‘ทัศนคติ’ ความหมาย และความสำคัญ

‘ทัศนคติ’ ความหมาย และความสำคัญ

คําว่า “ทรรศนะ” มาจากคำว่า “Views” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า “มุมมอง” ส่วน “ทัศนคติ” มาจากคำในภาษาอังกฤษ คือ “Attitude”

ปัจจุบันผู้คนทั่วไปจะสับสนกับสองคำนี้ จะใช้ปนเปกันไปหมด โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา ดังนั้น ผู้ใช้จึงควรทำการศึกษาให้ดีโดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษา เหล่าบรรดาครูผู้สอนภาษาไทยทั้งหลาย ทีนี้เราลองมาดูรายละเอียดของคำสองนี้ว่าแต่ละคำมีความหมายอย่างไร


คำแรก “ทรรศนะ” (Views) นั้นหมายถึงความคิดเห็น ซึ่งเป็นความคิดเห็นในระดับผิวเผิน หรืออาจจะเรียกอีกอย่างว่ามุมมอง ซึ่งก็มีคำหลายๆ คำที่สามารถบ่งบอกว่าข้อความนั้นๆ เป็น ทรรศนะ เช่น คำว่า น่าจะ คงจะ อาจจะหรือควรจะ เมื่อมันเป็นความคิดเห็นโดยผิวเผิน ดังนั้น ทรรศนะจึงยังไม่สามารถจะนำมาอ้างอิงได้เนื่องจากว่าทรรศนะมันยังไม่ใช่ความจริงมันคือความคิดของคนแต่คนซึ่งแตกต่างกันไป โดยทั่วๆ ไปแล้ว เราอาจจะแบ่งทรรศนะเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ (1) ทรรศนะที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่เกี่ยวกับความจริงที่เกิดขึ้นและยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าอันไหนจริงอันไหนไม่จริง เหมือนการสันนิษฐาน หรือการคาดคะเนนั่นเอง เช่น เวลาที่เราพบนักศึกษาที่ขยัน เราอาจจะบอกว่า “ดูแล้วเขาน่าจะต้องสอบได้คะแนนดีแน่ๆ” ซึ่งการพูดแบบนี้ก็คือการแสดงทรรศนะ เป็นการคาดคะเน และ (2) ทรรศนะที่เกี่ยวกับนโยบาย ซึ่งจะเป็นการออกความเห็นเพื่อ เสนอแนะ ตักเตือน แนะนำเช่น เราอาจจะพูดว่า “เขาน่าจะออกกำลังกายให้มากกว่านี้จะได้ดูดี” (3) ทรรศนะเชิงคุณค่า ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อประเมินว่าสิ่งใดดี สิ่งใดด้อย


ส่วนคำว่า “ทัศนคติ” (Atiitude) นั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นในลักษณะ สั้นๆ ง่าย อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นเมื่อถูกถามเกี่ยวกับเรื่องใด เรื่องหนึ่ง แตกต่างจากทรรศนะ ก็ตรงที่ ทรรศนะจะเป็นการแสดงความคิดเห็นแบบข้อความที่เป็นประโยคออกมา หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เมื่อมีคนแสดงทรรศนะมาสู่เรา เราก็จะเป็นผู้แสดงทัศนคติออกไปเพื่อสนับสนุน หรือไม่สนับสนุน เช่น เมื่อมีคนแสดงทรรศนะมาว่า “เราคาดว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้” แล้วถามเราว่าเห็นด้วยหรือไม่ นั่นแหละคือเขากำลังต้องการให้เราแสดงทัศนคติออกมา ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย


