"หนี้ครัวเรือน" ภัยคุกคามธุรกิจ SME

"หนี้ครัวเรือน" ภัยคุกคามธุรกิจ SME

ในรอบเดือนที่ผ่านมาคงได้ยินคำว่ "หนี้ครัวเรือน" กันบ่อยครั้ง ผมจึงอยากให้ SME ได้ทำความเข้าใจกับคำๆ นี้ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของท่าน

จากคำสัมภาษณ์ของ นายดาเรน บัคลีย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ที่ระบุว่า ปัญาหนี้ครัวเรือนของไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในรอบ 7 ปี ที่ผ่านมา จากระดับ 55.6% ในปี 2551 เป็น 85% ต่อ GDP หรือประมาณ 12 ล้านล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งถือเป็นขั้นวิกฤตที่กระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค และที่สำคัญในระยะ 2-3 ปี ข้างหน้า ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 89% หากยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็มีโอกาสทะลุระดับ 100% ได้

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า หากนับรวมหนี้นอกระบบเชื่อว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยน่าจะอยู่ในระดับที่เกิน 100% ซึ่งถือเป็นระดับ ล้มละลายของหนี้ครัวเรือน และจะทำให้เกิดการล้มละลายในภาคประชาชนกลายเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต อยากให้ท่านผู้ประกอบการได้เข้าใจกับคำว่า หนี้ครัวเรือนแบบง่ายๆ หนี้ครัวเรือน คือ หนี้ของบุคคลที่ได้จากการกู้ยืมเงินจากการซื้อบ้าน รถยนต์ การใช้จ่าย

อุปโภค บริโภค จากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จากองค์กรธุรกิจสินเชื่อบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือที่เรียกกันว่า Non Bank จากสหกรณ์ออมทรัพย์ เมื่อนำหนี้ครัวเรือนไปเปรียบเทียบกับ GDP หรือรายได้ของประชาชาติ ถ้าต่ำกว่า 50% ก็ถือว่า ต่ำ ถ้าสูงกว่า 80% ก็เป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องระมัดระวัง

จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยที่สูงเกินกว่า 85% ปัจุจุบันนับว่า อยู่ในระดับที่อันตราย หากมองในภาพรวมเศรษฐกิจไทย ผลจากหนี้ครัวเรือนที่สูงดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ เศรษฐกิจซบเซาหดตัวเป็นเวลานาน ระดับการบริโภคภาคครัวเรือนลดลงมากและยาวนานมากกว่าปกติ ในแง่ของสถาบันการเงินจะมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น เพราะกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ ที่จะทำให้ NPL เพิ่มสูงขึ้น ในขณะนี้ NPL ในกลุ่มสินเชื่อบุคคล ได้เพิ่มจาก 2.7% ในปี 2554 เป็น 4.7%ในปี 2557 และมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอด และอาจส่งผลเครดิตเรตติ้งของธนาคารเหมือนที่เกิดในประเทศมาเลเซีย ที่มีหนี้ต่อครัวเรือนสูง 88% จนถูก S&P ปรับลดเครดิตเรตติ้งลง

สำหรับท่านผู้ประกอบการ SME ภัยคุกคามที่จะต้องเผชิญอย่างแน่นอน คือ รายได้จากการประกอบการที่ลดน้อยลง จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ถดถอย ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว จากคำให้สัมภาษณ์ของ นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล ที่กล่าวว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัว สินค้าที่เจาะกลุ่มคนรากหญ้าทำตลาดค่อนข้างลำบาก ยอดขายยังไม่กระเตื้อง สอดคล้องกับการเปิดเผยของกลุ่มธุรกิจต่างจังหวัด ที่ยืนยันว่ากำลังซื้อภูมิภาคลดลง 20-30 %

มองเห็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ท่านผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมวางแผนในการดำเนินธุรกิจให้รอบคอบ สิ่งที่สำคัญที่สุดในยามนี้ คือ สภาพคล่อง กำเงินสดไว้ในมือปลอดภัยที่สุด รายจ่ายที่ไม่จำเป็นต้องระงับไว้ก่อน ลดต้นทุนในการประกอบการ ปรับโครงสร้างทางการเงินให้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ เจรจากับคู่ค้าขอปรับเลื่อนเทอมเครดิดให้เหมะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และหากมีปัญหาในการชำระหนี้กับสถาบันการเงิน ให้รีบไปติดต่อขอคำแนะนำ

ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ผมเชื่อวาเราจะเผชิญภัยคุกคามนี้ได้

ขอเป็นกำลังใจให้ท่านผู้ประกอบการ SME ทุกท่าน สามารถฟันฟ่าภัยคุกคามจากปัญหาเศรษฐกิจซบเซาไปได้ อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพด้วยนะครับ