ประเมินผลงานของโมดีครบรอบ 1 ปี

ประเมินผลงานของโมดีครบรอบ 1 ปี

วันที่ 26 พ.ค. 2558 ศกนี้ ก็จะครบ 1 ปี ที่นายโมดีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดีย นิตยสาร ชั้นนำชื่อ India Today

ก็เลยทำการประเมินความรู้สึกของประชาชนต่อรัฐบาลนายโมดี (Mood of the Nation Poll) โดยการสัมภาษณ์คนจากหลากหลายอาชีพจำนวน 12,161 คน ใน 19 รัฐที่สำคัญๆ ของอินเดียในช่วงเดือน มี.ค. 2558 โดยสอบถามความรู้สึกในปัจจุบันเทียบกับในช่วง ส.ค. 2557 ปรากฏว่า นายโมดียังคงสอบผ่าน แต่กระแสความนิยมก็ลดลงไปบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ขึ้นมารับตำแหน่งใหม่ๆ


เราลองมาดูผลงานของโมดี ทั้งที่สอบผ่านและยังต้องปรับปรุงในด้านต่างๆ กัน ดังนี้


ประเด็นที่สอบผ่าน


สิ่งแรกที่ชาวอินเดียให้คะแนนนิยมต่อนายโมดีคือ การที่นายโมดีสามารถยกระดับอินเดียให้เป็นที่ยอมรับในประชาคมโลกได้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็โยงไปถึงความสำเร็จในนโยบายต่างประเทศของโมดี ที่ทำให้สหรัฐฯ ยกเลิกข้อห้ามเดิมที่ไม่ให้นายโมดีเดินทางเข้าสหรัฐฯ และต่อมาประธานาธิบดีโอบามาก็มาเยือนอินเดียอย่างสมเกียรติเมื่อต้นปีนี้ พร้อมๆ กับการที่นายโมดีได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประเทศต่างๆ ที่ไปเยือน รวมทั้งจากชุมชนอินเดียโพ้นทะเลที่นายโมดีได้กล่าวชักชวนให้กลับมาร่วมกันพัฒนาแผ่นดินแม่อินเดีย ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกที่ดีต่ออินเดีย


ประการที่สองคือ การที่นายโมดีริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ที่จะพัฒนาอินเดียให้ก้าวหน้าขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาผลิตสินค้าในอินเดีย (Make in India) การรณรงค์รักษาความสะอาดอินเดีย (Clean India) การทำโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) จำนวน 100 เมือง การผลักดันโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคให้เร็วขึ้น หรือการสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมกลาโหมมากขึ้น ซึ่งทำให้มีความหวังว่าจะสามารถสร้างงานเพื่อรองรับประชากรที่อยู่ในวัยทำงานที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 64 ของประชากรทั้งหมดในอีก 5 ปีข้างหน้า


ประเด็นที่สามคือ กลไกภาคราชการมีความกระตือรือร้นมากขึ้น ข้าราชการมาทำงานกันตรงเวลามากขึ้น มีการตรวจสอบว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เอาเวลาราชการไปเล่นกอล์ฟหรือไม่ ทั้งนี้ ร้อยละ 43 ของผู้ถูกสัมภาษณ์ทั้งหมดเห็นว่าภาคราชการมีการปรับปรุงดีขึ้น และร้อยละ 55 บอกว่า ตั้งแต่มีรัฐบาลของนายโมดีก็หยุดจ่ายเงินค่าน้ำชาใต้โต๊ะให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น


ประเด็นที่ยังสอบไม่ผ่าน


ประเด็นหลักก็คือ การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนที่ยังไม่เห็นผลงานชัดเจน แต่ก็ดูเหมือนว่านายโมดีจะโชคดีที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจภายนอกเอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ลดลงจาก 108 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเดือน พ.ค. 2557 มาเป็น 55.42 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2558 หรือราคาอาหารที่ยังปรับตัวสูงไม่มาก โดยอัตราเงินเฟ้อลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 8.25 เมื่อเดือน มี.ค. 2557 มาเป็นร้อยละ 5.37 ในปัจจุบัน ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นของอินเดีย (BSE SENSEX) ก็ปรับตัวสูงขึ้นจาก 24,122 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2557 มาเป็น 27,337 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2558 คนส่วนใหญ่จึงยังพออดทนกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ถึงกับแย่ในขณะนี้


ส่วนประเด็นที่ยังมีความกังวลก็คือ การสนับสนุนความเป็นฮินดูมากจนเกินไป โดยคนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลนายโมดีและพรรค BJP ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลขององค์กร Rashtriya Swayamsevak Sangh (RSS) ซึ่งแปลว่า National Volunteer Organization อันเป็นองค์กรรากหญ้าที่มุ่งมั่นสร้างให้อินเดียเป็นสังคมของคนฮินดู ทำให้ประชากรศาสนาอื่นเกิดความกังวลใจ โดยตัวนายโมดีเองก็เคยมีภาพลักษณ์ว่าเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ประท้วงชาวมุสลิมกว่า 790 คนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งมุขมนตรีรัฐคุชราตเมื่อปี 2545 และในช่วงที่ผ่านมาก็มักมีข่าวการชักจูงให้ประชากรศาสนาอื่นเปลี่ยนมานับถือศาสนาฮินดู และการก่อกวนทำลายโบสถ์ของคริสต์ศาสนาในบางท้องที่


ประเด็นที่ยังต้องรอดูต่อไป


ประเด็นหลักก็คือ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของพรรค BJP ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีกรณีทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาล แต่พรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างพรรคคองเกรสก็จ้องหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมานายโมดีใช้สโลแกนเรื่อง Minimum Government Maximum Governance ซึ่งก็ได้แสดงให้เห็นว่าในช่วง 1 ปีมีการปรับ ครม. เพียงครั้งเดียว และจำนวน รมต. ทั้งคณะก็มีเพียง 66 คน ทั้งๆ ที่ตามรัฐธรรมนูญสามารถตั้งได้ถึง 81 คน (ไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 543) นายโมดีจึงไม่มีการแต่งตั้ง รมต. เพื่อตอบแทนทางการเมือง


นอกจากนี้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานายโมดีก็สั่งยุบหน่วยงาน Planning Commission ซึ่งเปรียบเสมือนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย และตั้งหน่วยงาน National Institute for Transforming India (NITI Aayog) ซึ่งแทน เพื่อทำหน้าที่ประสานนโยบายเศรษฐกิจกับรัฐบาลของรัฐต่าง ๆ แทนการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่สั่งการมาจากส่วนกลาง แต่ขณะนี้บทบาทและผลงานของหน่วยงานนี้ก็ยังไม่ชัดเจน


รัฐบาลนายโมดีได้แก้กฎหมายเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ เช่น กม. ที่ดิน และกำลังเสนอระบบภาษี Goods and Services Tax (GST) ที่เป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศมาใช้ ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็น่าจะเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง


กล่าวโดยสรุป ความนิยมในตัวนายโมดียังคงอยู่ในระดับดี มีเพียงร้อยละ 25 ที่บอกว่าผลงานของนายโมดีไม่เข้าเป้า ร้อยละ 61 บอกว่าตนรู้สึกมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบภาวะผู้นำกับนายราหุล คานธี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านจากพรรคคองเกรสขณะนี้ นายโมดียังคงกินขาด แต่ก็ต้องไม่ประมาทเพราะที่ผ่านมารัฐบาลมักจะล้มด้วยความขัดแย้งภายในพรรคตัวเองมากกว่าจากพรรคฝ่ายค้าน