ลูกสาวของอินเดีย : สิทธิสตรีที่ยังถูกปิดกั้น

ลูกสาวของอินเดีย : สิทธิสตรีที่ยังถูกปิดกั้น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีข่าวใดได้รับความสนใจเท่ากับการที่รัฐบาลอินเดียสั่งห้ามออกอากาศรายการสารคดีที่มีชื่อว่า “ลูกสาวของอินเดีย

ซึ่งผลิตโดยสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษที่ตั้งใจจะออกอากาศในโอกาสวันสตรีสากล (International Women Day) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2558 ซึ่งเรื่องดังกล่าวกล่าวถึงเหตุการณ์ข่มขืนและฆ่านักศึกษาสาวอย่างทารุณในกรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2555 อันนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในอินเดียเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองความปลอดภัยแก่สตรี


นางเลสลี อัดวิน (Leslee Udwin) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการสารคดีดังกล่าวได้กล่าวว่า เธอตั้งใจที่จะนำเสนออินเดียในฐานะประเทศที่กำลังลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่สตรี ภายหลังจากเหตุการณ์ข่มขืนและฆ่าอย่างทารุณเมื่อเดือน ธ.ค. 2555 แต่ในบางส่วนของสารคดีก็มีการนำบทสัมภาษณ์ผู้ต้องหาคนหนึ่งที่แก้ตัวว่า ผู้หญิงที่ดีก็ไม่ควรจะออกไปเที่ยวนอกบ้านในยามวิกาล และหากถูกข่มขืนก็ควรจะยอม ไม่ควรขัดขืนเพราะจะถูกทำร้ายอีก เปรียบเสมือนว่าเหตุการณ์ข่มขืนที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งไม่ใช่ความผิดของผู้ชายฝ่ายเดียว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ใน 2 ด้าน ทั้งฝ่ายที่ยังมองว่าผู้หญิงก็มีส่วนเปิดโอกาสให้เกิดการข่มขืน และฝ่ายที่เห็นว่าคำสัมภาษณ์ดังกล่าวจากผู้กระทำผิดเปรียบเสมือนการไม่รู้สำนึกและย่ำยีศักดิ์ศรีของสตรีขึ้นไปอีก


หากท่านผู้อ่านยังจำได้ เหตุการณ์ข่มขืนและฆ่าอย่างทารุณนี้เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 16 ธ.ค. 2555 ในระหว่างที่นักศึกษาด้านกายภาพบำบัด (Physioterapist) สตรีอายุ 23 ปีกลับจากไปดูภาพยนตร์กับแฟนหนุ่ม ระหว่างเดินทางกลับบ้านได้ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 5 คนและคนขับรถเมล์เถื่อนที่วิ่งรับผู้โดยสารในกรุงนิวเดลีหลอกลวงให้ทั้งคู่ขึ้นบนรถประจำทางก่อนที่แฟนหนุ่มจะถูกปล้นทรัพย์และหญิงสาวถูกรุมข่มขืนบนรถเมล์และโดนเหล็กแหลมแทงที่ท้องอย่างทารุณ หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ถูกถีบลงจากรถเมล์ ฝ่ายหญิงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วยอาการสาหัสต้องนอนพักรักษาเป็นเวลา 10 วัน และเมื่อเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้น ทางการอินเดียก็ตัดสินใจส่งตัวไปรับการรักษาต่อที่สิงคโปร์เป็นเวลา 2 วันแต่ก็เสียชีวิตในที่สุดและนำศพกลับมาที่กรุงนิวเดลีในวันที่ 29 ธ.ค. 2556


แม้จะเกิดเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกรุงนิวเดลีเองก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความรู้สึกของประชาชน ยังคงดำเนินการเสมือนเป็นคดีธรรมดา มิหนำซ้ำยังขอให้พ่อแม่ผู้ตายยอมความกับผู้กระทำผิดจนกระทั่งประชาชนชาวกรุงนิวเดลีจำนวนมากโดยเฉพาะสตรีทนไม่ไหว ออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งปลดผู้บัญชาการตำรวจกรุงนิวเดลีและดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว พร้อมทั้งให้มีการเพิ่มโทษและจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อเร่งรัดคดีข่มขืน แต่ดูเหมือนว่ามาตรการคุ้มครองความปลอดภัยแก่สตรีก็มิได้มีมากขึ้น ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกจับตัวได้หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเกือบเดือน หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกฝากขังในเรือนจำกลางกรุงนิวเดลีเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุภายในเวลา 3 เดือนหลังถูกควบคุมตัว (แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำอ้างว่าผูกคอตายเอง) อีก 4 รายถูกส่งขึ้นสู่ศาลชั้นต้นซึ่งตัดสินเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2556 ให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ (ซึ่งอาจมาจากแรงกดดันของสังคมต่อคณะผู้พิพากษา) ต่อมาศาลสูงของเดลีก็พิพากษายืนให้ประหารชีวิต ส่วนเยาวชนอีก 1 รายถูกส่งตัวไปปรับทัศนคติในทัณฑสถานสำหรับผู้เยาว์เป็นเวลา 3 ปี


