โลกแห่งสนามรบ

โลกแห่งสนามรบ

ไม่ว่าจะมองกันอย่างไร แต่เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับลดดอกเบี้ยสวนการคาดการณ์ของตลาดนั้น

ผู้เขียนก็รู้ทันทีว่า สงครามค่าเงินโลกที่ผู้เขียนเกรงกลัวนั้นได้มาเคาะประตูบ้านแล้ว


ต้นเหตุของสงครามรอบนี้ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของยุโรป ที่มีผลสำคัญทำให้เงินยูโรที่สำคัญเป็นอันดับสองของโลกอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ผู้เขียนมองว่า QE ของยุโรปครั้งนี้จะเป็นตัวพลิกผัน (Game Changer) ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกผันผวนในระยะต่อไป โดยผู้เขียนจะขอขยายความถึงที่มา ขนาด รูปแบบ รวมถึงผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนในอนาคต


QE ครั้งนี้ เป็นผลจากเศรษฐกิจยุโรปซึมยาวเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหลังจากรอดพ้นจากวิกฤติหนี้การคลังเมื่อปี 2010-12 ที่ทำให้ประเทศแถบยุโรปใต้เกือบหลุดออกจากยูโรโซน ในครั้งนั้น รัฐบาลยุโรป (นำโดยเยอรมนี) ตกลงกันว่าประเทศยุโรปใต้จะต้องทำมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง โดยลดรายจ่ายภาครัฐผ่านการลดเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงปลดคนงานออก


การทำเช่นนั้นแม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตในยุโรปถูกลง และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว แต่หากพิจารณาในระยะสั้นย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจฝืดเคือง เงินเฟ้อติดลบ และยิ่งเมื่อรวมกับผลของราคาน้ำมันดิบโลกที่ตกต่ำลงถึงกว่า 50% ก็ยิ่งทำให้ยุโรปเผชิญกับภาวะเงินฝืดรุนแรง


ดังนั้น เพื่อให้รอดพ้นจากภาวะเงินฝืด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จึงพยายามหลายวิธีที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนติดลบที่ 0.2% (แปลว่าหากฝากเงินไว้กับ ECB จะต้องเสียดอกเบี้ย) หรือมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ (TLTRO) อย่างไรก็ดี มาตรการทั้งหลายไม่เป็นผลเท่าไรนัก จนในที่สุด ECB จำเป็นต้องออกมาตรการ QE ดังกล่าว หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ อังกฤษ และญี่ปุ่นได้ทำไว้ก่อนหน้า


โดยในทางปฏิบัติ ECB จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของ 19 ประเทศในกลุ่มยูโรโซน โดยมีวงเงินเข้าซื้อ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็นจำนวน 18 เดือน (จากมีนาคมปีนี้ถึงกันยายนปีหน้า) วงเงินรวม 1.1 ล้านล้านยูโร โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายที่ 2.0% ต่อปี ซึ่งหากไม่ถึงเป้าหมายตามที่ ECB ได้คาดการณ์ไว้ อาจขยายการเข้าซื้อพันธบัตรต่อไปอย่างไม่มีกำหนด


ในการเข้าซื้อครั้งนี้ ECB จำกัดตัวเองไว้ว่าจะไม่ซื้อพันธบัตรที่มีอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าระดับ -0.2% นอกจากนั้น หากปริมาณตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลกลางและสถาบันการเงินที่ ECB กำหนดมีไม่เพียงพอ ECB สามารถเข้าซื้อตราสารหนี้อื่นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายวงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนได้


ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลสำคัญต่อตลาดเงินตลาดทุนโลกอย่างมหาศาล เนื่องจากในปัจจุบัน พันธบัตรในยุโรปหลายช่วงอายุให้ผลตอบแทนต่ำกว่า -0.2% (โดยเฉพาะพันธบัตรเยอรมนีที่นักลงทุนเห็นว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย) ทำให้ ECB จำเป็นต้องเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศอื่น ๆ ในยุโรป และน่าจะมีผลทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรประเทศเหล่านั้นลดต่ำลงจนเข้าใกล้ -0.2% ในระยะต่อไป (ตามหลักการแล้ว ยิ่งผลตอบแทนพันธบัตรเป็นลบ ยิ่งแปลว่าพันธบัตรนั้น ๆ ราคาแพง)


