แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปีนี้ (1)

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปีนี้ (1)

ครึ่งแรกของปีใกล้หมดลงแล้ว ซึ่งโดยรวมต้องยอมรับว่าน่าจะเป็นครึ่งแรกที่ไม่สมหวังมากนักในเรื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย จริงอยู่ในขณะนี้เรายังไม่สามารถทราบได้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะออกมาเป็นอย่างไร ดังนั้นบางคนอาจติงได้ว่าการสรุปว่าภาวะเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดีนักอาจเป็นการมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป แต่ผมเชื่อว่ามีประเด็นดังต่อไปนี้ที่ทำให้เชื่อได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะไม่เป็นที่น่าประทับใจมากนัก


ปัจจัยภายนอก


1. แม้จะมีการคาดหวังกันว่าการเจรจาจำกัดขอบเขตการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านจะประสบความสำเร็จได้ในที่สุดภายในปลายเดือนมิ.ย.นี้ เพราะเป็นสิ่งที่ทั้งประธานาธิบดีโอบามาและผู้นำอิหร่านต้องการอย่างมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็คาดหวังกันว่าจะมีการยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้สามารถขายน้ำมันสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น แต่ผมเป็นห่วงว่ารัฐสภาของสหรัฐซึ่งพรรคริพับลิกันคุมเสียงข้างมากจะทำให้การบรรลุผลสำเร็จเป็นไปได้ยาก แม้กระทั่งการดำเนินนโยบายการคลังซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับเศรษฐกิจสหรัฐก็ยังเกิดการโต้แย้งกันจนเกิดสภาวะชะงักงันด้านนโยบายการคลังในสหรัฐจนทุกวันนี้ ดังนั้น เรื่องนโยบายต่างประเทศซึ่งจะทำให้อิหร่านขายน้ำมันได้มากขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงนั้น แม้จะเป็นประโยชน์กับโลกโดยรวมแต่จะไม่เป็นประโยชน์กับผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างมากจากการที่ราคาน้ำมันลดลงจาก 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาเป็น 50 กว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรลในขณะนี้ กล่าวโดยสรุปคือผมค่อนข้างจะเชื่อว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นมากกว่าอยู่ที่ระดับปัจจุบันในครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใดกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย


2. จริงอยู่ประเทศกลุ่มโอเปกกำลังเร่งการผลิตน้ำมันมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศหลักคือซาอุดีอาระเบียก็เพิ่มการผลิตจาก 10 ล้านบาร์เรลต่อวันมาเป็น 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ตัวเลขการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของสต็อกน้ำมันจะยืนยันว่าปัจจุบันอุปทานยังเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุปสงค์ แต่ผมมองว่าตลาดกำลังเป็นห่วงสภาวะการเมืองและความมั่นคงในตะวันออกกลาง ซึ่งมีความขัดแย้งและความไม่แน่นอนสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ประเทศซาอุดีอาระเบียตัดสินใจเป็นแกนนำโจมตีกลุ่มกบฎฮูติทางอากาศในประเทศเยเมน เพราะเผ่าฮูติซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน (เพราะเป็นชีอะเหมือนกัน) ได้สามารถล้มรัฐบาลซูนิซึ่งซาอุดีอาระเบียตั้งขึ้นมากับมือ หากดูแผนที่ภูมิภาคตะวันออกกลางจะเห็นว่าอิหร่านกำลังแพร่ขยายอิทธิพลไปยังอิรักซึ่งติดกับซาอุดีอาระเบียในส่วนบนและเยเมนนั้นก็อยู่ติดกับซาอุดีอาระเบีย (และประเทศชายฝั่งอ่าวเปอร์เซีย เช่น ยูเออีและบาเรนห์) ทางตอนใต้ ดังนั้น หากซาอุดีอาระเบียดำเนินนโยบายผิดพลาด ทำให้ความมั่นคงของประเทศได้รับผลกระทบ (เพราะยังมี ISIS คือกลุ่มซูนิหัวรุนแรงเข้ามาแทรกแซงอีกด้วย) ก็จะยิ่งทำให้เกิดความหวั่นไหวที่จะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้ต่อไปอีกด้วย


