้นทางเดียวกับ ทั้งค่ายช้างและสิงห์บ้านเราเป๊ะ….


การลงทุนในตลาดหุ้น สปป.ลาว มีเงินปันผล เป็นผลตอบแทน ส่วนต่างของราคาที่จะเล่นรอบยังไม่เกิดในขณะนี้ แต่พบว่า GDP โต จนน่าสนใจ เฉลี่ยคือ 7% ต่อปี ย่อมส่งผลไปยังภาคธุรกิจต่างๆ จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ เดินช้า ทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ความสุขของนักลงทุน อยู่ที่ปลายนิ้ว แค่นี้เอง