ขณะเดียวกับที่ ECB เข้าซื้อพันธบัตรเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์) ญี่ปุ่นก็ได้ทำ QE เดือนละประมาณ 8 ล้านล้านเยน (9.6 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งทั้งสองปัจจัยย่อมส่งผลให้พันธบัตรของญี่ปุ่นและยุโรปแพงขึ้นมาก ส่งผลให้กองทุนที่เคยต้องเข้าซื้อพันธบัตรของยุโรปและญี่ปุ่นต้องหันกลับไปซื้อพันธบัตรของประเทศอื่น ๆ แทน เช่น ของสหรัฐ และของประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย รวมทั้งไทยด้วย ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นจากความกังวลเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องปรับลดลงอีกครั้ง


หากพิจารณาในมุมมองของประเทศไทยแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้มีกระแสเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยเช่นกัน ส่งผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรไทยลดลง และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งหาก ธปท. ไม่รีบลดดอกเบี้ยตัดหน้าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้


ทั้งนี้ สำหรับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ผู้เขียนเห็นว่าในระยะต่อไป เงินยูโรเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเราจะเห็นเงินยูโรมีค่าเท่ากับดอลลาร์สหรัฐในไม่ช้า (ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.05 ดอลลาร์ต่อหนึ่งยูโร) และในอีกทางหนึ่ง สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้เงินเยนต่อยูโรแข็งค่าขึ้น ดังนั้น ย่อมเป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้เราอาจเห็นญี่ปุ่นเพิ่มการอัดฉีด QE ในระยะต่อไป


สำหรับผลต่อตลาดทุนนั้น เป็นไปได้ที่จะเห็นตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป เพราะการอัดฉีดจะเป็นผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับตัวเลขภาคการผลิตหลายตัวของยุโรปที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ตลาดมีมุมมองแง่บวกต่อหุ้นในยุโรป เห็นได้จากผลตอบแทนของตลาดหุ้นยุโรปที่ขึ้นถึงกว่า 15-20% นับจากต้นปี ชนะผลตอบแทนในตลาดอื่น ๆ


อย่างไรก็ดี สำหรับทางเศรษฐกิจนั้น มาตรการ QE ของยุโรปครั้งนี้ไม่น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แม้อาจทำให้การส่งออกของยุโรปดีขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นจากตลาดเงินตลาดทุนที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ในส่วนของเงินเฟ้อนั้น ผู้เขียนคาดว่ายุโรปยังเผชิญกับภาวะเงินฝืดต่อเนื่อง เนื่องจากองค์ประกอบสำคัญของเงินเฟ้อมาจากราคาน้ำมัน ดังนั้น ในปีนี้คงจะยากที่จะเห็นเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเป็นบวก ขณะที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงจากปีที่แล้วกว่า 50%


แต่สิ่งที่ผู้เขียนกังวลมากที่สุด คือผลต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนโลกในระยะต่อไป โดย ณ ปัจจุบันมีธนาคารกลางกว่า 20 ธนาคารที่ทำนโยบายการเงินผ่อนคลาย ไม่ว่าจะลดดอกเบี้ยและ/หรือแทรกแซงให้ค่าเงินตนอ่อนค่าลง การทำเช่นนี้เรียกว่า Competitive Devaluation หรือการแข่งกันลดค่าเงินเพื่อให้การส่งออกดีขึ้น แต่หากทุกประเทศทำพร้อมกันย่อมไม่ส่งผลดี เพราะย่อมทำให้ประเทศหนึ่งได้ประโยชน์ แต่ประเทศที่เงินแข็งค่าย่อมเสียประโยชน์ และอาจตอบโต้ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อให้เงินอ่อนค่าด้วยเช่นกัน ซึ่งผลจากกระบวนการดังกล่าวย่อมส่งผลให้สภาพคล่องล้นโลกและเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติได้ในที่สุด


สงครามได้มาเคาะประตูบ้านแล้ว นักลงทุนที่ยังหลงระเริงในกระแสเงินทุนทั้งหลาย จงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด


---------------
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่