3. การปรับขึ้นของราคาน้ำมันน่าจะทำให้เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ น่าจะทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่าในที่สุดแล้วธนาคารกลางสหรัฐจะต้องเริ่มปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ตามที่หลายฝ่ายคาดและการปรับขึ้นดังกล่าวแม้หลายคนจะพูดว่าตลาดรับรู้แล้ว แต่ในความเห็นของผมนั้นการ “รับรู้” กับการปรับขึ้นจริงนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะเมื่อธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้นนั้นแปลว่าเขากำลังลดสภาพคล่องลงทั้งระบบ ซึ่งอาจทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย ตรงนี้หากอ่านบทวิเคราะห์ล่าสุดของไอเอ็มเอฟจะเห็นว่าไอเอ็มเอฟให้ความสำคัญและแสดงความเป็นห่วงค่อนข้างมาก (ดูบทที่ 1 Enhancing Policy Traction and Reducing Risks จาก IMF Global Financial Stability Report April 2015) เกี่ยวกับการยุติคิวอีและการต้องหันมาปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ กล่าวคือเมื่อผมอ่านบทวิเคราะห์ของไอเอ็มเอฟก็อดที่จะสรุปไม่ได้ว่าไอเอ็มเอฟค่อนข้างจะ “ชอบ” คิวอีอย่างออกหน้าออกตา เช่น สรุปว่า “This underscores the need for additional structural measures to repair private balance sheet, a “QE-plus” scenario, complementing monetary policy and helping boost growth and inflation”


เมื่อกล่าวถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากมาตรการคิวอีของยุโรป ทำไมผมจึงไม่เห็นด้วยกับข้อความนี้? มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างสุดกู่ (ดอกเบี้ยระยะสั้นเหลือศูนย์และเติมด้วยคิวอี) ที่ทำให้ราคาสินทรัพย์สูงและพยายามกระตุ้นเงินเฟ้อ กำลังถูกอ้างว่าช่วยในการปรับโครงสร้างของงบดุลนั้นไอเอ็มเอฟเคยบอกคนไทยว่าต้องไม่บิดเบือนให้ดอกเบี้ยต่ำผิดธรรมชาติ เพราะดอกเบี้ยต่ำคือการทำให้ต้นทุนในการเป็นหนี้ต่ำซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีแรงจูงใจให้ปรับโครงสร้างและเพื่อลดหนี้ซึ่งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาหลังจากเกิดวิกฤติซับไพร์มของสหรัฐที่ระบาดไปทั่วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หนี้สินของโลกมิได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นจนกระทั่งไอเอ็มเอฟต้องสนับสนุนการทำคิวอีโดยอ้างว่าเป็นมาตรการ “เชิงโครงสร้าง” เพื่อส่งเสริมการปรับงบดุล แต่ประเทศพัฒนาผลัดกันทำคิวอีจนใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้วหนี้ก็ยังไม่ลดลง (แต่เพิ่มขึ้น) เศรษฐกิจก็ยังไม่ค่อยฟื้นจึงทำให้หวั่นใจว่าเมื่อสหรัฐต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นก็อาจส่งผลกระทบในวงกว้างได้


ดังนั้น แม้ว่าน้ำมันจะราคาถูกลงไปครึ่งหนึ่งดอกเบี้ยทั่วโลกยังอยู่ใกล้ศูนย์และจะมีคิวอีของญี่ปุ่นและยุโรปมาทดแทนคิวอีสหรัฐ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกก็จึงยังไม่ปลอดโปร่งนัก ไอเอ็มเอฟจึงเริ่มต้นบทวิเคราะห์ว่า “Developments over the past 6 months have increased global financial stability risks” ครับ