เมื่อดูจากที่อธิบายมาข้างต้นจะพบว่า การแสดงทัศนคติ มันเป็นการแสดงความคิดเห็นแบบสั้นๆ ง่ายๆ แค่นั้นเอง แต่ในความง่ายตรงนี้ในโลกวิชาการกลับอธิบายไว้ค่อนข้างซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ในพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับ “ทัศนคติ” ไว้ว่า “ทัศนคติ” เป็นคำสมาส ระหว่างคำว่า ทัศนะ ซึ่งแปลว่าความเห็น กับคติ ซึ่งแปลว่า แบบอย่างหรือลักษณะ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วแปลว่าลักษณะของความเห็นทัศนคติจึงหมายถึง ความรู้สึกส่วนตัวที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคล และยังมีนักวิชาการบางคนให้ความหมายทัศนคติเป็นระดับความมากน้อยของความรู้สึกในด้านบวกและลบที่มีต่อสิ่งหนึ่งซึ่งอาจเป็นอะไรได้หลายอย่างเป็นต้นว่า สิ่งของ บุคคล บทความ องค์การ ความคิด ฯลฯ ความรู้สึกสามารถบอกความแตกต่างว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย


ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ทัศนคติเป็นความรู้สึกทั้งในทางบวกและในทางลบ เป็นภาวะทางจิตใจของการเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้และถูกปรับตัวให้เข้ากับองค์การ โดยประสบการณ์ที่ใช้อิทธิพลที่มีลักษณะเฉพาะต่อการตอบสนองของบุคคลไปสู่บุคคล สิ่งของและสถานการณ์ของแต่ละบุคคล ทัศนคติมีลักษณะที่เป็นนามธรรมและเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการ แสดงออกทางด้านปฏิบัติแต่ไม่ใช่แรงจูงใจและแรงขับ หากเป็นสภาพแห่งความพร้อมที่จะโต้ตอบและแสดงให้ทราบถึงแนวทางการตอบสนองของบุคคล ทัศนคติจึงนับได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมและมีผลต่อแบบของพฤติกรรมที่แสดงออกมา


จากนิยามที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่า ทัศนคติ คือ ระดับของความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวข้องกับภาวะทางจิตใจของบุคคลที่มีต่อตนเอง ต่อบุคคลอื่น และต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นผลมาจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ และเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมหรือแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งอยู่ในรูปแบบของการสนับสนุนหรือคัดค้านก็ได้ แต่อย่างไรก็ ตามทัศนคติของคนเรานั้นมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการศึกษา สิ่งแวดล้อม และการคมนาคมติดต่อมียังผลให้ทัศนคติของคนเปลี่ยนแปลงไปได้เป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะบุคคลมีโอกาสสังสรรค์และแลกเปลี่ยน ตลอดจนเลียนแบบความคิดเห็นกันได้มากวัฒนธรรมมีการผสมผสานกันมากเท่าใดก็ยิ่งจะทำให้ทัศนคติของคนเปลี่ยนแปลงไปได้มากเท่านั้น ดังนั้น คนที่ขาดการติดต่อกับบุคคลอื่น ดำรงชีวิตอยู่ตามลำพัง ทัศนคติจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่คนที่โลดแล่นไปตามสังคมอย่างกว้างขวาง เข้ากลุ่มเข้าพวกหรือเป็นสมาชิกของสมาคมมากแห่ง ทัศนคติจะเปลี่ยนแปลงได้มาก เพราะคบค้าสมาคมติดต่อ สังสรรค์ โอกาสที่จะมีการถ่ายทอดหรือเลียนแบบความคิดเห็นนั้นเป็นไปได้ง่าย


เมื่อทัศนคติของบุคคลสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงทำให้นักสื่อสารการตลาด และบรรดานักการเมืองทั้งหลายพยายามที่จะใช้ช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่มากมายสื่อไปถึงบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลหรือเพื่อให้เกิดทัศนคติในทางที่สนับสนุนสินค้า หรือในทางเห็นด้วยกับนโยบายพรรคการเมืองนั้นๆ ดังนั้น ทัศนคติของบุคคลอาจจะถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย หากขาดการคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และเมื่อทัศนคติถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยง่ายจากการเปิดรับสื่อหรือข้อมูลข่าวสารที่ขาดการไตร่ตรอง ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ดังนั้น คนเราจำเป็นต้องดูแลรักษาทัศนคติกันให้ดีๆ ว่าจะใช้มันอย่างไร