หลังจากที่มีการเผยแพร่บางตอนของรายงานสารคดีดังกล่าวก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ใน 2 ด้าน นางอัดวิน ผู้ผลิตรายการก็กล่าวอ้างว่าได้นำเสนอบางตอนของสารคดีดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าต่อญาติของผู้เสียชีวิตที่ยังชื่นชมพร้อมน้ำตาว่าเป็นการนำเสนอภาพที่สะท้อนถึงการย่ำยีสิทธิสตรีและสมควรให้ออกอากาศเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกคนตระหนักในเรื่องการเคารพสิทธิสตรีเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลอินเดียก็มองว่าการออกอากาศสารคดีดังกล่าวเป็นการประจานประเทศอินเดียว่ายังเป็นประเทศที่ไม่มีความปลอดภัยต่อสตรีและกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ซึ่งนำมาสู่การตัดสินใจสั่งห้ามออกอากาศในที่สุด


นอกจากนี้ก็ยังมีทนายความของฝ่ายจำเลย 2 คน ก็ถูกสภาทนายความของอินเดีย (Bar Council of India) คุกคามโดยตั้งคณะกรรมการสอบสวนในฐานะมีส่วนร่วมให้ผู้ต้องหาให้สัมภาษณ์แก่ผู้ผลิตรายการของ BBC ซึ่งอาจนำไปสู่การถอนใบอนุญาตหมดโอกาสประกอบวิชาชีพทนายความต่อไป แต่ทนายจำเลยก็ยังโต้ว่าพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อลูกความของตนต่อไป


แม้เหตุการณ์สะเทือนขวัญจะผ่านไปกว่า 2 ปีแล้ว และทุกฝ่ายต่างทราบถึงกระแสเรียกร้องของสังคมเรื่องความปลอดภัยของสตรี แต่ก็มิได้ทำให้คดีข่มขืนหรืออนาจารสตรีในกรุงนิวเดลีลดลง รายงานของตำรวจกรุงนิวเดลีในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 มีการแจ้งความคดีที่เกี่ยวกับการข่มขืนเด็กและสตรีกว่า 300 ราย (เฉลี่ยวันละ 5 ราย) ในขณะที่ตลอดทั้งปี 2557 มีจำนวนคดีข่มขืน 2,069 ราย ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคดีข่มขืนก็ยังดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำอะไรได้มากด้วยจำนวนประชากรที่มากมายและปัญหาสังคมที่ตามมา ประกอบกับขนบธรรมเนียมประเพณีที่ผู้หญิงยังคงถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิด้อยกว่าชาย จึงทำให้พลังขับเคลื่อนของสังคมในเรื่องนี้ค่อย ๆ อ่อนแรงไปเองในที่สุด


ในที่สุดสถานีโทรทัศน์ BBC ก็เดินหน้าออกอากาศรายการ “ลูกสาวของอินเดีย (India’s Daughter)” ที่ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2558 แต่สถานีโทรทัศน์ช่อง NDTV ของอินเดียที่เดิมตั้งใจจะออกอากาศในวันเดียวกันเวลา 21.00 น. เป็นเวลา 1 ชม. แต่เมื่อถูกสั่งห้ามโดยรัฐบาลก็เลยประชดด้วยการออกอากาศเป็นรูปตะเกียงจุดไฟสว่างและมีภาพเบื้องหลังเป็นจอดำเพื่อที่จะสอนรัฐบาลอินเดียว่าไม่ควรจะปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชนโดยแสงประทีปก็เปรียบเสมือนความรู้ที่ส่องสว่างเอาชนะความมืดหรืออวิชา


สำหรับลูกสาวชาวอินเดีย วันสตรีสากลปีนี้จึงดูเหมือนเป็นอีก 1 วันที่ผ่านไปโดยไม่มีความคืบหน้าอะไรในเรื่องการเรียกร้องสิทธิสตรีและความปลอดภัย เพราะแม้แต่สิทธิในการรับรู้ข่าวสารเรื่องนี้ก็ยังถูกจำกัดโดยรัฐบาล